1 ต.ค. 2564 728 1

NIA จัดเสวนา พันธมิตรนวัตกรรมไทย…สู้วิกฤตโลก

NIA จัดเสวนา พันธมิตรนวัตกรรมไทย…สู้วิกฤตโลก

รวมพลังเครือข่ายแลกเปลี่ยนไอเดีย เพื่อเดินหน้า “พลิกฟื้นประเทศ...ด้วยนวัตกรรมไทย” 

เป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น ชาติแห่งนวัตกรรม และขึ้นเป็น 1 ใน 30 ประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลกภายในปี 2573 จะสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดพลังระดับประเทศที่จะเดินไปสู่จุดหมาย


นี่จึงเป็นที่มาของ “เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย” (Innovation Thailand Alliance) ภายใต้แพลตฟอร์ม นวัตกรรมประเทศไทย (Innovation Thailand) ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในการรวมพลังเครือข่ายนวัตกรรมไทยจากหน่วยงานชั้นนำของประเทศจากทุกภาคส่วน ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และสมาคมธุรกิจ กว่า 73 องค์กร เข้าร่วมกันเดินหน้า “พลิกฟื้นประเทศ...ด้วยนวัตกรรมไทย” เพื่อให้คนไทยและชาวต่างชาติรับรู้และเชื่อมั่นนวัตกรรมฝีมือคนไทย ที่จะสร้างให้เกิดภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านนวัตกรรม และเปลี่ยนประเทศไปสู่ประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมได้

เครือข่ายนวัตกรรมฯ จึงได้จัดการเสวนาในหัวข้อ “พันธมิตรนวัตกรรมไทย…สู้วิกฤตโลก” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านนวัตกรรมที่จะนำนวัตกรรมไทยจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันพลิกฟื้นประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมเสวนา ทั้ง NIA ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้


ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า “จากการเรียนรู้ตัวอย่างในหลายประเทศที่อยู่อันดับต้น ๆ ด้านความสามารถทางนวัตกรรมของโลกพบว่า ประเทศที่อยู่ในอันดับต้นของดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index; GII) นั้น มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ ประการแรก ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ดูแลด้านนวัตกรรม (Chief Innovation Officer) ในภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย ที่สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจจากการมองต่างมุมกัน และมีการเชื่อมโยงข้อมูลกันในรูปแบบที่เข้าถึงได้ ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะไปสู่เป้าหมายติด 1 ใน 30 ประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก จึงจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และสมาคมธุรกิจ ประการที่สอง ประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมจะมีอัตลักษณ์ชัดเจน ซึ่งประเทศไทยเองก็มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะ นวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตที่ประณีต หรือ Innovation for Crafted Living”

“ถ้าต้องการให้คนทั่วโลกเห็น แบรนด์นวัตกรรมของประเทศไทย การสื่อสารในระดับนานาชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยคนที่มีความรู้ความสามารถ คนที่ทำธุรกิจด้านการลงทุนต้องสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ และสร้างความรู้จักซึ่งกันและกัน ปรับวิธีคิดจากต่างคนต่างคิดต่างทำ กลายเป็นมุมมองในรูปแบบพาร์ตเนอร์ คำว่า พันธมิตร จึงหมายถึงการพูดคุย การสื่อสาร และสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งยังมีจุดสำคัญทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่ควรมีการกระจายในจุดสำคัญของประเทศ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กลางหรือฮับทางด้านนวัตกรรมประมาณสองถึงสามเมือง เพื่อง่ายต่อทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เมื่อทุกอย่างลงตัวก็จะเกิดโอกาสทางนวัตกรรม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เป็นสตาร์ทตอัป สร้างนวัตกรรมได้ เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ” 

ในส่วนผู้แทนภาคเอกชน ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อนวัตกรรมว่า “นวัตกรรมมีความสำคัญ ซึ่งนวัตกรรมในประเทศยังกระจุกตัวอยู่ในบางอุตสาหกรรม เช่น Logistic, Ad Tech, Insure Tech, Financial Tech แต่ในเรียลเซ็กเตอร์ เช่น BioTech, HealthTech, Agri Tech, FoodTech ยังมีไม่มาก แพลตฟอร์มในระดับประเทศที่คนไทยสร้างขึ้นมาและประสบความสำเร็จยังมีอยู่น้อย จะดีมากถ้าการพัฒนาและการลงทุนมีการกระจายตัว และร่วมกันสนับสนุน ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยมีการสนับสนุนด้านนวัตกรรมทั้งภายในองค์กร รวมถึงธุรกิจสตาร์ตอัป และลูกค้าที่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง อย่างโครงการ KATALYST ซึ่งเป็นโครงการให้ความรู้ อีกทั้งยังอยู่ในอินโนเวชันคลับ ซึ่งต้องทำงานร่วมกับภาครัฐในการผลักดันกลไกหลาย ๆ อย่างที่เอื้อต่อการทำนวัตกรรมมากขึ้น”

“อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเพียงลำพังอาจจะไม่เพียงพอ ต้องร่วมมือกันทั้ง Ecosystem ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และอีกหลาย ๆ หน่วยงานที่มาร่วมเครือข่ายก็จะช่วยให้นวัตกรรมของไทยสเกลมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในประเทศแต่จะขยายออกไปสู่ภูมิภาคได้ด้วย ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็พร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูล หรือแหล่งเงินทุน พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนไปกับภาครัฐ ซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งในการเป็น    ผู้เร่งปฏิกิริยาทำให้เกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่าปกติ เป็นผู้กระตุ้นบอกให้รู้ว่าวันนี้ต้องทำให้ดีกว่าเมื่อวาน และเป็นผู้อำนวยความสะดวกที่จะทำให้ความพยายามในการสร้างนวัตกรรมเกิดขึ้นได้ไม่ยากเกินไป นวัตกรรมต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา เราต้องร่วมมือกันทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้น เป็นนวัตกรรมที่มีความหมายต่อชีวิตของคน และตอบโจทย์ธุรกิจมากยิ่งขึ้น” 

ส่วนมุมมองจากผู้แทนภาคสถาบันการศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้สะท้อนให้เห็นว่า “ในปี 2564 เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของนวัตกรรมในประเทศไทย หลังจากเกิดวิกฤตโควิดทั่วโลก พบว่าเครื่องมือแพทย์ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ภาควิชาวิศวกรรม          ชีวการแพทย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สร้างเครื่องช่วยหายใจฉุกเฉินขนาดเล็ก เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส แต่โอกาสที่มานั้นขึ้นอยู่กับจังหวะในการคว้าไว้ หรือหากคว้ามาได้แล้ว จะมีความกล้าหาญในการสร้างความแตกต่างได้หรือไม่ เปรียบเทียบกับการสร้างเครือข่ายพันธมิตรนวัตกรรมที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานชั้นนำจากทุกภาคส่วน พันธมิตรเครือข่ายต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ประการที่หนึ่งจึงต้องช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง ประการที่สองโอกาสอยู่กับเราไม่นาน เมื่อโอกาสมาแล้ว ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น”

“เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยสองปัจจัย ปัจจัยแรกต้องโฟกัส ทำอย่างมุ่งมั่น เจาะประเด็น ลงลึก ส่วนปัจจัยที่สอง คือ ต้องมีคอมมิตเมนต์ การตั้งเป้าหมายให้กับการทำงาน เมื่อคนพร้อม หัวใจพร้อม มีโฟกัสและคอมมิตเมนต์ ก็เท่ากับซัคเซส ทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จ”

ปิดท้ายการเสวนาด้วยพันธมิตรจากหน่วยงานภาครัฐ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า “นวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยอาจจะมีความแตกต่างกันไปไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ สิ่งสำคัญคือ การทำให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจในระดับที่ทัดเทียมกัน ประเด็นถัดมา เป็นเรื่องของการตอบโจทย์ทางธุรกิจและขับเคลื่อนได้ในเชิงของเศรษฐกิจ ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภค ถ้าสามารถยกระดับนวัตกรรมให้เข้าถึงมาตรฐานได้ ก็จะเป็นโอกาสที่จะตอบโจทย์ทางธุรกิจ นอกจากนี้ ต้องสร้างความตระหนักและเกิดการยอมรับนวัตกรรมไทย ซึ่งโจทย์ของธุรกิจด้านนวัตกรรม นอกจากภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภคสินค้าแล้ว ภาครัฐก็เป็นกลไกสำคัญในการอุดหนุนและส่งเสริม รวมถึงการลงทุนในเรื่องของคน จากการดึงจุดแข็งของแต่ละส่วนออกมาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม” 


“ในฐานะหน่วยงานของรัฐ สสว. พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติภารกิจเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรประเทศไทยไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งการที่จะทำให้ภารกิจสำเร็จได้ต้องโฟกัสในส่วนที่ทำได้ตามศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน แล้วนำมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความกินดีอยู่ดี รวมถึงอนาคตสามารถขยายกลุ่มไปแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งคนไทยทุกคนในฐานะผู้บริโภค ได้ร่วมกันสร้างโอกาสในการเสริมความเข้มแข็ง ทำให้เกิดนวัตกรรมในทุกอุตสาหกรรม และในทุกกิจการของผู้ประกอบการไทย”

ผู้สนใจดูนวัตกรรมไทยที่น่าภาคภูมิใจได้ที่ www.innovationthailand.org หรือ FB : Innovation.THA และสามารถดูข้อมูลความรู้ การให้บริการนวัตกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างและใช้ประโยชน์นวัตกรรมอย่างแพร่หลาย ได้ที่ data.nia.or.th