2 ส.ค. 2567 124 0

รมว.ดีอี พบปะ ผู้นำชุมชน นราฯ เสริมทักษะรู้เท่าทัน 'สื่อสังคมออนไลน์' รับมือ 'ข่าวปลอม' ต้นตอโจรออนไลน์

รมว.ดีอี พบปะ ผู้นำชุมชน นราฯ เสริมทักษะรู้เท่าทัน 'สื่อสังคมออนไลน์' รับมือ 'ข่าวปลอม' ต้นตอโจรออนไลน์

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการจัดกิจกรรมเสริมสร้างการรับรู้เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center: AFNC) ร่วมด้วย ดร.เอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ดีอี, วัลลภ รุจิรากร เลขานุการรัฐมนตรีฯ และผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวง ดีอี ณ ห้องประชุมโสภาพิสัย ชั้น 6 โรงแรมตันหยง จังหวัดนราธิวาส




ประเสริฐ กล่าวว่า การสร้างความตระหนักรู้ สร้างภูมิคุ้มกันการใช้งานเทคโนโลยี และแนวทางป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ถือเป็นภารกิจสำคัญด้านการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัล ของกระทรวง ดีอี เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล สื่อสังคมออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ทั้งในการค้นหาความรู้ ติดต่อสื่อสาร หรือเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลเนื้อหาและข่าวสาร




ทั้งนี้ ปัจจุบัน พบว่าอาชญากรรมออนไลน์ เป็นปัญหาสำคัญส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง โดยสาเหตุหนึ่งของการเกิดอาชญากรรมทางออนไลน์ คือ ข่าวปลอม  ดังนั้น กระทรวง ดีอี ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญด้านการสร้างความเชื่อมั่นการใช้งานดิจิทัลของประชาชน จึงกำหนดจัดกิจกรรมนิทรรศการสร้างความรู้ และเสริมทักษะรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ให้กับผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน มีทักษะป้องกันและรับมือกับข่าวปลอม โดยปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพื่อให้เหมาะสมกับผู้เข้าร่วม เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมส่งต่อความรู้ และการสร้างภูมิคุ้มกันภัยข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ไปยังครอบครัว และชุมชน





สำหรับ ศูนย์ประสานงานและแก้ไขข่าวปลอม กระทรวง ดีอี ได้ดำเนินการผ่านการใช้งานเทคโนโลยี AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ในการวิเคราะห์เชิงลึก แยกแยะและตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริง ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน พร้อมเผยแพร่ให้ประชาชนเกิดการรับรู้ผ่านช่องทางต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยสามารถแจ้งแบะแส สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริง ได้ที่

เว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย www.antifakenewscenter.com  

Line OA: @antifakenewscenter

เฟซบุ๊ก แฟนเพจ : Anti Fake News Center Thailand

ทวิตเตอร์ (X) : https://twitter.com/AFNCThailand

Tiktok: @antifakenewscenter

Instagram : afnc_thailand



“ที่ผ่านมา กระทรวง ดีอี โดยศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ตรวจพบว่ามีข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนที่มีการแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีเนื้อหาไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง อาทิ ข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ข่าวภัยพิบัติ ข้อมูลความรู้เรื่องสุขภาพอนามัย ด้านนโยบายรัฐ และด้านอื่นๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศในวงกว้าง ซึ่งข่าวปลอม หรือข่าวบิดเบือนเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของช่องทางการก่ออาชญากรรมออนไลน์ ของมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายทั้งด้านทรัพย์สิน และข้อมูลส่วนบุคคล ของประชาชน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคมในการต่อต้านข่าวปลอม ให้กับประชาชน ทั้งในกลุ่มเยาวชน ผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ ซึ่งประชาชนถือเป็นพลังสำคัญในการร่วมกันต่อต้าน ป้องกัน และตัดวงจรช่องทางการก่ออาชญากรรมออนไลน์ของมิจฉาชีพ โดยเริ่มจากการสร้างเกราะป้องกันภายในครอบครัว ชุมชน ก่อนขยายไปสู่สังคมเป็นวงกว้างต่อไป” ประเสริฐ กล่าว