1 ต.ค. 2564 768 0

พลังบทสนทนาบนทวิตเตอร์: แชร์ข้อมูล รู้ทัน รับมือช่วงภัยพิบัติ

พลังบทสนทนาบนทวิตเตอร์: แชร์ข้อมูล รู้ทัน รับมือช่วงภัยพิบัติ

ทวิตเตอร์มีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่องในการให้ข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพ ผ่านการสนทนาแบบเรียลไทม์ ท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนั้นมีส่วนทำให้เกิดสถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลก และยิ่งผลักดันให้เกิดปรากฏการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ มากขึ้นอีกด้วย อาทิ การเกิดน้ำท่วมใหญ่ ไฟป่า และพายุไต้ฝุ่น ในขณะที่สภาพอากาศเลวร้ายทั่วโลก พบว่าผู้คนต่างหันมาใช้ทวิตเตอร์ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเหล่านี้ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งนี้การสนทนาแบบเรียลไทม์ซึ่งขับเคลื่อนโดยข้อมูลเชิงลึกทางสังคมและการวิเคราะห์เหล่านี้เอง สามารถใช้เป็นการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่นั้นๆ ได้ทันที รวมถึง สามารถช่วยบรรเทาทุกข์ และประเมินสถานการณ์ภาคพื้นดินได้อีกด้วย

ทวิตเตอร์ช่วยให้บริษัท องค์กรต่างๆ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงข้อมูลของทวิตเตอร์ผ่านแพลตฟอร์มเอพีไอ หรือ Application Programming Interface (APIs)  ที่จะช่วยให้สามารถสร้างแอปพลิเคชั่นและเครื่องมือสำหรับผู้บริโภค ในการดึงข้อมูลเชิงลึกจากทวิตเตอร์มาใช้ได้ ตัวอย่างของเหตุการณ์หลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วมกรุงจาการ์ตาในอินโดนีเซีย เหตุการณ์ไฟป่ารุนแรงในออสเตรเลีย และพายุไต้ฝุ่นฮากิบิสที่ถล่มญี่ปุ่น ทวิตเตอร์ได้ร่วมมือกับ พีตา เบนคานา (Peta Bencana) และ แบรนด์วอทช์ (Brandwatch) ซึ่งเป็น พันธมิตรอย่างเป็นทางการของทวิตเตอร์ เพื่อช่วยให้ชุมชนในท้องถิ่นที่ประสบภัยได้เข้าใจแนวโน้มของภัยที่กำลังประสบจากข้อมูลการทวีตสนทนามากยิ่งขึ้น นอกจากการใช้บริการเหล่านี้เพื่อแบ่งปันทรัพยากร ระดมทุน และชุมนุมกันแล้ว การทวีตยังสร้างข้อมูลทางสังคมมากมายที่สามารถนำมาใช้เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤตในวงกว้างมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ที่กำหนดนโยบายสามารถตอบสนองต่อความต้องการเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินทางสภาพอากาศในอนาคตได้ด้วย

ด้วยความร่วมมือกับ ครีเอทีฟสตูดิโอ Design I/O ทำให้ทวิตเตอร์สามารถเปิดตัวหน้าเว็บแบบอินเตอร์แอคทีฟ เพื่อสำรวจว่าการสนทนาต่างๆ บน Twitter ได้พัฒนาเชื่อมโยงกันอย่างไรในช่วงที่เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายในแต่ละครั้ง โดยสามารถสรุปช่วงเวลาสำคัญต่างๆ ได้ดังนี้:

ก่อนเกิดสภาวะภัยพิบัติ: ก่อนที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ผู้คนได้ทวีตเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาสังเกตเห็นในธรรมชาติ เช่น ระดับน้ำที่สูงขึ้น หรืออากาศที่แห้งและอุณหภูมิที่ร้อนสูงขึ้นผิดปกติ ผู้คนยังได้ทวีตเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมของตนต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น การเตรียมบ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียงหากเกิดไฟไหม้ หรือการสร้างปราการป้องกันน้ำท่วมหรือพายุเฮอริเคนสำหรับปกป้องโครงสร้างที่สำคัญต่างๆ      

ช่วงระหว่างเกิดเหตุการณ์: เมื่อเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้คน จึงเริ่มมีการแจ้งเตือนมากขึ้นบนทวิตเตอร์ โดยการสนทนาบนทวิตเตอร์จะถึงขั้นขีดสุด เมื่อผู้คนทวีตเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขากำลังประสบในแบบเรียลไทม์      

หลังจากเกิดเหตุการณ์: ในเวลานี้ การสนทนาบนทวิตเตอร์ เริ่มเปลี่ยนไปเป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น การบริจาคสิ่งของ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหรือความช่วยเหลือทางการแพทย์ และเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบในบริเวณนั้นๆ

บทสนทนาที่ร้อนแรงขึ้น

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภูมิอากาศของสหประชาชาติ ได้สรุปในรายงานฉบับหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและสภาพอากาศสุดขั้วในหลายภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงการเพิ่มขึ้นของความถี่ และความรุนแรงของอากาศร้อนสุดขั้ว คลื่นความร้อนจากทะเล และปริมาณน้ำฝนที่สูงขึ้นมาก

ทั้งนี้ ขอบเขตของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วนั้นได้สะท้อนออกมาในการสนทนาสาธารณะบนทวิตเตอร์เช่นกัน โดยตัวอย่างทวีตภาษาอังกฤษระหว่างปี 2013-2020 มีการระบุคำว่า “climate change” (หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ที่เพิ่มจำนวนขึ้นโดยเฉลี่ย 50% ในแต่ละปี


ทวีตเหล่านี้พิสูจน์ถึงความทรงพลังและมีอิทธิพลอย่างมาก เนื่องจากนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมต่างใช้ทวิตเตอร์ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงใช้เพื่อจัดระเบียบชุมชนของพวกเขา และเชื่อมต่อความ กระตือรือร้นในการปกป้องโลกระหว่างผู้ที่คิดเห็นเหมือนกัน

เอมี่ อูเดลสัน หัวหน้าฝ่ายการตลาดสำหรับแพลตฟอร์มนักพัฒนาของทวิตเตอร์ เปิดเผยว่า “เหล่านักพัฒนาโปรแกรมได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเราอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการช่วยเหลือผู้คนในยามวิกฤตระหว่างที่เกิดภัยธรรมชาติ ซึ่งภาพของ #ExtremeWeather แสดงให้เห็นสิ่งที่สามารถทำได้ เมื่อนักพัฒนาโปรแกรมและชุมชนพันธมิตรของเราใช้ประโยชน์จาก API และนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ไปใช้เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน ซึ่งเราหวังให้งานเหล่านี้จะช่วยจุดประกายหัวข้อการสนทนา เพิ่มการรับรู้ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีความกระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบรรเทาภัยพิบัติได้อย่างต่อเนื่อง”

ด้วยการใช้ข้อมูลปริมาณมหาศาลเกี่ยวกับบทสนทนาสาธารณะบนทวิตเตอร์นั้น ทำให้นักพัฒนาโปรแกรมมีโอกาสที่จะสร้างโซลูชัน เพื่อช่วยชุมชนท้องถิ่นในช่วงที่เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศภัยพิบัติอันคาดไม่ถึง หรือแม้แต่เพื่อการศึกษาความรู้สึกของสาธารณชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยปราศจากอคติของมนุษย์

การร่วมกันรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่อ่อนไหวที่สุดต่อผลกระทบร้ายแรงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นทวิตเตอร์จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งผ่านข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ได้งานได้ทันทีในช่วงที่เกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่สามารถใช้ประโยชน์ต่อไปได้ด้วยการสนับสนุนและพันธสัญญาจากเหล่านักพัฒนาที่มุ่งมั่นสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

แคทเธอรีน รีน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายสาธารณะ และการให้เพื่อสังคม ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของทวิตเตอร์ กล่าวว่า “บริการแบบเปิดเพื่อสาธารณะที่เป็นเอกลักษณ์ของทวิตเตอร์ ถูกใช้โดยผู้คนจำนวนมากทั่วโลกเพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูลในยามวิกฤต เราตระหนักถึงความรับผิดชอบของเราในการมอบความมั่นใจว่าผู้คนสามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเรายังได้ทำงานเพื่อขยายข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากแหล่งสื่อต่างๆ ที่เชื่อถือได้ ซึ่งรวมถึงหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนองค์กรบรรเทาสาธารณภัยและอาสาสมัครต่างๆ  เราได้เห็นแล้วว่าข้อมูลของทวิตเตอร์สามารถนำไปใช้ประโยชน์แบบเรียลไทม์ได้อย่างไร เพื่อมอบความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่ผู้คนในพื้นที่ประสบภัย เพิ่มการรับรู้และความเข้าใจในวงกว้างเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตนั้นๆ และที่ผ่านมาทวิตเตอร์ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเสริมแกร่งให้กับผู้คนจำนวนมากขึ้นในการมีบทบาทอย่างแข็งขันในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของสังคมไปพร้อมๆ กันกับพันธมิตรทั้งหลายของเรา”

กรณีศึกษา: น้ำท่วมใหญ่ในกรุงจาการ์ตา โดย พีตา เบนคานา (Peta Bencana)

ในเดือนมกราคม 2563 ปริมาณน้ำฝนที่ทำลายสถิติวัดได้ ได้ท่วมกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยเหตุเกิดจากการมีน้ำมากเกินกว่าที่โครงสร้างพื้นฐานของเมืองจะสามารถรองรับได้ ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองหลวง ทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายสิบรายและมีผู้พลัดถิ่นฐานหลายพันราย ขณะที่น้ำเพิ่มระดับขึ้นจนปิดการจราจรบนถนน ปิดสนามบินแห่งหนึ่งของเมือง และต้องมีการตัดไฟฟ้า ผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองหลายล้านคนไม่หยุดค้นหาและแบ่งปันข้อมูลล่าสุดบนทวิตเตอร์ โดยในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2563 นั้น มีทวีตข้อความเกี่ยวกับน้ำท่วมเฉพาะในกรุงจาการ์ตามากกว่า 20,000 ครั้ง

เพื่อให้ทวีตสาธารณะจากแหล่งคนหมู่มากได้ส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น บริษัท พีตา เบนคานา ได้พัฒนา "บอทเพื่อมนุษยธรรม" หรือ “humanitarian bot” บนทวิตเตอร์ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์แบบโอเพ่นซอร์สที่เรียกว่า CogniCity โดยบอทนี้จะคอยจับทวีตไปสู่แอคเคาท์ @PetaBecana ด้วยการจับคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมและภัยพิบัติต่างๆ (เช่นคำว่า “บันจีร์” ซึ่งแปลว่าน้ำท่วมในภาษาบาฮาซาของอินโดนีเซีย) จากผู้คนทั่วอินโดนีเซีย และทวีตตอบกลับอัตโนมัติด้วยข้อความแนะนำวิธีการแบ่งปันข้อสังเกตของตน และใช้ข้อมูลเหล่านี้เองในการสร้างแผนที่น้ำท่วมขึ้นได้

แผนที่น้ำท่วมที่จัดทำขึ้นโดย พีตา เบนคานา มีคนให้ความสนใจเข้าถึงมากกว่า 259,000 ครั้งในช่วงที่สถานการณ์น้ำท่วมเลวร้ายสูงสุด ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 24,000% ภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ ผู้อยู่อาศัยได้ตรวจสอบแผนที่ เพื่อทำความเข้าใจต่อสถานการณ์น้ำท่วม สามารถหลีกเลี่ยงพื้นที่น้ำท่วม และตัดสินใจเกี่ยวกับความปลอดภัยและการรับมือต่อสถานการณ์ที่กำลังประสบอยู่

สำนักงานจัดการเหตุฉุกเฉินของจาการ์ตา (หรือ BPBD DKI Jakarta) ยังได้คอยตรวจสอบแผนที่ เพื่อช่วยเหลือตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย และประสานงานรับมือเข้าช่วยเหลือตามความรุนแรงและความต้องการฉุกเฉินตามที่ได้รับรายงาน เมื่อน้ำลดและมีความช่วยเหลือที่เข้าถึงได้แล้ว สำนักงานฯ ยังได้อัปเดตข้อมูลล่าสุดอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับย่านต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

สามารถอ่านกรณีศึกษาฉบับเต็มได้ ที่นี่

กรณีศึกษา: ไฟป่าในออสเตรเลียโดย แบรนด์วอทช์ (Brandwatch)

ก่อนการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสทั่วโลกในปี 2563 นั้น หลายชีวิตในออสเตรเลียได้เผชิญกับอันตรายร้ายแรงมาแล้ว โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ถึงมีนาคม 2563 ไฟป่าในออสเตรเลียได้ลุกลามเผาไหม้พื้นที่ 13.6 ล้านเอเคอร์ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ และได้ทำลายล้างสัตว์ป่าและระบบนิเวศวิทยาของภูมิภาค (NYT, 2020)

แบรนด์วอทช์ ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของทวิตเตอร์ได้วิเคราะห์บทสนทนาบนทวิตเตอร์ในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ซึ่งมีผู้คนกว่า 2.8 ล้านคนทั่วโลกมีส่วนร่วมในบทสนทนานี้และมีเกือบ 10 ล้านทวีตสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับไฟป่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 - มีนาคม 2563

ผู้คนบนทวิตเตอร์ได้เชื่อมต่อถึงกันอย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมีการระดมทุนต่างๆ เกิดขึ้น เช่น การประมูล #AuthorsForFireys และการเคลื่อนไหวในแคมเปญ "Find a Bed" เพื่อค้นหาที่พักฉุกเฉินสำหรับผู้ที่พลัดถิ่นจากไฟป่า ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากเริ่มโครงการ Find A Bed ทำให้มีรายชื่อที่พัก เพิ่มขึ้น 7,000 แห่ง และรองรับให้ความช่วยเหลือผู้คนได้กว่า 100 คน ซึ่งรวมถึงกรณีคุณยายวัย 104 ปี ที่ต้องสูญเสียบ้านของเธอไปในกองเพลิงด้วย

สามารถอ่านกรณีศึกษาฉบับเต็มได้ ที่นี่

กรณีศึกษา: พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส

ในปี 2562 ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส ซึ่งทำให้เกิดปริมาณน้ำฝนสูง ถึง 3 ฟุตภายใน 24 ชั่วโมงในบางภูมิภาคของประเทศ มีการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และมีผู้เสียชีวิต 74 ราย (อ้างอิงจาก NHK, 2019) ฝนที่ตกอย่างหนักจากพายุไต้ฝุ่นทำให้แม่น้ำมากกว่า 20 สายในญี่ปุ่นเอ่อล้นอย่างรวดเร็ว และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ถูกเร่งให้ต้องอพยพโดยด่วนออกจากบ้านของตนเองเพื่อหนีขึ้นที่สูง

พันธมิตรของทวิตเตอร์ได้ทำการวิเคราะห์เพื่อตรวจหาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟฟ้าดับ และภัยพิบัติอื่นๆ โดยมีสำนักข่าว JX Press ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักช่วยแจ้งเตือนภัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการรายงานข่าวที่รวดเร็วกว่าการรายงานข่าวโดยปกติเฉลี่ย 20 ถึง 45 นาที ทั้งนี้ ด้วยการเข้าถึงข้อมูลของทวิตเตอร์ทำให้รัฐบาลสามารถรับฟังและประกาศข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในช่วงที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่ประชาชนได้รับไปพร้อมกัน

สามารถอ่านกรณีศึกษาฉบับเต็มได้ ที่นี่