22 ต.ค. 2563 1,268 0

เริ่มแล้ว! ดีแทคจับมือ ปตท. ชู 5G คลื่น mmWave ลุยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมครั้งแรกในไทย

เริ่มแล้ว! ดีแทคจับมือ ปตท. ชู 5G คลื่น mmWave ลุยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมครั้งแรกในไทย
  • ผุด 5G คลื่น 26 GHz ตอบโจทย์ใช้งานกล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ
  • พร้อมลุย 5G ต่อยอดเพิ่มบริการใหม่สู่พื้นที่ EECi


การทดสอบการถ่ายทอดจากกล้องอัจฉริยะ 5G พร้อมทั้งทดสอบการควบคุมจากระยะไกลในการถ่ายทอดภาพเคลื่อนไหวและไฟล์เสียงแบบเรียลไทม์

ดีแทคจับมือ ปตท. นำ 5G IoT บนคลื่น 26 GHz  หรือ Millimeter wave (mmWave) สู่การพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อ EECi ประเดิม use case กล้องตรวจการณ์ (surveillance cameras) รับยุคความปกติใหม่ (new normal) ผู้บริหารสามารถควบคุมระยะไกลประสิทธิภาพสูงจากทุกพื้นที่ทั่วโลก แต่สามารถติดตามเรียลไทม์เสมือนนั่งควบคุมที่ EECi จ.ระยอง เผย ปตท. มั่นใจการใช้ 5G และดิจิทัลเพื่อการทำงานทุกที่ พร้อมเดินหน้าปูทางสู่เมืองวิจัยนวัตกรรมของประเทศ ดีแทคพร้อมต่อยอด 5G สู่การใช้งานทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต่อไป


กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ 5G ปักหมุด EECi ใช้งานจริงตอบโจทย์ ปตท.

สำหรับกล้องตรวจการณ์อัจฉริยะที่ ปตท. นำมาติดตั้งที่ EECi เป็นกล้องมีความละเอียดสูง Ultra-HD ใช้งานติดตั้งประจำที่ด้วยพลังซูมถึง 55 เท่า เพื่อตรวจการณ์ ค้นหา ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยสามารถควบคุมจากระยะไกล ถ่ายทอดภาพเคลื่อนไหวและไฟล์เสียงแบบเรียลไทม์ ด้วยข้อมูลความละเอียดสูงที่ต้องรับ-ส่งผ่านเครือข่ายมีขนาดมหาศาลจำเป็นต้องใช้การรับส่งผ่านจากสัญญาณดีแทค 5G ด้วยคลื่น 26 GHz เพื่อตอบโจทย์ให้กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะได้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งให้ศักยภาพได้เหนือกว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายและผ่านไฟเบอร์ในรูปแบบอื่น

ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคมองเส้นทางสู่การพัฒนา 5G ที่ยั่งยืนในประเทศไทยนั้น มีเงื่อนไขแห่งความสำเร็จที่ต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังนั่นคือ การก้าวสู่ 5G โดยคลื่นความถี่ที่ต้องมาปฏิวัติรูปแบบการใช้งาน หรือ use-case พร้อมกับองค์ประกอบที่เกื้อหนุนกัน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (collaboration) เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนา 5G ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย”

ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อคำนึงถึงคุณสมบัติของเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้งาน จะเห็นได้ว่าคลื่นความถี่ 26 GHz เหมาะสมที่จะพัฒนาการใช้งาน 5G เพื่ออุตสาหกรรมและกลุ่ม B2B ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาด้วยคลื่นที่มีปริมาณความจุเพื่อรองรับการใช้งานและการตอบสนองที่แม่นยำ เพื่อการใช้งานแบบ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) คือการเชื่อมโยงของอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งบริการทางไกลเพื่อสุขภาพต่างๆ การเชื่อมต่อเครื่องจักรและหุ่นยนต์ และรองรับการใช้งานรับ-ส่งข้อมูลปริมาณมากที่มีความเสถียรของโซลูชั่นกล้องตรวจการณ์”

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตั้งอยู่ที่ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ เป็นโครงการที่ ปตท. มุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ช่วยขับเคลื่อนการวิจัย และพัฒนานวัตกรรม ให้เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จในระดับที่สามารถนำไปสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ตามแนวคิด Powering Thailand’s Transformation เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันและขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง พร้อมพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ดังนั้น ปตท. จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน หลายฝ่าย รวมถึง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือดีแทค โดยใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติที่สำคัญของเทคโนโลยี 5G ในการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมต่าง ๆ

วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า โครงการ 5G x UAV SANDBOX เป็นการเปิดพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนได้ทดสอบนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพความเร็วในการรับส่งข้อมูล เพื่อการตอบสนองที่ไวขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้นำศักยภาพของ 5G ไปทดลองใช้เป็น Use cases ต่าง ๆ รวมถึง UAV (Unmanned Aerial Vehicle) และการจัดการการบิน โดย ปตท. และพันธมิตรร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในโครงการโครงการ 5G x UAV SANDBOX


จุดติดตั้ง use case 5G ที่ศูนย์ปฏิบัติการหอชมวิว (Observation Tower) และสถานีฐาน 5G

คลื่น 26 GHz หรือ Millimeter wave (mmWave) 5G มีคุณสมบัติในการให้บริการเหนือกว่า 4G ดังนี้

ความเร็ว (Speed) - ด้วยกล้อง ultra-HD ที่ใช้งานในโครงการ ปตท. จะต้องการความเร็วอัปโหลดถึง 11 Mbps ซึ่ง 4G อาจจะไม่รองรับได้เพียงพอ ดังนั้น คลื่น mmWave 5G สามารถตอบโจทย์ได้ โดยคลื่นดังกล่าวให้ความเร็วในการทดสอบระดับโลกในการอัปโหลด 40-1000Mbps

ความจุช่องสัญญาณ (Capacity) – ในการพัฒนาใช้งานสู่อนาคตที่ต้องการการเชื่อมต่อที่รองรับกล้อง ultra-HD เป็นจำนวนหลายร้อยจุด ทำให้สัญญาณ 4G จะไม่เพียงพอในการตอบสนองได้ แต่สำหรับคลื่น mmWave 5G ให้ความจุของช่องสัญญาณรองรับมากกว่า 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับ 4G จึงทำให้รองรับประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น  

ความเชื่อมั่น (Reliability) – 5G สามารถนำมาใช้งานอย่างไว้วางใจเมื่อต้องการความปลอดภัยและความต่อเนื่องมากกว่า 4G ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานเช่นวิดีโอที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ภาพสะดุด เช่น 5G สามารถแบ่งการให้บริการแบบเจาะจงด้วย network slicing ดังนั้นการใช้งานในรูปแบบ IoT ของ ปตท. จะสามารถใช้ช่องสัญญาณเพื่อความเสถียรในการใช้งานแยกจากการให้บริการกับลูกค้าทั่วไป

ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร ดีแทค กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากกล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ 5G ที่ได้ใช้งานแล้ว ดีแทคยังร่วมทดสอบกับ ปตท.ในส่วนของ 5G FWA หรือ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ พร้อมทั้งยังมีแผนความร่วมมือต่อไปในส่วนของโซลูชั่นอื่นๆ  เทคโนโลยีการสื่อสารมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในยุคดิจิทัล ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวอีกด้วย”

ทั้งนี้ ดีแทคยังเตรียมแผนที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมและพันธมิตรต่างๆ ให้ทดสอบและใช้งาน 5G คลื่น 26 GHz ใน use case รูปแบบต่างๆ อีกมากมาย อาทิ โซลูชั่นควบคุมไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อธุรกิจ (Smart MDB) ระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Security) เซ็นเซอร์คลังสินค้า (Warehouse Sensors) ระบบแจ้งเตือนผล (Intelligent Report) ระบบติดตามรถยนต์ (Smart Tracking – Vehicle) และ ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เป็นต้น


บรรยายภาพ


ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค ดูความพร้อมของกล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ 5G ที่เริ่มใช้งานจริงตอบโจทย์ ปตท. ที่ EECi


อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ (กลาง) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และ ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร ดีแทค พร้อมด้วย ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค  ร่วมพูดคุยถึงความร่วมมือในการนำนำ 5G บนคลื่น 26 GHz  หรือ Millimeter wave (mmWave) สู่การพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์

COMMENTS