3 ต.ค. 2563 1,263 0

กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับ วิศวะมหิดล เดินหน้าโครงการศึกษาจัดทำมาตรฐานระบบรถไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณโครงข่ายรถไฟสายประธานในประเทศไทย

กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับ วิศวะมหิดล เดินหน้าโครงการศึกษาจัดทำมาตรฐานระบบรถไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณโครงข่ายรถไฟสายประธานในประเทศไทย


รองรับการเปลี่ยนโหมดจากรถไฟดีเซล...สู่ไฟฟ้า กรมการขนส่งทางราง โดย สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดี ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.ภูมินท์ กิระวานิช หัวหน้ากลุ่มสาขาฯ และ ดร.ศิรดล ศิริธร อาจารย์กลุ่มสาขาฯ ร่วมเดินหน้าโครงการศึกษาการจัดทำมาตรฐานระบบไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ ระยะที่ 1 (โครงข่ายรถไฟสายประธานของประเทศไทย) และได้จัดนิทรรศการโครงการฯและจัดประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับมาตรฐานระบบไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ ระยะที่ 1 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างความเข้าใจ โดยมีนักเรียน นักศึกษา วิศวกรและประชาชน ร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ชั้น 5 อาคารสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร


สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า โครงการศึกษาการจัดทำมาตรฐานระบบไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ ระยะที่ 1 (โครงข่ายรถไฟสายประธานของประเทศไทย) มาจากความคิดริเริ่มของ กรมการขนส่งทางราง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำ มาตรฐานด้านระบบไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณสำหรับประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการศึกษาและจัดทำมาตรฐานกลางของประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของระบบ ประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน ความปลอดภัยของประชาชนและการเชื่อมต่อของระบบบรางของประเทศ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โครงการใช้ระยะเวลาการดำเนินงานศึกษา 8 เดือน 

ทั้งนี้ในอนาคตแผนการเปลี่ยนจากรถไฟดีเซล เป็น รถไฟฟ้าในระยะแรกจะเริ่มจากกรุงเทพมหานครออกไปในรัศมีระยะทาง 250 กม. ทุกทิศทางโดยรอบ โดยมีการวางแผนออกแบบโครงสร้างเพื่อรองรับการติดตั้งสายส่งเหนือศีรษะ ขณะที่ระบบอาณัติสัญญาณจะดำเนินงานควบคู่ไปกับการพัฒนาทางคู่และทางสายใหม่ ซึ่งประกอบด้วยระบบควบคุมการเดินรถที่อำนวยความสะดวกปลอดภัยให้กับรถไฟ สามารถตรวจจับตำแหน่งของขบวนรถ คำนวณความเร็วและการหยุดที่เหมาะสม รวมทั้งการแจ้งอุบัติเหตุและแก้ไขปัญหาฉุกเฉิน เป็นต้น

ดร.ศิรดล ศิริธร อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้จัดการโครงการศึกษาการจัดทำมาตรฐานระบบรถไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการศึกษาในระยะที่ 1 จะศึกษาครอบคลุมโครงข่ายรถไฟสายประธานทั่วประเทศ พื้นที่ 49 จังหวัด รวมความยาวของทางรถไฟสายประธาน 4,043 กิโลเมตร เพื่อจัดทำมาตรฐาน กฎกระทรวง ระเบียบข้อบังคับ ข้อเสนอแนะ ที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ โดยจะพิจารณาถึงประเด็นการออกแบบติดตั้ง การเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม ความสามารถในการทำงาน คุณสมบัติความปลอดภัย การเดินรถและการบำรุงรักษา การทดสอบและส่งมอบงานและการทำงานร่วมกันได้ รวมไปถึงการจัดทำมาตรการการดำเนินงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านจากระบบขับเคลื่อนรถไฟด้วยพลังงานดีเซลไปสู่พลังงานไฟฟ้า และแผนการดำเนินงานด้านอาณัติสัญญาณให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางในอนาคต


การนำระบบรถไฟพลังงานไฟฟ้ามาทดแทนรถไฟเครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันจะช่วยลดมลภาวะและเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถ ขณะที่การปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณจะทำให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการบริการของรถไฟไทยและเสริมสร้างความปลอดภัยในการเดินรถมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามอุปกรณ์และเทคโนโลยีด้านระบบไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณมีผู้ผลิตหลายรายและมีหลักการในการทำงานแตกต่างกัน การนำระบบต่างๆ มาใช้บนเส้นทางเดียวกันจึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานกลางของประเทศเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกันได้ และสามารถทำงานตามข้อกำหนดที่ตั้งไว้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ยังจะต้องคำนึงถึงความสามารถในการเชื่อมต่อและเดินรถระหว่างประเทศในอนาคตอีกด้วย


ประโยชน์ของการจัดทำมาตรฐานกลางของระบบรถไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ จะยกระดับระบบรถไฟของประเทศให้มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ การกำกับดูแลเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนในการคัดเลือกเทคโนโลยีและการทำงานของระบบ เปิดโอกาสด้านการแข่งขันให้ผู้ผลิตและผู้ติดตั้งอย่างเป็นธรรม บุคลากรด้านการเดินรถและบำรุงรักษาสามารถเรียนรู้และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้มาตรฐานระบบเดียวกัน


โดยภายในงานนิทรรศการระบบรถไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณโครงข่ายรถไฟสายประธาน ประกอบด้วยนิทรรศการต่างๆ อาทิ ประวัติศาสตร์ของกิจการรถไฟสายประธานของประเทศไทย, วิวัฒนาการการขับเคลื่อนรถไฟ, วิวัฒนาการระบบอาณัติสัญญาณ, องค์ประกอบของระบบไฟฟ้าในระบบราง, องค์ประกอบของระบบอาณัติสัญญาณในระบบรางเทคโนโลยีของต่างประเทศด้านระบบไฟฟ้า, ระบบอาณัติสัญญาณในต่างประเทศ, แผนการพัฒนารถไฟทางคู่ ทางสายใหม่ และรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น

COMMENTS