2 ต.ค. 2567 224 10

ETDA เปิด 4 Big Step! ปี 68 ‘ก้าวที่มั่นคง…เพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจของทุกคน’

ETDA เปิด 4 Big Step!  ปี 68 ‘ก้าวที่มั่นคง…เพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจของทุกคน’

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” มีพันธกิจหลักในการร่วมสร้างสังคมดิจิทัล เพื่อให้ช่วยส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย 2 เป้าหมายใหญ่ๆ ที่เป็นเป้าหมายรวมระดับประเทศที่สำคัญ คือ การเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP เป็น 30% และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้านดิจิทัลให้อยู่ในอันดับที่ 30 ของโลก ภายในปี 2570 หรือ 30:30


เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น ETDA จึงเร่งวางรากฐานที่มั่นคงเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวไปสู่สังคมดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ ทั้งการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Ecosystem) ที่แข็งแกร่ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น กำหนดกฎเกณฑ์ วางกรอบมาตรฐาน และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลขับเคลื่อนไปได้อย่างคล่องตัว ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และรู้เท่าทัน ซึ่งจากการมุ่งมั่นทำงานหนักตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มปรากฏผลสำเร็จที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยขยับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลจาก 40 ขึ้นมาอยู่ใน    อันดับที่ 35 ได้ ซึ่งถือว่าใกล้เป้าหมายเข้าไปทุกที 

ก้าวต่อไปนับจากนี้เรียกได้ว่ามีความเข้มข้นและท้าทายอย่างมาก เนื่องจากทั่วโลกต่างมุ่งเป้าหมายเดียวกันในการใช้ “ดิจิทัล” เป็นแผนใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสร้างพาวเวอร์ให้กับประเทศ  จากคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ETDA จึงได้เร่งต่อยอด ขยายผล เพิ่มความเข้มข้น เพื่อให้งานทุกด้านยิ่งชัดเจน เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยยังคงยึดกรอบการดำเนินงานใน 4 ด้านหลัก เริ่มจาก


ด้านที่ 1 Digital Infrastructure and Ecosystem เร่งต่อภาพจิ๊กซอว์ระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเน้นไปที่งาน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

(1) Document Management  การวางโครงสร้างพื้นฐานของ Document Management ให้มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาแม้งานด้านนี้จะเป็นรูปเป็นร่างมากพอสมควรแล้ว ทั้งในมิติ Digital ID และ CA (Certification Authority) ใช้สําหรับการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของ e-Signature แต่ยังคงต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้าน Trust Service ที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดย ETDA กําลังเร่งเสนอการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับกฎหมายแม่แบบของ UN โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568  

(2) Digital Platform Services  พัฒนามาตรการและแนวทางการกำกับดูแลดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากให้มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ และมีการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างชาติ 

(3) AI & Data Sharing เสนอกฎหมายหรือมาตรการเพื่อส่งเสริมให้การแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing) เป็นไปอย่างน่าเชื่อถือและใช้งานง่ายขึ้น โดยเน้นสร้างความโปร่งใสในระบบนิเวศของ AI ว่าแต่ละฝ่ายเกี่ยวข้องกันอย่างไร และแต่ละภาคส่วนควรมีบทบาทอย่างไร เพื่อให้เกิดการใช้งานข้อมูลและ AI อย่างปลอดภัย และ 

(4) Legal & Standard พัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินกิจกรรมทางดิจิทัลต่างๆ สามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้ให้บริการ (Service Provider) ผ่าน Innovation Sandbox เพื่อเป็นพื้นที่ทดสอบนวัตกรรม


ด้านที่ 2 Digital Service and Governance เพิ่มกลไกการกำกับดูแลการใช้ดิจิทัลอย่างมีธรรมาภิบาลในการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มและเทคโนโลยี AI

ด้านธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เร่งเสริมกลไก สร้างความมั่นใจทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น ETDA ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม และกำลังเร่งแก้ไขปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาการฉ้อโกงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเร่งผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลดิจิทัล

แพลตฟอร์มผ่านกลไกทั้งมาตรฐาน แนวปฏิบัติ (Best Practices) เพื่อให้เกิด Ecosystem ที่จะช่วยลดความเสี่ยงและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ผลกระทบจากแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Labor Platform และ e-Commerce Platform เพื่อสร้างมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และสนับสนุนการสร้างชุมชนผู้ใช้งานที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดกลไกการกำกับดูแตนเอง (Self-regulation) ในอนาคต พร้อมเพิ่มบทบาทสายด่วน 1212 ETDA เพื่อเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนเพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มขนาดเล็ก เพิ่มความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการที่จะได้รับการดูแลและความเป็นธรรมในการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น

ด้าน AI Governance เดินหน้าขยายผลต่อเนื่อง แม้ AI จะมีประโยชน์มากมาย แต่ทุกอย่างมักมีสองด้านเสมอ การส่งเสริมการใช้งาน AI จึงต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้รู้จักใช้อย่างมีธรรมาภิบาล (Governance) แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดหน่วยงานกลางที่จะกำกับดูแลเรื่อง AI โดยเฉพาะ ในขณะที่หลายประเทศมีแล้ว ในระยะต่อไป ETDA จะเร่งหารือกับ NECTEC และ สวทช. ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางหรือไม่ และจะมีกลไกและทิศทางในการขับเคลื่อน AI ในระดับประเทศอย่างไร  สำหรับการส่งเสริมการนำเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์ใช้อย่างมีธรรมาภิบาลยังมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากหลายกลุ่มเริ่มตื่นตัวและสนใจนำ AI มาใช้ แต่ยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่ง ETDA มีศูนย์ AIGC พร้อมให้คำปรึกษาโดยดึงผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมด้วย ควบคู่ไปกับ Toolkit and Guideline ที่ยังต้องพัฒนาต่อ แม้ว่าตอนนี้จะได้ภาพกว้างและแนวทางหลักแล้ว แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องทำเพิ่ม เช่น AI Project Management ซึ่งมีความซับซ้อนในหลายมิติทั้งประเด็นทางเทคนิค เช่น การเลือกใช้  AI ที่เหมาะสมกับการใช้งาน เงื่อนไขการใช้งาน แนวทางการดูแลและจัดการข้อมูล พร้อมทั้งเตรียมออก Implementation Guidance เกี่ยวกับจริยธรรมของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI  ซึ่งอ้างอิงจากข้อเสนอของ UNESCO


ด้านที่ 3 Adoption and Transformation เพิ่มความเข้มข้นในการผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการใช้ Digital ID เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับในภาครัฐปัจจุบันใช้ได้แล้วถึง 449 บริการ จาก 1,626 บริการ ซึ่ง ETDA ตั้งเป้าส่งเสริมการใช้งานให้ครอบคลุมบริการเพิ่มขึ้น ให้ได้ 80% ภายในปี 2568

นอกจากนี้ ETDA ยังมุ่งมั่นส่งเสริมผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ โดยเน้นไปที่กลุ่ม SMEs เป็นหลัก เพราะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่ม GDP ของประเทศ  แต่เนื่องจาก SMEs ไทยมีจำนวนมาก ETDA อาจไม่สามารถเข้าไปช่วยส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้ทั้งหมด ETDAจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้าง Model การพัฒนา เพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงนำไปพัฒนาต่อได้ซึ่งผลจากการลงพื้นที่สำรวจความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของ SMEs ในพื้นที่ตัวอย่างพบว่าประมาณ 44% มีความพร้อมในระดับปานกลาง ดังนั้น ETDA จึงพยายามหาโมเดลที่จะช่วยให้ SMEs มี Digital maturity (ความสามารถขององค์กรในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด) เพิ่มขึ้น อย่างเช่น การส่งเสริมเพื่อให้เกิดแคมเปญการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่าง SMEs กับ Tech Providers ซึ่งจะช่วยให้ SMEs ได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะกับประเภทธุรกิจ ขณะที่ผู้ให้บริการก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการมีลูกค้า SMEs มากขึ้น แต่จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล พบว่า SMEs ส่วนใหญ่มีความต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ยังขาดแคลนเงินทุนโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งในอนาคตอันใกล้  ETDA จะพยายามเพิ่มบทบาทการช่วยเหลือในด้านเงินทุน เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดด้านต่างๆ


ด้านที่ 4 Digital Workforce, Literacy and Protection ส่งเสริมให้คนไทยมีศักยภาพ ตลอดจนทักษะเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน  รวมทั้งรู้จักใช้อย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทัน โดยขยายให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น โดยเน้นไปที่ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1) เพิ่มแรงงานด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้ทันสมัยและครอบคลุม ให้แก่บุคลากรตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงระดับปฏิบัติการ เช่น หลักสูตรระดับผู้บริหารการรับรองทักษะดิจิทัล (DSPC) และการรับรองทักษะโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงรูปแบบการขยายความรู้ผ่านช่องทาง e-Learning โดยตั้งเป้าเพิ่มทักษะแรงงานดิจิทัลให้ได้ 90,000 คน ภายในปี 2570 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กำหนดทักษะที่จำเป็นและวางแผนพัฒนากำลังคนไปจนถึงปี 2570

2) ส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่ชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสร้างงาน สร้างรายได้และลดอัตราการว่างงาน โดยต่อยอด Model การพัฒนาชุมชนในระดับภูมิภาค จับมือพาร์ตเนอร์ ปั้นโค้ชดิจิทัลชุมชน อบรมเพิ่มความรู้ และทักษะด้านดิจิทัล พร้อมผลักดันสู่การจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise หรือ SE) ก่อนส่งต่อพาร์ตเนอร์เพื่อส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ามีชุมชนเข้าร่วม 1,000 ชุมชน ภายในปี 2570 นอกจากนี้ยังมุ่งแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนในการลงพื้นที่ โดยร่วมกับหน่วยงานสำคัญในเชิงพื้นที่ เช่น สสว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการดำเนินงานล่วงหน้า 3 ปี เพื่อกำหนดเป้าหมาย งบประมาณ และกิจกรรมที่จะดำเนินการร่วมกัน 

3) ส่งเสริมให้คนไทยใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทันและรู้วิธีป้องกันภัยออนไลน์ ลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย โดยตั้งเป้าเพิ่ม EDC Trainer กระจายไปยังอำเภอต่างๆ ในประเทศ เช่น ภาคใต้ ภาคตะวันออก ตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนืออย่างน้อย 80 อำเภอ (ปัจจุบันขยายไปแล้ว 137 อำเภอ) และเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 50% (ประเทศไทยมี 878 อำเภอ) ภายในปี 2570 พร้อมจัดทำสื่อเผยแพร่ความรู้ และเสริมการวัดผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ในเชิงพื้นที่ ไปพร้อมๆ กับการต่อยอดสร้าง Community เครือข่ายการทำงาน เพื่อเพิ่มความยั่งยืนในการพัฒนาทักษะดิจิทัลคนไทย และตั้งเป้าภายในปี 2568 นี้ ETDA จะพัฒนาแหล่งรวบรวมข้อมูลกลาง (Content Management) เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อ ตลอดจนคลังความรู้ในด้านดิจิทัลได้ง่ายยิ่งขึ้น 


ทั้งหมดนี้คือทิศทางในก้าวต่อไป ซึ่งลำพัง ETDA เพียงหน่วยงานเดียวไม่อาจทำให้สำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนก้าวไปด้วยกัน เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน นำพาประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย 30:30 และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยไปด้วยกัน