10 ต.ค. 2567 913 12

AIS - สกมช. ผนึกกำลัง กยศ. ขยายผลหลักสูตร 'อุ่นใจไซเบอร์' เสริมทักษะดิจิทัล

AIS - สกมช. ผนึกกำลัง กยศ. ขยายผลหลักสูตร 'อุ่นใจไซเบอร์' เสริมทักษะดิจิทัล

สร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ให้นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มผู้กู้ยืม พร้อมสะสมชั่วโมงจิตสาธารณะ


AIS และ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) พร้อมด้วย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ร่วมภารกิจสร้างภูมิคุ้มภัยไซเบอร์ เดินหน้าขยายผลการเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์หลักสูตรการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัลที่ได้รับรองจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาไทยไปยังนักเรียนระดับมัธยมปลายสายสามัญ สายอาชีพ กลุ่มอาชีวศึกษา และนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาผู้กู้ยืม เพื่อให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้การป้องกัน รับมือ หรือแม้แต่การลดความเสี่ยงจากการใช้งานดิจิทัลที่อาจมีภัยคุกคามทางไซเบอร์แฝงมาในทุกรูปแบบ พร้อมยังได้สะสมชั่วโมงจิตสาธารณะได้ 3 ชั่วโมง


สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “การส่งเสริมการใช้งานดิจิทัลอย่างมีความรับผิดชอบ ถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ คือหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ AIS ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยวันนี้เรามุ่งเป็นแกนกลางของสังคมในการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ อย่างการพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ หลักสูตรด้านดิจิทัลที่ถูกพัฒนาให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรด้านการศึกษาไทย ซึ่งครอบคลุมทักษะการใช้งานบนโลกดิจิทัล ได้แก่ Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม, Personality แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกอออนไลน์, Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนโลกออนไลน์อย่างเหมาะสม

โดยที่ผ่านมาเราได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อส่งต่อหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปยังกลุ่มเป้าหมายของแต่ละองค์กร ซึ่งวันนี้มีคนไทยเข้าเรียนในหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์แล้วกว่า 390,000 คน และครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญผ่านการทำงานร่วมกับ สกมช. และ กยศ. ที่จะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา กลุ่มผู้กู้ยืมจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้มีทักษะดิจิทัลรู้เท่าทันทุกภัยไซเบอร์จากการเรียนหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการทำงานอย่างสอดประสานกันในครั้งนี้จะช่วยทำให้เป้าหมายการทำงานของทั้งสามหน่วยงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ และจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนไทยสามารถใช้งานดิจิทัลอย่างเกิดประโยชน์พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์”


ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า “การทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ AIS ในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้นักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืม และเจ้าหน้าที่สถานศึกษาให้มีทักษะรู้เท่าทันภัยคุกคามไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้บนออนไลน์ และยังได้สะสมชั่วโมงจิตสาธารณะเพิ่มเติมได้อีก 3 ชั่วโมง เพราะวันนี้กลุ่มนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมต้องมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการกู้ยืมและชำระเงินคืนแบบออนไลน์ผ่านระบบดิจิทัล การมีความรู้ในการรับมือและป้องกันภัยไซเบอร์ จึงเป็นแนวทางหลักที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการโดนหลอกลวงและหยุดภัยไซเบอร์ได้ผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ที่ได้มาตรฐานรองรับจากกระทรวงศึกษาธิการ และเราเชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการยกระดับให้เยาวชนผู้กู้ยืมและบุคลากรของกองทุนฯ มีทักษะพร้อมเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพต่อไป"


พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวต่อไปอีกว่า “ภารกิจสำคัญของสกมช.คือการมุ่งมั่นในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อยกระดับประเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ

สกมช. จึงได้เร่งหารือร่วมกับ กยศ. และ AIS บูรณาการร่วมมือระหว่างกัน สนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้หลักสูตรออนไลน์ “อุ่นใจไซเบอร์” ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ผู้กู้ยืม กยศ. เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง และสามารถนับชั่วโมงการเรียนรู้เป็นกิจกรรมจิตสาธารณะเป็นจำนวน 3 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ในการผลักดันกิจกรรมดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรมและถือเป็นการทำงานเชิงรุกในการสร้างการตระหนักรู้ ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ สามารถปรับตัวในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

ซึ่งการทำงานร่วมกับ กยศ. และ AIS ในครั้งนี้ถือเป็นวาระสำคัญที่จะช่วยทำให้การทำงานร่วมกับของภาคส่วนต่างๆ เกิดการบูรณาการและใช้ขีดความสามารถร่วมกันในการวางรากฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์  โดยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านภัยไซเบอร์ให้แก่ นักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจากกองทุน รวมถึงบุคลากรทางการศึกษาให้รู้เท่าทันและสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ”