27 ก.ย. 2567 159 0

สู่ปีที่ 6 ของ True Digital Park ผ่านกัปตันทีม 'ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์' ท่ามกลางสายธารแห่งการเปลี่ยนผ่านและโลกที่ไม่แน่นอน

สู่ปีที่ 6 ของ True Digital Park ผ่านกัปตันทีม 'ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์' ท่ามกลางสายธารแห่งการเปลี่ยนผ่านและโลกที่ไม่แน่นอน

กรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองระดับมหานครหรือ ​Mega City หนึ่งของโลก เป็น Strategic Location ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความเป็นพลวัต ภายใต้กระแสธารแห่งการเปลี่ยนผ่าน

การเปลี่ยนผ่านที่เห็นได้ชัดอย่างยิ่งคือ การขยายตัวของเมือง (Urbanization) โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดย True Digital Group พัฒนาเมกะโปรเจกต์ True Digital Park (TDPK) ทรานสฟอร์มพื้นที่ชานเมืองสู่ “ฮับแห่งสตาร์ตอัพ” กับเป้าหมาย Silicon Valley เมืองไทย

ในโอกาสที่ TDPK ย่างเข้าสู่ปีที่ 6 True Blog ได้มีโอกาสสนทนากับ “ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์” ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงที่รั้งตำแหน่ง General Manager ของ TDPK ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังโครงการ แนวทางการบริหารที่นำมาสู่การพลิกเมือง ตลอดจนวิธีคิด-การใช้ชีวิตในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


ประสบการณ์ขยายเลนส์ความคิด

ธาริตเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางชาวไทยเชื้อสายจีน เกิดและอาศัยในย่านทรงวาดของกรุงเทพฯ ที่คลาคล่ำไปด้วยธุรกิจค้าส่ง รวมถึงเคมีภัณฑ์ที่คุณพ่อเขาก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา และนั่นจึงนำมาสู่แรงบันดาลใจของธาริตที่มีความฝันประกอบอาชีพวิศวกรเคมี ตามสมัยนิยมของเด็กยุค 80 ที่มักเห็นพ่อแม่ของตัวเองเป็นไอดอล

ด้วยความเป็นเด็กขยันเรียน ใฝ่รู้ และมุมานะ ธาริตสอบติดและจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และออกไปเก็บประสบการณ์การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ จ.ระยอง เป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะได้รับทุนรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ Fulbright Scholarship ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกที่ University of California, Davis ในสาขาวิศวกรรมเคมี ก่อนที่จะไปทำงานด้านวิจัยในฐานะ Postdoctoral Research Fellow ที่ MIT และห้องเแล็บของบริษัทด้านเทคโนโลยีพลังงานระดับโลก Topsoe ที่ประเทศเดนมาร์กรวมเป็นเวลากว่า 2 ปีก่อนเดินทางกลับประเทศไทย

“ผมเป็นคนที่ค่อนข้างมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนตั้งแต่แรก โดยต้องการเรียนให้สูงที่สุด ด้วยความที่เราชอบเรียนหนังสือ และเรียนได้ดี เมื่อมีโอกาส ผมก็ทำมันให้ดีที่สุด ซึ่งนั่นก็คือ นักวิทยาศาสตร์” ธาริต เล่าถึงภูมิหลังในวัยเด็ก


เส้นทางชีวิตของธาริตดูราบรื่น สวยหรู เป็นเส้นตรง และคาดเดาได้ หากไม่กลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็เป็นนักวิจัยในแล็บของหน่วยราชการ แต่ระหว่างทาง เขาได้พบกับ “ทางเลือก” ที่ช่วยขยายเลนส์และทางเดินในอนาคต นั่นคือ การได้รับคัดเลือกเข้าโปรแกรม Bridge to BCG ของ Boston Consulting Group ทำให้เขาได้รู้จักงานที่ปรึกษาอย่างลึกซึ้งและค้นพบศักยภาพในตัวเอง

เมื่อกลับมายังมาตุภูมิ ธาริตเริ่มต้นการทำงานแรกที่ไทยในฐานะ Management Consultant ที่ Roland Berger บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกสัญชาติเยอรมัน โดยโปรเจกต์แรกที่มีส่วนร่วมคือ แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเขาได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของ “ปลาคนละน้ำ” จาก “นักวิจัยสู่ที่ปรึกษา” ที่สามารถทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อนร่วมทีมที่ต่างหิ้วดีกรี MBA มาทั้งนั้น เหนือไปกว่านั้น กรอบคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) ที่บ่มเพาะมาจากการคลุกคลีกับกิจการของที่บ้าน กลับกลายเป็นการสร้างความแตกต่างของความเป็นที่ปรึกษาให้เขา เรียกได้ว่า เป็นที่ปรึกษาที่มีทั้ง “บู๊และบุ๋น”

ในห้วงเวลา 2-3 ปีบนสนามที่ปรึกษา ธาริตมีโอกาสร่วมคิด-สร้างในโปรเจกต์ต่างๆ มากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ True Digital Park



หินก้อนแรก จากแผนบนกระดาษสู่การปฏิบัติจริง

บรีฟแรกที่ได้มาในโจทย์ TDPK คือ การทำให้ TDPK พิชิตเป้าหมายสถานะ “ฮับของสตาร์ทอัพเมืองไทย” เพื่อเติมเต็มอีโคซิสเต็มดิจิทัลของประเทศผ่านโครงสร้างพื้นฐานเชิง Community Hub โดยธาริตและทีมใช้เวลาร่วมปี ทำการค้นคว้าวิจัย ลงสนาม ดูงาน เทียบเคียงกับต่างประเทศ วางกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จนสำเร็จเป็น Blueprint ที่พร้อมนำไปปรับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแผนบนกระดาษให้เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ จำเป็นต้องมีผู้นำหรือผู้ที่เป็นเรี่ยวแรงในการส่งไม้ต่อ และธาริตก็ได้รับการทาบทามให้ทำหน้าที่นั้น โดยประเดิมในตำแหน่ง Head of Commercial และได้รับโปรโมทเป็น General Manager ในเวลาต่อมา

“เดิมทีเราทำงานเชิงแผนงานเสียมาก แต่พอต้องลงมือทำด้วยตัวเองจริงๆ ก็ท้าทายมากเช่นเดียวกัน ตอนแรกที่เข้ามาช่วงปี 2561 ซึ่งเป็นเฟส Pre-Leasing โจทย์สำคัญคือ การหาลูกค้าศักยภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเทคสตาร์ตอัพ มีเทคทาเลนท์อย่างโปรแกรมเมอร์หรือวิศวกรข้อมูลเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ TDPK เดินหน้าอย่างมีกลยุทธ์และเติบโตตามที่ตั้งเป้าไว้ ด้วยมายด์เซ็ตและการมูฟแบบสตาร์ทอัพของทีมที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ ทำให้ปีแรกของ TDPK มีอัตราเช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) ของเฟสแรกหรือตึก East อยู่ที่ 70% ซึ่งถือว่ารวดเร็วและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดบริเวณ CBD


ฮันนีมูนพีเรียดเริ่มต้นได้เพียงไม่นาน บททดสอบหน้าใหม่สุดหินทีชื่อว่า “โควิด-19” ก็ได้เข้ามาทักทายผู้บริหารหนุ่มคนนี้เข้าอย่างจัง

“ความไม่แน่นอนเชิงพื้นที่และเวลา” จากวิกฤตโควิด-19 ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้น Risk Management ที่ TDPK เทคแอ็คชั่นเป็นลำดับแรก คือ “การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า” เพื่อสร้างความสบายใจท่ามกลางความไม่แน่นอน ทั้งการให้ความช่วยเหลือ การจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ รวมถึงการปรับพื้นที่เป็นศูนย์ฉีดวัคซีน ซึ่งจากวิกฤตในครั้งนั้น ทำให้ธาริตเห็นโอกาสทางธุรกิจและกรุยทางสู่แหล่งรายได้ใหม่ๆ จนปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้ถึง 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. Office and retail space leasing 2. Co-working space membership 3. Event space rental and organizing service 4. Workspace design and project management 5. White-label incubation and training service และ 6.Ecosystem tour

โดยยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้สอดรับกับความเป็นไปได้ใหม่ๆ อีกมากมาย

มากกว่าพื้นที่ แต่คือประสบการณ์

ธาริต เล่าว่า TDPK เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของทรู ที่ต้องการสร้างความแตกต่างในตลาดโทรคมนาคมให้กับแบรนด์ทรู ซึ่งสะท้อนบทบาทความเป็น ”ผู้นำแห่งอนาคต” ด้วยการเดินหน้าเปลี่ยนผ่านดิจิทัลสู่ Telco Tech Company  ด้วยเหตุนี้ ทรูจึงต้องเท่าทันและเข้าใจกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และสภาวการณ์ของโลกให้มากขึ้น ทั้งยังต้องใกล้ชิดกับคู่ค้าและคู่แข่งมากขึ้น

นอกจากนี้ TDPK ยังได้ทำหน้าที่คู่ขนานกับทรู ในฐานะ “แพลทฟอร์ม” แต่แพลทฟอร์มที่ว่านี้ ทำหน้าเที่เป็นสะพานเชื่อมผู้คนที่มีใจมุ่งมั่น ต้องการทำฝันให้เป็นจริง สร้างธุรกิจให้เติบโต ได้มาพบกันภายใต้บรรยากาศแห่งการตื่นรู้ พร้อมทั้งใช้ชีวิตในทุกมิติได้อย่างสมดุล  สอดคล้องกับ motto ของ TDPK ที่ยึดถือมาตลอด นั่นคือ “One Roof, All Possibilities ที่เดียว ทุกความเป็นไปได้


จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้เกิดความเป็นคอมมูนิตี้ เกิดเป็นบทสนทนาระหว่างลูกค้ากันเอง และเกิดเป็นแบรนด์ที่แตกต่าง ถือเป็น Center of Gravity ในรูปแบบใหม่ ต่างจากการพัฒนาที่ดินในรูปแบบดั้งเดิมที่มองแต่เพียงอาคารเท่านั้น ดังนั้น “การสร้างคอมมูนิตี้” จึงถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของ TDPK

“คนทั่วไปอาจจะมองว่า TDPK คือตึก แต่สำหรับผม TDPK คือ แคมปัสและผู้คน” ธาริตกล่าวและเสริมว่า “ตึกในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่จะผุดขึ้นมาอีกมาก แต่...ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเช่าพื้นที่ต่อจากนี้ คือ Proximity ของทั้งพาร์ทเนอร์และเพื่อนฝูง เพื่อลดเวลาในการเดินทางไปมาหาสู่กัน ดังนั้น คีย์สำคัญของการสร้าง TDPK คือ Dynamics จากกิจกรรมในสังคมมนุษย์ผ่านความเป็น Campus พูดง่ายๆ คือ การสร้างเมือง”

และด้วยจุดเเข็งความเป็นคอมมูนิตี้ของ TDPK ที่ประกอบด้วยฟังก์ชันพื้นที่ที่หลากหลาย นั่นจึงเป็น “จุดขาย” ที่เหนือกว่าผู้ให้บริการพื้นที่อื่นๆ ทำให้ค่าบริการเชิงพื้นที่ของ TDPK สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด โดยเฉพาะจุดเด่นที่สะท้อนความเป็นคอมมูนิตี้ของชาวสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์ อีเว้นท์ที่เกิดขึ้นที่นี่จึงเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเกือบทั้งสิ้น

ที่ผ่านมา TDPK ทำหน้าที่ให้บริการด้านพื้นที่เป็นสำนักงานของสตาร์ทอัพทั้งขนาดเล็กและใหญ่หลายร้อยบริษัท รวมถึงยูนิคอร์นถึง 4 ตัว ทั้งจากไทยและต่างชาติ จะเห็นได้ว่าเทคสตาร์ทอัพที่ให้ความสำคัญกับความเป็น “คอมมูนิตี้” ล้วนตั้งอยู่ที่ TDPK ทั้งสิ้น โดยผลลัพธ์ดังกล่าวมาจากความเชื่อมั่นใน TDPK จนเกิดเป็นการบอกต่อและชักชวนให้มาใช้บริการแบบปากต่อปาก

“เราพัฒนา TDPK จากหมวกหลายใบ ทั้งในฐานะผู้พัฒนาโครงการ เจ้าของธุรกิจ และลูกค้า” ธาริตย้ำ พร้อมอธิบายว่า เพื่อให้มั่นใจว่า TDPK ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง โดยเฉพาะความเป็นคอมมูนิตี้ ทั้งยังสามารถนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่ตอบรับเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่สะท้อนจากผลลัพธ์ทางการเงิน”

ก้าวถัดไปของ TDPK

ประเทศไทยมีการถกเถียงถึงความสำคัญของการวิจัยมาช้านานหลายทศวรรษ แต่ในทางปฏิบัติ ไทยยังไม่สามารถใช้การวิจัยให้เกิดผลกระทบเชิงประจักษ์ได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงต่อสาธารณะ ส่งผลต่อการขาดแคลน “Role Model” หรือต้นแบบที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นหลังให้ก้าวสู่สนามแห่งการวิจัยให้มากขึ้น ทำให้รากฐานของประเทศเเข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งการให้ความสำคัญกับการวิจัยจะเป็นหนทางที่สำคัญในการต่อสู้และอยู่รอดของเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความท้าทายจากสินค้าจีน ขีดความสามารถทางการแข่งขันที่ต่ำลง การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี และความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของโลก

“ที่ผ่านมา ไทยใช้เม็ดเงินมหาศาลในการซื้อเทคโนโลยีต่างประเทศเข้ามา ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยควรหันมาให้ความสำคัญกับการวิจัย” ธาริตเอ่ยความในใจในฐานะเด็กที่มีฝันเป็นนักวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงวาดฝันให้ TDPK เป็นกลไกหนึ่งของสังคมที่ช่วยผลักดันงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

จากประสบการณ์ในสนามงานวิจัยของธาริตนับสิบปี ทั้งที่ยุโรปและสหรัฐฯ เขามองว่า “ความตระหนักรู้ด้านการวิจัย” ต่อสาธารณะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างมาก ทั้งยังเป็นปัจจัยพื้นฐานที่นำมาสู่ความสำเร็จของประเทศที่พัฒนาแล้ว นำมาสู่การพูดคุยเจรจาทั้งในมหภาคและจุลภาค การระดมทุน การพัฒนาห้องแล็บ การนำเสนอ รวมถึงการจับคู่ทางธุรกิจก็จะเกิดขึ้นตามมา

“ตึกๆ นี้ ไม่ได้สร้างเพื่อหาผู้เช่าให้เต็มแล้วไปพัฒนาที่ดินผืนใหม่ต่อไป แต่ TDPK ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็น Engine for Change สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อทั้งองค์กร ลูกค้า และสังคม ซึ่งทั้ง 3 ภาคี ล้วนมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ไม่สามารถแยกออกจากกันได้” เขาอธิบาย

ทั้งนี้ สถานะ Engine for Change ของ TDPK สะท้อนออกมาจากหลายมิติ อย่างการบริหารพื้นที่โซนต่างๆ ด้วยดาต้า การออกแบบพร้อมที่จะเปลี่ยนฟังก์ชั่นการทำงานของพื้นที่ให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าอย่างทันท่วงที ตัวอย่างเช่น พื้นที่ที่เคยเป็นออฟฟิศสามารถทรานส์ฟอร์มเปลี่ยนพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อคอมมูนิตี้หรือ co-working space ได้ในระยะเวลาอันสั้น

รักษาโมเมนตัม: คีย์สำคัญวงการสตาร์ทอัพ

ปัจจุบัน การระดมทุนในวงการสตาร์ทอัพไทยจะไม่ดูสดใสเหมือนในอดีต ทั้งยังมีข่าวที่ไม่สู้ดีนักผุดขึ้นมาอยู่เนืองๆ ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่จำกัดเพียงวงการสตาร์ตอัพเท่านั้น แต่ขยายไปสู่ธุรกิจ SMEs ซึ่งธาริตมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบจากวัฏจักรทางเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงถดถอย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ภาวะสงคราม รวมถึงโมเดลธุรกิจของสตาร์ทอัพที่เน้นการลงทุนอย่างมากในระยะเริ่มต้น ที่อาจไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่รุมเร้าด้วยปัจจัยลบ แต่ด้วยพันธกิจ TDPK เพื่อการเป็นฮับของสตาร์ทอัพ การรักษาโมเมนตัม สร้างแรงบันดาล ดึงดูดทาเลนท์ให้เข้าสู่วงการ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

“หากไฟมอดหรือดับลงแล้ว การจะจุดไฟให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้งเป็นเรื่องยาก เราจึงต้องรักษาไฟนั้น อย่าให้ดับมอดลง ฉันใดฉันนั้น เช่นเดียวกับหน้าที่ของ TDPK ต่อสตาร์ทอัพไทย”

ปัจจุบัน TDPK เป็นฐานที่สตาร์ทอัพใช้ทำงาน สร้างนวัตกรรมอยู่ทั้งสิ้นกว่า 260 รายและมีสมาชิกกว่า 13,000 คน  ซึ่งถือว่าไม่น้อย ขณะเดียวกัน แนวโน้มที่ชาวต่างชาติใช้ไทยเป็นฐานในการปฏิบัติการด้านสตาร์​ทอัพก็มีมากขึ้น โดยความร่วมมือระหว่าง TDPK และ BOI ผ่านโปรแกรม Long-Term Resident Visa

ผลงานที่ประจักษ์ของ TDPK ในขวบปีที่ 6 ภายใต้การนำของธาริต เกิดขึ้นจากดีเอ็นเอ 3 ประการ 1. ความสมดุล 2. ความคิดสร้างสรรค์ และ 3. ความกล้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาบ่มเพาะและเรียนรู้จากการเป็นนักบริหารที่คิดแบบนักวิทยาศาสตร์ โดยเขาค้นพบว่า ทักษะและแนวคิดจากพาณิชยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ต่างเติมเต็มช่องว่างซึ่งกันและกัน ปิดจุดบอด อุดรูรั่ว รู้ลึกและรู้กว้าง เปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาส ผลิดอกออกผลเป็นสิ่งที่เรียกว่า “นวัตกรรม”

อ่านบน True Blog: https://trueblog.dtac.co.th/blog/true-digital-park-2