บทความโดย: สุพรรณี อำนาจมงคล ผู้จัดการประจำประเทศไทย เร้ดแฮท
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ก้าวข้ามจากจินตนาการในนิยายมาสู่ความเป็นจริงในชีวิตประจำวันและเข้ามามีบทบาททุกหนแห่งในชั่วข้ามคืน และนับเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการประเมินพบว่าโปรเจกต์ AI มากกว่า 80% ต้องเผชิญกับความล้มเหลว นั่นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความไม่สอดคล้องกัน ระหว่างแนวคิดของผู้คนและองค์กรเกี่ยวกับ AI และ ML กับแนวทางที่ผู้คนและองค์กรเหล่านั้นใช้ในการก้าวสู่ยุคแห่งนวัตกรรม หากเป็นเช่นนั้น องค์กรจะหลีกเลี่ยงความล้มเหลวและลดความเสี่ยงในการทำโปรเจกต์ AI ได้อย่างไร
สิ่งที่ควรทำก่อนเริ่มโปรเจกต์ AI ที่ประสบความสำเร็จ
·
ทำความเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของ AI
·
วางแนวทางการใช้งาน AI ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านเป้าหมายของธุรกิจ
·
ศึกษาการใช้ AI จากธุรกิจอื่น ๆ
·
รวบรวมทีม AI จากบุคลากรที่อยู่ในสายงานต่างๆ ไว้ด้วยกัน
·
ประเมินความพร้อมด้าน AI ภายในองค์กร
· พัฒนาวัฒนธรรมองค์กรด้านนวัตกรรม
ทำความเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของ AI
เรามักเข้าใจกันว่า Generative AI (gen AI) เก่งมาก รอบรู้ไปทุกเรื่อง และเข้าใจความหมายของ คอนเทนต์ที่ตัวเองสร้างขึ้น แต่ในความจริงแล้วแอปพลิเคชัน gen AI ไม่ได้เข้าใจคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมา และไม่ได้ “ฉลาด” อย่างที่เข้าใจกัน เพราะเป็นเพียงแอปเติมข้อความอัตโนมัติ (autocomplete apps) ที่มีความสามารถสูงในการจดจำและเลียนแบบรูปแบบภาษา รวมถึงการเชื่อมโยงคำต่าง ๆ โดยอาศัยการประมวลผลจากข้อมูลที่มี ซึ่งล้วนต้องพึ่งพาการฝึกฝนจากคน
ด้วยความสามารถที่ดูน่าเชื่อถือ จึงง่ายที่จะเชื่อว่า gen AI มีความสามารถในการทำงานที่ซับซ้อนและงานที่ล้ำหน้าต่าง ๆ ได้ ความเชื่อเช่นนี้อาจนำไปสู่ความล้มเหลวได้ หากงานที่ gen AI ได้รับมอบหมายนั้นเกินขีดความสามารถของเทคโนโลยี AI ในปัจจุบัน
ดังนั้น ก่อนที่เริ่มต้นโปรเจกต์พัฒนา gen AI สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือต้องเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของเทคโนโลยี AI ในปัจจุบัน
จุดแข็งและจุดอ่อนของ gen AI
สิ่งที่ gen AI ทำได้ดี:
·
การประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล
·
การวิเคราะห์ข้อมูล
·
การจัดรูปแบบข้อความใหม่
·
ทำงานที่ง่ายและต้องทำซ้ำ ๆ ได้โดยอัตโนมัติ
·
การดึงและสรุปข้อมูล
·
การจับคู่และระบุรูปแบบ
·
การจำแนกข้อมูล
· ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยในการระดมความคิด
จุดอ่อนของ gen AI:
●
ไม่สามารถคิดหรือให้เหตุผลได้จริง
●
ไม่สามารถเข้าใจบริบทได้เองโดยไม่มีการระบุคำสั่งที่ชัดเจน
●
ไม่สามารถทำงานที่มีความซับซ้อนได้
●
ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรบ้าง จึงมีแนวโน้มที่จะสร้างภาพหลอนหรือการตีความข้อมูลและให้ข้อมูลที่ผิดพลาด
●
ไม่สามารถผลิตผลงานที่เป็นต้นฉบับได้
●
ขาดความสามารถในการสร้างสรรค์และการคิดเชิงสร้างสรรค์ในทุกมิติ
● ไม่มีพื้นฐานความเข้าใจด้านจริยะธรรมและความเอื้ออาทร
ปัจจุบันแอปพลิเคชัน gen AI เป็นเหมือนเครื่องประมวลผลอัตโนมัติที่เหมาะกับการจัดการงานประจำ และงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ในปริมาณมาก ๆ ช่วยให้บุคลากรและทีมงานใช้เวลาและนำความกระตือรือร้นไปใช้จัดการงานที่ซับซ้อน งานสร้างสรรค์ และการพัฒนานวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
วางแนวทางการใช้ AI ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของธุรกิจ
แม้ว่า AI จะได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานจริง และไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ องค์กรจึงต้องพิจารณานำ AI มาใช้ให้สอดคล้องอย่างแท้จริงกับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีอยู่
สุดท้ายแล้ว แอปพลิเคชัน AI ที่องค์กรพัฒนาขึ้นจะทำงานอยู่เบื้องหลัง เป็นองค์ประกอบที่แทบมองไม่เห็นในแอปพลิเคชัน บริการ และกระบวนการต่าง ๆ ผู้ใช้งานหรือลูกค้าจะไม่รับรู้ถึงการทำงานของ AI โดยตรง
สิ่งที่ลูกค้าสัมผัสได้คือแอปพลิเคชันที่ฉลาดขึ้น บริการที่ใช้งานง่ายขึ้น และกระบวนการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น องค์ประกอบต่าง ๆ ของ AI จะช่วยให้องค์กรประมวลข้อมูล ความรู้ และความเชี่ยวชาญขององค์กรใส่เข้าไปในผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นและสอดคล้องกันมากขึ้นในทุกด้านให้กับลูกค้า
องค์กรที่เพิ่งเริ่มต้นใช้ AI ต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะนำ AI ไปใช้งาน ณ จุดใด จึงจะได้รับประโยชน์ในระยะเวลาอันใกล้ เช่น นำไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีม หรือปรับปรุงบริการและปรับบริการให้เหมาะกับลูกค้ารายบุคคล ทั้งที่เป็นลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าที่ห่างหายไปและกลับมาเป็นลูกค้าอีกครั้ง หลีกเลี่ยงการนำ AI ไปใช้กับกระบวนการหลักทางธุรกิจ จนกว่าจะมีความเข้าใจการทำงานของ AI และแน่ใจว่าข้อมูลที่องค์กรป้อนให้ AI มีความเพียงพอ
ศึกษาตัวอย่างการใช้ AI จากธุรกิจอื่นๆ
องค์กรในหลากหลายอุตสาหกรรมกำลังใช้ AI อย่างสร้างสรรค์และเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน
ซึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจสำหรับแนวทางการนำ AI ไปประยุกต์ใช้และทดลองในองค์กรของคุณ
หลายกรณีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า
และช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น
●
ธุรกิจค้าปลีก ใช้ AI เพื่อสร้างระบบแนะนำสินค้าที่ตรงใจลูกค้าแต่ละรายเพื่อดึงลูกค้าเก่ากลับมา
ช่วยวิเคราะห์และปรับปรุงการจัดวางสินค้าให้ดึงดูดผู้ซื้อ
รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพด้านซัพพลายเชนของธุรกิจ
●
องค์กรที่ให้การสนับสนุนด้านไอที นำ AI มาช่วยกระบวนการคัดแยกและจัดหมวดหมู่คำถามที่ลูกค้าส่งเข้ามา
ระบุและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยอัตโนมัติ
●
นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ใช้ AI เป็นผู้ช่วยในการเขียนโค้ด
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ
ช่วยให้มีเวลาทุ่มเทกับงานที่มีมูลค่าสูงกว่า
●
ผู้ผลิต เริ่มใช้
AI คาดการณ์ความผิดพลาดของเครื่องจักรและอุปกรณ์
และปรับตารางการผลิตให้เหมาะสม
●
สถาบันการเงิน ใช้ AI ตรวจจับธุรกรรมฉ้อโกงและคาดการณ์แนวโน้มตลาดหุ้น
●
องค์กรด้านสาธารณสุข ใช้ AI ช่วยออกแบบโมเลกุลยาใหม่
สร้างรายงานสุขภาพส่วนบุคคลและปรับปรุงกระบวนการวินิจฉัย
● อี-คอมเมิร์ซ ธุรกิจออนไลน์และมาร์เก็ตเพลสใช้ gen AI พัฒนาแชทบอทอัตโนมัติ สำหรับงานบริการลูกค้าและการขาย
จัดตั้งทีม AI จากบุคลากรข้ามสายงาน
การพัฒนาโปรเจกต์ AI จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความรู้ด้านต่าง
ๆ จากทุกภาคส่วนขององค์กร ดังนี้
·
วิทยาศาสตร์ข้อมูลและการวิเคราะห์
·
ไอที/วิศวกรรม
·
การพัฒนาแอปพลิเคชัน
·
การจัดการข้อมูล
·
กลยุทธ์ทางธุรกิจ
·
การวิจัยผู้ใช้
·
การตลาดและการสื่อสาร
·
กฎหมาย/ข้อกำหนด
· ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทีมที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา จะมีมุมมอง ประสบการณ์ และความคิดเห็นที่หลากหลายที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ศูนย์ความเป็นเลิศนี้จะช่วยให้แน่ใจว่าการใช้ศักยภาพของ AI ในงานด้านต่างๆ นั้น จะสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ขององค์กร และมีความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิค
ทีม AI ข้ามสายงานยังช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบุคลากรและทีมต่าง ๆ ที่ปกติแล้วอาจจะไม่ค่อยได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด ข้อมูลเชิงลึก และความเชี่ยวชาญได้ดียิ่งขึ้น
ประเมินความพร้อมด้าน AI ขององค์กร
การพัฒนาโปรเจกต์ gen AI จะไม่ได้ผล หากองค์กรยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ข้อมูล หรือโครงสร้างพื้นฐาน ทีม AI ที่ประกอบด้วยบุคลากรที่มาจากสายงานต่างๆ จะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าจะนำ AI เข้ามาใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขององค์กรได้มากน้อยเพียงใด เพราะแต่ละคนต่างมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับจุดแข็งและจุดอ่อนที่ชัดเจน เมื่อสามารถระบุจุดอ่อนที่ชัดแจนได้ องค์กรก็สามารถจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาและการฝึกฝน AI ได้อย่างเหมาะสม
พัฒนาวัฒนธรรมองค์กรในเชิงสร้างสรรค์สิ่งใหม่
ยุคของ AI เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น การเริ่มทดลองและนำไปใช้งานขององค์กร เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น การสร้างวัฒนธรรมเชิงนวัตกรรมในองค์กรจะช่วยให้องค์กรพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ AI จะนำมา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีคำแนะนำมากมายเกี่ยวกับวิธีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นไปในเชิงนวัตกรรมมากขึ้น และนี่คือสามแนวทางในการเริ่มต้น
หนึ่ง: ปลูกฝังแนวคิดแห่งการทดลอง
นวัตกรรมต้องอาศัยการทดลอง และนวัตกรรมต่อเนื่องต้องอาศัยการทดลองอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แม้ว่าการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะล้มเหลว แต่ความสำเร็จเพียงไม่กี่ครั้งก็อาจคุ้มค่ากับความพยายามทั้งหมด ยิ่งองค์กรสั่งสมความสำเร็จมากขึ้นเท่าไร ความคิดเชิงสร้างสรรค์ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น และในระยะยาวการดำเนินการทดลองจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดลองอย่างต่อเนื่องในระยะเวลายาวนาน) อาจสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ
การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องใช้เวลา
แต่ก็มีแนวทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้เกิดการทดลองมากขึ้นภายในองค์กร โดย
·
กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน
·
ส่งเสริมความใฝ่รู้
·
ยอมรับความล้มเหลว
·
วัดผลทุกสิ่ง
·
สร้างแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลเป็นหลัก
·
เป็นผู้นำโดยทำเป็นตัวอย่าง
สอง: ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มระดับและขยายขอบเขตของนวัตกรรมในองค์กร
วัฒนธรรมการทดลองจะเติบโตได้ดีเมื่อบุคลากรและทีมมีแรงจูงใจในการเป็นผู้เรียนรู้
เปิดรับสิ่งใหม่ และมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง
โอกาสในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบและขนาด เช่น
·
คลาสเรียนที่จัดโดยเพื่อนร่วมงานที่จัดอย่างสม่ำเสมอ
·
แพลตฟอร์มไมโครเลิร์นนิ่งแบบมีค่าใช้จ่าย
·
การโค้ชซึ่งกันและกัน
และการจัดเซสชัน “lunch and learn”
· เวิร์คช็อปหรือบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญจากนอกองค์กร
สาม: ลงทุนพัฒนาบุคลากร
การลงทุนพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบ
จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมเชิงนวัตกรรมในองค์กร
เมื่อมีโอกาสควรส่งเสริมให้ทีมได้ทำสิ่งต่อไปนี้
·
เข้าเรียนหลักสูตรเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ
·
เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ สัมมนาออนไลน์ และการประชุมต่างๆ
·
มีส่วนร่วมในโปรแกรมการฝึกอบรม
·
เข้าร่วมโปรแกรมการให้คำปรึกษาอย่างเป็นทางการ
· เปิดโอกาสให้พัฒนาทักษะอื่นๆ
การลงทุนพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรในลักษณะนี้ จะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรมีความก้าวหน้าในอาชีพ มีแรงบันดาลใจ มีส่วนร่วม และได้ค้นหาความสนใจใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อองค์กรโดยรวม
เมื่อองค์กรได้ทำสิ่งดังกล่าวข้างต้นแล้ว
องค์กรก็จะพร้อมเริ่มพัฒนาพัฒนาแอปพลิเคชัน AI โปรเจกต์แรกได้อย่างมั่นใจและประสบความสำเร็จ