12 เม.ย. 2564 1,530 2

ไทยเดินหน้าต่อเนื่องปลดล็อก Analog สู่ Digital หลังแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทย พ.ศ. 2563 – 2565 ผ่านมติ ครม. รองนายกฯ ชง 4 ประเด็นสำคัญ

ไทยเดินหน้าต่อเนื่องปลดล็อก Analog สู่ Digital หลังแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทย พ.ศ. 2563 – 2565 ผ่านมติ ครม. รองนายกฯ ชง 4 ประเด็นสำคัญ

ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน การประชุมชี้แจงแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 (Digital Government Development Plan) เร่งเดินหน้าหลังแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาผลักดัน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1. บูรณาการการทำงาน เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันโดยใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง เพื่อผลักดันให้การขับเคลื่อนแผนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2. เร่งยกระดับทักษะดิจิทัลบุคลากรให้พร้อมสำหรับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงข้อมูลสำคัญของประเทศ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อการทำงานในเชิงรุก และรองรับวิถีชีวิตใหม่ (New normal) ในยุคหลังโควิด-19 3. เน้นพัฒนาบริการออนไลน์แก่ประชาชน โดยให้ครอบคลุมประชาชนที่อาจยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาทักษะดิจิทัล (Digital Literacy) ให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และ 4. ให้คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและเคารพความเป็นส่วนตัวของข้อมูลประชาชนในการนำไปใช้


หากมองไปอนาคตข้างหน้า การจะปลดล็อกประเทศจาก Analog สู่ Digital นั้น การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยจำเป็นต้องอ้างอิงกับระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย เพื่อยกระดับให้การบริหารงานและการให้บริการในรูปแบบออนไลน์สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อระหว่างประเทศ และเพื่อให้เกิดภาพการขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกันในระดับภูมิภาค ดังเช่นแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 (ASEAN Digital Masterplan 2025 : ADM2025) การเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ความปลอดภัย (Safety) และความยั่งยืน (Sustainability) ที่เป็นวาระแห่งชาติ


ด้าน อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความสำคัญของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฉบับนี้ว่า เป็นแนวทางการขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้รับบริการที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนปรับตัวสู่ยุค New Normal ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ เสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจ ส่งเสริมความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 เร่งปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการปรับเปลี่ยนบริการภาครัฐที่สำคัญเป็นรูปแบบดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จ (End-to-End Digital Services) จัดทำศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก และสามารถติดต่อราชการได้จากจุดเดียว ยุทธศาสตร์ที่ 2 อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยให้ภาคธุรกิจได้รับความสะดวกในการติดต่อขออนุมัติ อนุญาต หรือธุรกรรมต่างๆ จากภาครัฐ และคาดหวังให้ภาครัฐมีส่วนในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ผลักดันให้เกิดธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ในทุกกระบวนการทำงานของรัฐ โดยภาครัฐมีกลไก การเปิดเผย แลกเปลี่ยน และบริหารจัดการข้อมูลดิจิทัล (Digitization) ตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ และให้มีการเชื่อมโยงระบบบริการจัดการงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ รวมถึงจัดให้มีศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐสำหรับเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐในช่องทางดิจิทัล และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายและให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาประเทศผ่านระบบดิจิทัล โดยได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการขับเคลื่อน 6 กลุ่ม คือ การศึกษา สุขภาพและการแพทย์ การเกษตร ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน การมีส่วนร่วม โปร่งใส และตรวจสอบได้ของประชาชน และ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสำคัญในการนำภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล คือ 1. ลดความเหลื่อมล้ำ  2. สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 3. โปร่งใสตรวจสอบได้ และ 4. สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนโฉมการทำงานภาครัฐ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง


** สามารถรับชมการประชุมชี้แจงแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. 2563 - 2565 ได้ที่ : https://www.facebook.com/DGAThailand/videos/1098681353934990