26 ก.ย. 2567 90 0

อาลีบาบา คลาวด์ ร่วมมือกับ มจธ. เตรียมบุคลากรแห่งโลกอนาคตทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ตลาดแรงงานไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

อาลีบาบา คลาวด์ ร่วมมือกับ มจธ. เตรียมบุคลากรแห่งโลกอนาคตทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ตลาดแรงงานไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • มอบโอกาสในการพัฒนาทักษะผ่านการลงมือปฏิบัติจริง พร้อมโอกาสรับใบรับรองจากอาลีบาบา คลาวด์
  • มอบสิทธิพิเศษให้แก่นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์หลายร้อยคนที่เข้าร่วมโครงการจากความร่วมมือในครั้งนี้

อาลีบาบา คลาวด์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งอนาคตในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ชั้นนำ (ภาพจากซ้ายไปขวา: เซลิน่า หยวน ประธานด้านธุรกิจระหว่างประเทศของอาลีบาบา คลาวด์ อินเทลลิเจนซ์; ผศ.ดร.สันติธรรม พรหมอ่อน ผู้อำนวยการศูนย์ Big Data Experience และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)

อาลีบาบา คลาวด์ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และหน่วยงานหลักด้านอินเทลลิเจนซ์ของอาลีบาบา กรุ๊ป ได้ประกาศความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อเตรียมความพร้อมและให้การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีคลาวด์ที่ล้ำสมัยให้กับนักศึกษา ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอาลีบาบา คลาวด์ ในการเสริมศักยภาพให้กับผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลในประเทศไทย

ความร่วมมือนี้เริ่มในเดือนสิงหาคมด้วยชุดการบรรยายรายสัปดาห์ต่อสาธารณะ เพื่อให้ความรู้พื้นฐานด้านคลาวด์คอมพิวติ้งกับนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย และเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม ได้มีการบรรยายประวัติของคลาวด์คอมพิวติ้งอย่างเป็นทางการ โปรแกรมนี้จะเริ่มเปิดสอนหลักสูตรขั้นสูงให้กับนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในช่วงปลายเดือนกันยายน โดยเน้นด้านทักษะการใช้และการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หลักและสถาปัตยกรรมของอาลีบาบา คลาวด์ พร้อมมีใบรับรองให้กับผู้ผ่านการอบรม นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการวางแผนที่จะรวมสื่อด้านการฝึกอบรมต่าง ๆ ไว้ในหลักสูตรวิชาเลือกเกี่ยวกับคลาวด์คอมพิวติ้งสำหรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจธ. มีความพร้อมและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานดิจิทัลในอนาคต

ผศ. ดร.สันติธรรม พรหมอ่อน ผู้อำนวยการศูนย์ Big Data Experience และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าวว่า “คลาวด์คอมพิวติ้งกำลังเปลี่ยนอุตสาหกรรมทุกแวดวง และพลิกโฉมสภาพแวดล้อมการทำงานของมหาวิทยาลัยฯ  มจธ. มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับอาลีบาบา คลาวด์ เพื่อเสริมศักยภาพให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความเชี่ยวชาญที่ล้ำหน้านี้ไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาจะได้รับการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีใหม่”

Alibaba Cloud Academic Empowerment Program (AAEP) ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองเป็นทางการ เพื่อสนับสนุนทรัพยากรให้กับนักศึกษา นักการศึกษา และนักวิจัย นักการศึกษาที่เป็นสมาชิกจะได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมฟรี มีโอกาสเชื่อมต่อกับผู้นำอุตสาหกรรมคลาวด์ระดับโลกต่าง ๆ และได้เข้าใช้ห้องทดลองเชิงปฏิบัติการเพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เชิงปฏิบัติ อาลีบาบา คลาวด์ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมากกว่า 80 แห่ง ใน 16 ประเทศและภูมิภาค ที่อยู่นอกประเทศจีน เพื่อเสริมศักยภาพให้ผู้มีความสามารถในอนาคต ด้วยทรัพยากรที่ใช้ในการเรียนรู้ด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง

เซลิน่า หยวน ประธานด้านธุรกิจระหว่างประเทศของอาลีบาบา คลาวด์ อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า “อาลีบาบา คลาวด์ มุ่งมั่นนำความอัจฉริยะทางดิจิทัลสู่สถาบันการศึกษาทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ผ่านโปรแกรมส่งเสริมศักยภาพทางวิชาการของเรา โปรแกรมนี้จะช่วยเสริมความสามารถให้กับนักศึกษาผ่านการฝึกอบรมออนไลน์ด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง พร้อมกับมีการออกใบรับรองให้ เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นสถาบันที่โดดเด่น เป็นที่รู้จักในด้านความเชี่ยวชาญพิเศษด้านเทคโนโลยี ความร่วมมือนี้สอดคล้องกับความพยายามของเราในการพัฒนาแรงงานดิจิทัลที่มีทักษะที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป”

การ์ทเนอร์ได้จัดให้ Platform Engineering เป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญทั่วโลกของปี 2567 และคาดการณ์ว่าภายในปี 2569, 80% ขององค์กรด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์จะจัดตั้งทีมแพลตฟอร์มขององค์กรเป็นผู้ให้บริการภายในองค์กร 

ข้อมูลจากการสำรวจด้านคลาวด์ - independent cloud survey ของอาลีบาบา คลาวด์ ที่เผยแพร่ในปี 2566 ระบุว่า ธุรกิจไทยส่วนใหญ่ (95%) คาดว่าจะลงทุนด้านคลาวด์เพิ่มอย่างมาก ซึ่งมากกว่าตลาดอื่น ๆ ในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ 

ผศ. ดร.สันติธรรม กล่าวเสริมว่า ความต้องการระบบคลาวด์คอมพิวติ้งในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ พยายามย้ายเวิร์กโหลดไปสู่ระบบคลาวด์ เพื่อใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับขนาดการทำงาน ความปลอดภัย และความคุ้มค่าที่คลาวด์มีให้บริการ อย่างไรก็ตามองค์กรจำเป็นต้องจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นระบบที่ใช้อยู่เป็นแบบดั้งเดิม หรือการต้องพึ่งพาผู้ขายแต่ละราย ดังนั้นองค์กรจำเป็นต้องมีพันธมิตรทางเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้ เพื่อการโยกย้ายที่ราบรื่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านไอทีอย่างครบครัน จึงสามารถใช้ระบบคลาวด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับโครงการต่าง ๆ ที่ต้องการการมีส่วนร่วมทางออนไลน์อย่างกว้างขวาง

ความร่วมมือนี้ นำเสนอรูปแบบการเรียนรู้แบบไฮบริดที่มาพร้อมระดับการเริ่มต้นที่แตกต่างกัน โดยเฟสแรกเริ่มเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2567 ประกอบด้วยการบรรยายสาธารณะสามหัวข้อ บรรยายโดยผู้สอนจาก  Alibaba Cloud Academy ที่มีความเชี่ยวชาญด้านคลาวด์คอมพิวติ้งอย่างลึกซึ้ง การบรรยายเหล่านี้เป็นการแนะนำความเป็นมาของคลาวด์คอมพิวติ้ง เทคโนโลยีสำคัญด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง และแง่มุมทางเศรษฐกิจของการใช้คลาวด์ การบรรยายทั้งหมดนี้ได้เปิดให้นักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยทุกคนลงทะเบียนเข้าร่วม ทั้งนี้การบรรยายครั้งแรกจัดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม และได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังมากกว่า 130 คน


นักศึกษาของ มจธ. มากกว่า 130 คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยายครั้งแรก ในหัวข้อความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคลาวด์คอมพิวติ้ง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567

เฟสที่สองจะจัดขึ้นในเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน โดยเน้นให้นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เรียนรู้การใช้งานและการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์คลาวด์คอมพิวติ้งหลักของ อาลีบาบา คลาวด์ เช่น การประมวลผลและพื้นที่เก็บข้อมูลแบบยืดหยุ่น (elastic computing and storage) และความรู้เชิงปฏิบัติการด้านสถาปัตยกรรมคลาวด์ และเมื่อสอบผ่านนักศึกษาจะได้รับใบรับรองจากอาลีบาบา คลาวด์ 

Alibaba Cloud Academy เป็นแผนกฝึกอบรมและออกใบรับรองของอาลีบาบา คลาวด์ มีหลักสูตรที่มีใบรับรองทั้งออนไลน์และออฟไลน์มากกว่า 300 หลักสูตร มีการรับรองระดับมืออาชีพ 17 รายการ มีห้องปฏิบัติการแบบลงมือปฏิบัติจริงทางออนไลน์ 250 ห้อง โดยมีพันธมิตรที่เกี่ยวข้องมากกว่า 300 รายทั่วโลก นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยฯ จะมีสิทธิ์เข้าถึงแหล่งข้อมูลการอบรมออนไลน์ เพื่อฝึกฝนทักษะด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI)