29 พ.ค. 2562 1,351 11

เปิดวิสัยทัศน์ “รัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวัน” นับถอยหลังสู่งาน Techsauce Global Summit 2019 19 - 20 มิถุนายนนี้

เปิดวิสัยทัศน์ “รัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวัน” นับถอยหลังสู่งาน Techsauce Global Summit 2019 19 - 20 มิถุนายนนี้

เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน ก็จะถึงงานสำคัญที่เหล่าคอไอทีและเทคโนโลยีไม่ควรพลาดกับงาน Techsauce Global Summit 2019 สุดยอดงานประชุมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับแถวหน้าของเอเชีย ที่ปีนี้กลับมาอย่างยิ่งใหญ่และสนุกสนานน่าตื่นเต้นยิ่งกว่าเดิม ทั้งในด้านเนื้อหาสาระและประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ทุกคนจะได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดจาก 12 เวทีเสวนา ครอบคลุมทุกประเด็นความสนใจ จากเหล่ากูรูตัวจริงเสียงจริงในแวดวงธุรกิจหลากหลายสาขา รวมถึงตัวแทนกลุ่มสตาร์ทอัพชั้นนำระดับโลกรวมกว่า 400 ชีวิตพร้อมใจเดินทางมาเยือนเมืองไทยเพื่อแชร์มุมมองความรู้และประสบการณ์ที่น่าสนใจแบบไม่มีกั๊ก เรียกได้ว่าเป็นโอกาสหายากในรอบปีเลยทีเดียว

ออเดรย์ ถังรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลจากประเทศไต้หวัน วัย 38 ปี ถือเป็น 1 ในวิทยากรรับเชิญที่น่าจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งในงานนี้ด้วยโปรไฟล์และประสบการณ์ทำงานที่ไม่ธรรมดา เมื่อ 3 ปีก่อนเธอคนนี้ได้กลายเป็นจุดสนใจในแวดวงการเมืองและวงการไอทีไต้หวัน หลังจากได้รับเชิญให้ร่วมสภาบริหารในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล ด้วยวัยเพียง 35 ปี ทำให้เธอไม่เพียงเป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในสภาบริหาร แต่ยังเป็นรัฐมนตรีสตรีข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์ไต้หวันอีกด้วย

ปัจจุบัน ถังได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 20 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกด้านรัฐบาลดิจิตอล (GovTech) การก้าวเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ของเธอเต็มไปด้วยเรื่องน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นปูมหลังของเธอซึ่งเป็นถึงตำนานอัจฉริยะแห่งวงการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ของไต้หวัน ผู้มีไอคิวสูงถึง 180 เธอสามารถเรียนรู้การเขียนโปรแกรม Perl มาตั้งแต่อายุ 12 ปี พออายุ 15 ปีก็สามารถพัฒนา Search Engine ภาษาแมนดาริน หรือประสบการณ์การเป็นนักพัฒนาที่ซิลิคอนวัลเลย์ ตอนอายุเพียง 19 ปี

นอกเหนือจากความเก่งกาจด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ถังยังมีเลือดความเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะจุดยืนด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เป็นเรื่องที่เธอมองว่าจำเป็นมาก และเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีที่เรียกว่า Civic Tech หรือเทคโนโลยีภาคประชาชนจะมีบทบาทสำคัญที่ช่วยวิวัฒน์ประชาธิปไตยให้ก้าวไปอีกขั้น ช่วยให้ประชาชนมีพลังทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มที่เห็นได้ในภาคการเมืองการปกครองทั่วโลก

หน้าที่หลักของเธอคือการทำให้รัฐบาลมีความโปร่งใสมากขึ้น พร้อมกับส่งเสริมการพัฒนา Open Data ที่ทุกคนสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด และสามารถแชร์ข้อมูลของรัฐบาลกับสาธารณชน ช่วยให้ ประชาชนคนธรรมดาอย่างเราๆ สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ ทำให้ปัจจุบันไต้หวันเป็น 1 ในรัฐที่มีการใช้ Open Data สูงสุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ตลอดเวลาการทำงานในตำแหน่ง ถังได้ผนวกความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเข้ากับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มี เพื่อผลักดันให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานของรัฐบาล พร้อมกับสร้างพื้นที่ให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างจริงจัง ส่วนผสมอันเป็นจุดเด่นทั้งสองด้านของถังก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมที่เป็นคุณูปการอย่างมากต่อสังคมประชาธิปไตยของไต้หวัน

ถังเล่าว่า “ปัญหาหลักๆ คือตอนนี้รัฐบาลไม่สามารถเป็นผู้บริหารจัดการแต่เพียงฝ่ายเดียวได้อีกต่อไปแล้ว ในยุคสมัยของอินเทอร์เน็ต เพียงแค่ใช้แฮชแท็ก แคมเปญบางอย่างก็เกิดขึ้นได้ คนร่วมหมื่นก็ออกมาเคลื่อนไหวขับเคลื่อนสังคมแล้ว ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นและกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกเมื่อหลายปีก่อนในกรณีของ #metoo ดังนั้นโมเดลการบริหารจัดการแบบเดิมจึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป และเป็นเหตุผลที่พวกเธอทำงานเพื่อเสนอสร้างแนวทางใหม่ในการบริหารที่เรียกว่า Collaborative Governance ที่ถือว่าทุกคนเป็นผู้ถือผลประโยชน์ร่วมกัน

ถึงแม้ทุกคนจะมีความคิดแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็ต่างมีคุณค่าพื้นฐานร่วมกันคือ อยากเห็นโลก สังคม และเศรษฐกิจดีขึ้น ด้วยเหตุนี้แม้ทุกคนจะเห็นต่างแต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ทุกคนจะตกลงกันได้ เราได้สร้างพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงคุณค่าพื้นฐานที่เรามีร่วมกัน แล้วช่วยกันสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่เพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นี่จึงจะเป็นสิ่งที่เราเรียกว่านวัตกรรมทางสังคม”

จุดยืนของฉันไม่ได้ทำงานเพื่อสนับสนุนรัฐบาล แต่ทำงานเพื่อสนับสนุนระบบรูปแบบการบริหารปกครองที่เน้นความร่วมมือจากทุกฝ่าย คอยเชื่อมประสานทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งภาครัฐ ภาคสังคม องค์กรเอกชน โดยยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในภาพรวม” ถังกล่าว

ถังจึงเป็นรัฐมนตรีผู้ผลักดันประชาธิปไตยให้เกิดความโปร่งใสแบบขั้นสุด (radical transparency) โดยเริ่มจากการที่ตัวเธอเองจะตอบคำถามสื่อมวลชนในพื้นที่ออนไลน์สาธารณะเท่านั้น รวมถึงยังมีส่วนในการพัฒนาโครงการต่างๆ มากมาย ที่มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่สนทนาที่นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการสนทนาของคนจำนวนหลักล้านคน ให้สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังคุณค่าที่แตกต่างและสัมผัสความรู้สึกของกันและกันได้

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะถังเชื่อว่า “การรับฟังกันและกันคือหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย” จากในอดีตที่ประชาธิปไตยเป็นการปะทะกันของสองฝั่งขั้วที่ยึดถือความคิดและคุณค่าต่างกัน แต่ในปัจจุบัน ประชาธิปไตยคือการสนทนาแลกเปลี่ยนกันระหว่างคุณค่าที่หลากหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการมีอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ผนวกเข้ากับการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับประชาธิปไตยนั่นเอง

นี่เป็นเพียงมุมมองเพียงส่วนหนึ่งจากออเดรย์ ถัง เท่านั้น ติดตามเรื่องราวและแนวคิดที่น่าสนใจ จากเธอ ในหัวข้อ 'Giving Voices the Power to Change Nations: AI, Democracy, and Social Listening' บนเวทีหลัก ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ พร้อมกับวิทยากรคนดังอีกมากมายได้ในงาน Techsauce Global Summit 2019 บนเวทีเสวนาทั้ง 12 หัวข้อได้แก่

1.FinTech

2.FabTech

3.HealthTech

4.AI/DATA

5.Blockchain

6.Startup

7.VC

8.DeepTech / Energy / CleanTech

9.Smart City / AutoTech / LivingTech

10.Entertainment / Music / E-Sport / AR-VR

11.Social Impact

12.Women in Tech

ระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายนนี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://summit.techsauce.co

COMMENTS