22 มิ.ย. 2562 3,728 0

แอปฯ อสม.ออนไลน์ ปล่อยฟีเจอร์ใหม่ “สำรวจแหล่งลูกน้ำยุงลาย” เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเชิงรุกเร็วขึ้น เชื่อลดอัตราเสี่ยงโรคไข้เลือดออกได้

แอปฯ อสม.ออนไลน์ ปล่อยฟีเจอร์ใหม่ “สำรวจแหล่งลูกน้ำยุงลาย” เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเชิงรุกเร็วขึ้น เชื่อลดอัตราเสี่ยงโรคไข้เลือดออกได้

AIS โดยแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ ออกฟีเจอร์ใหม่ “รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย” รับมือโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย สร้างเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้การเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้เร็วขึ้น พร้อมใช้งานแล้วทั่วประเทศ

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเผยข้อมูลสถานการณ์ล่าสุด พบว่า ประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากกว่าปีที่ผ่านมา จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก โดยกรมควบคุมโรค ที่เก็บข้อมูลมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 จนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วย จำนวน 31,843 ราย ซึ่งมากกว่า ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ถึง 1.6 เท่า โดยคาดว่าตลอดทั้งปีจะพบผู้ป่วยมากถึง 100,000 ราย และในปัจจุบัน มีผู้ป่วยเสียชีวิต 48 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.15 ของผู้ป่วยทั้งหมด (ข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2562) จึงได้มีการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนและคนไทยทั่วประเทศ ร่วมกันสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และสถานที่สำคัญภายในชุมชนนั้น

แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ จากเอไอเอส เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าว จึงพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ล่าสุด “รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย” เพื่อเป็นเครื่องมือเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเชิงรุกให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แทนการจัดทำรายงานบนกระดาษแบบเดิมๆ ที่ตอบโจทย์การบริการสาธารณสุขเชิงรุกได้อย่างรวดเร็ว

จุดเด่นของฟีเจอร์ “รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย” ผ่านแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ ที่จะช่วยให้ อสม. สามารถสำรวจได้อย่างแม่นยำขึ้น และง่ายขึ้น อาทิ

  • สามารถแยกดูรายละเอียดข้อมูลการกระจายตัวของความชุก แหล่งที่พบลูกน้ำยุงลายบ่อย ได้ในระดับรายหมู่บ้าน
  • รายงานจำนวนและรายละเอียดรูปแบบภาชนะที่มักพบเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น แหล่งน้ำใช้, น้ำดื่ม, จานรองกระถางต้นไม้ และยางรถยนต์เก่า ได้อย่างแม่นยำ
  • เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว ระบบจะทำการประเมินค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลาย (HI, CI) พร้อมส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ ให้สามารถเห็นภาพรวมในพื้นที่ทั้งหมด เช่น สถานการณ์ความชุกลูกน้ำยุงลาย, แหล่งพื้นที่ที่พบลูกน้ำยุงลายได้บ่อย และภาชนะที่มักพบเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทำให้สามารถวางแผนและกำหนดมาตรการในการป้องกันโรคไข้เลือดออกในพื้นที่นั้นๆ ได้เหมาะสมและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
  • โดย ฟีเจอร์ “รายงานสำรวจลูกน้ำ ยุงลาย” บนแอป อสม.ออนไลน์ นอกจากจะช่วยลดขั้นตอนการทำงานและลดการใช้กระดาษเพื่อส่งข้อมูลแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งระบบ โดยในพื้นที่ ที่เปิดการใช้งานแอปฯ แล้ว จะสามารถใช้งานได้ทันที ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ที่สนใจต้องการเปิดการใช้งาน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซด์ ais.co.th/aorsormor และ Facebook: อสม.ออนไลน์ หรือ โทร. 062-520-1999

เกี่ยวกับแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ 

แอปพลิเคชันเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่ม จากแนวคิด Digital for THAIs ที่ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารสำหรับการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุกระหว่างหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ทำให้การทำงานด้านสาธารณสุขชุมชนเป็นเชิงรุกมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง เป็นเครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อจัดบริการสุขภาพที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งช่วยให้สุขภาพของคนในชุมชนและคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น เปิดให้บริการครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม 2558

โดยในปัจจุบัน แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มีเครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิในจังหวัดต่างๆและกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ใช้งานซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. รวมกว่า 67,000 ณ ไตรมาส 1/2562 คน นอกจากการออกแบบแอปพลิเคชันและพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้ว เอไอเอส ยังได้ลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ในพื้นที่ต่างๆ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมแล้ว 77 จังหวัด พร้อมร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐมาอย่างต่อเนื่องด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2560 แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ได้รับรางวัล Winner of WSIS Prize 2017 จากการพัฒนาแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เป็นนวัตกรรมดิจิทัลเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่ม สำหรับหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมมากยิ่งขึ้นด้วย

COMMENTS