10 ก.ย. 2563 3,078 25

Adslthailand ร่วมกับ MDES พาเยี่ยมชม Thailand Digital Valley (Digital Park Thailand)​ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (ASEAN Digital Hub)

Adslthailand ร่วมกับ MDES พาเยี่ยมชม Thailand Digital Valley (Digital Park Thailand)​ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (ASEAN Digital Hub)


โครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศฯ (ASEAN Digital Hub)


บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ 2 ภายใต้โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้เกิดความเชื่อมั่นและเข้ามาลงทุนในโครงการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรและประเทศ ซึ่งจะสนับสนุนให้ประเทศก้าวสู่การเป็น ASEAN DIGITAL HUB และส่งผลให้เกิดการสร้างงานและธุรกิจใหม่ สร้างโอกาสในการศึกษาและสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ต เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศฯ (ASEAN Digital Hub) ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ซึ่ง CAT ดำเนินการสำเร็จตามลำดับแล้ว ดังนี้


1. การขยายความจุโครงข่ายภายในประเทศ เชื่อมโยงไปยังชายแดน เชื่อมต่อประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา รวมความจุที่ขยายเพิ่ม 2,300 Gbps ดำเนินการแล้วเสร็จ ส่งมอบงานทั้งหมดแก่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 ขณะนี้ อยู่ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของอุปกรณ์ใน 151 สถานีทั่วประเทศ


2. การขยายความจุระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่ใช้เชื่อมต่อในเส้นทางสิงคโปร์ จีน (ฮ่องกง) และสหรัฐอเมริกา จำนวน 3 ระบบคือ AAG, APG, FLAG ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ขยายความจุเคเบิลใต้น้ำแล้วเสร็จทั้ง 3 ระบบ รวมความจุที่ขยายเพิ่ม 1,770 Gbps ส่งผลให้ความจุรวมเป็น 7,406 Gbps สามารถรองรับปริมาณทราฟิกในปัจจุบันรวมถึงการใช้งานที่จะเพิ่มในอนาคต


3. การสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่ เพิ่มเสถียรภาพความมั่นคงในการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของภูมิภาคอาเซียน และสนับสนุนการเป็น ASEAN Digital Hub ของไทย โดย CAT ร่วมกับภาคีสมาชิกลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างระบบเคเบิล Asia Direct Cable (ADC) เมื่อวันที่14 กุมภาพันธ์ 2563 โดยระบบเคเบิล ADC มีความยาว 9,400 กม. เชื่อมโยง 6 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ไทย จีน (ฮ่องกง) สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565 ระบบจะเชื่อมต่อตรง (Direct Route) จากไทยไปยังฮ่องกงและสิงคโปร์ โดยมีจุดเชื่อมต่อกับประเทศไทยที่สถานีเคเบิลใต้น้ำ 3 ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการ Digital Park Thailand



โครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) และสถาบัน IoT


CAT ดำเนินโครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมประเทศให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านดิจิทัล ศูนย์กลางการพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของประเทศไทย และขยายต่อเนื่องเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ทั้งนี้ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศฯ (ASEAN Digital Hub) ข้างต้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลของภูมิภาคอาเซียน โครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) ยังมุ่งพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง โดยภายในโครงการฯ มีการจัดตั้งสถาบันไอโอที (Thailand Digital Valley) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อเป็นศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนากำลังคนดิจิทัล ซึ่งจากจุดนี้จะเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วน IoT ระดับไฮเอนต์ของโลกที่ช่วยลดมูลค่าการนำเข้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนจากต่างประเทศ นำมาซึ่งการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ เกิดการจ้างงานแรงงานในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล สร้างอุตสาหกรรมดิจิทัล เพิ่มมูลค่าการลงทุนด้านดิจิทัล และขยายศูนย์กลางการค้าการลงทุนระดับภูมิภาคในอนาคต ทั้งนี้ รองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 3 จังหวัด (ชลบุรี/ฉะเชิงเทรา/ระยอง) อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการบินและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฮเทคอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมี ชีวภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต และเมืองวิทยาศาสตร์



โครงการ Digital Park Thailand


CAT อยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นของนักลงทุน เกี่ยวกับร่างเอกสารการคัดเลือกเอกชนที่ปรับแก้ไขแล้วและความเห็นเกี่ยวกับกำหนดการเปิดขายซองที่นักลงทุนเห็นว่าเหมาะสม เพื่อนำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนของโครงการฯ ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการดำเนินโครงการฯ ต่อไป


โครงการก่อสร้างอาคาร Thailand Digital Valley


Thailand Digital Valley ตั้งอยู่บนพื้นที่ 30 ไร่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ประเทศไทย หรือ Digital Park Thailand (EECd) ประกอบด้วย


- อาคารหลังแรก DEPA Digital One Stop Service หรือสำนักงานสาขาภาคตะวันออก โดยขณะนี้ มีผู้ประกอบการดิจิทัล และ Digital Startup ขอจองสิทธิ์เช่าใช้พื้นที่ชั้น 2 และ ชั้น 3 ครบเต็มจำนวนแล้ว

- อาคารหลังที่สอง Digital Startup Knowledge Exchange Center ขนาดพื้นที่ 4,500 ตารางเมตร เป็นที่ตั้งของสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล และเป็นพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล พื้นที่ต่อยอดธุรกิจ รองรับชุมชนของบรรดาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ (Startup Community) กำหนดจะสร้างเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

- อาคารหลังที่สาม Digital Innovation Center อยู่ระหว่างการดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารโครงการก่อสร้าง Thailand Digital Valley จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อเป็นแรงผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางด้านการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)” เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย รวมถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนคนไทย


โครงการบริหารจัดการกิจการดาวเทียมหลังหมดสัญญาสัมปทานไทยคม



ในเดือนกันยายน 2564 สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศหรือดาวเทียมไทยคมจะสิ้นสุดสัมปทานลงโดยดาวเทียมทั้งสองดวงคือดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และดาวเทียมไทยคม 6 จะกลับคืนเป็นสินทรัพย์ของภาครัฐ คือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้มอบหมายให้ CAT รับหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินดาวเทียมตามอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียมที่เหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญา โดยดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) มีอายุทางวิศวกรรมถึงปี 2566 (เหลือ 2 ปี) และดาวเทียมไทยคม มีอายุทางวิศวกรรมถึงปี 2572 (เหลือ 8 ปี) ทั้งนี้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จะถ่ายทอดทักษะองค์ความรู้การบริหารจัดการด้านปฏิบัติการดาวเทียมให้แก่ภาครัฐเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนพนักงานไทยคมต่อไป ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ


CAT ได้เริ่มส่งทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจดาวเทียมจำนวน 24 นาย เข้าฝึกอบรมปฏิบัติการกับไทยคม ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ณ สถานีควบคุมดาวเทียมไทยคม นนทบุรี โดยเป็นการฝึกอบรมล่วงหน้า 1 ปีเต็มก่อนวันสิ้นสุดสัมปทาน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากร


ขณะนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนบริหารจัดการดาวเทียมแห่งชาติแบบจีทูจี ด้วยกระบวนการตามมาตรา 49 ของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) แล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง “รมว.ดีอีเอส” ลงพื้นที่ Thailand Digital Valley เยี่ยมชม depa Digital One Stop Service ตึกแรกใน EECd

COMMENTS