20 พ.ค. 2567 140 0

เตือนภัย 'โจรออนไลน์' หลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน สูญกว่า 6.5 ลบ. เผยยอดอายัดบัญชีเพิ่ม 4,700 ลบ.

เตือนภัย 'โจรออนไลน์' หลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน สูญกว่า 6.5 ลบ. เผยยอดอายัดบัญชีเพิ่ม 4,700 ลบ.

วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 16 – 19 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

คดีที่ 1 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 72,169 บาท ผู้เสียหายได้รับโทรศัพท์จากมิจฉาชีพ อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจ้งว่า จะคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้ พร้อมทั้งให้เบิกมิเตอร์เครื่องใหม่แทนมิเตอร์เก่า โดยให้เพิ่มเพื่อนผ่านช่องทาง Line จากนั้นส่งลิงก์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันการไฟฟ้าและกรอก ข้อมูลยืนยันตัวตนพร้อมเลขที่บัญชี ภายหลังผู้เสียหายพบว่ายอดเงินในบัญชีของตน ได้ถูกโอนออกไป จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก 

คดีที่ 2 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 2,239,613 บาท โดยผู้เสียหายได้รับข้อความ SMS ทางโทรศัพท์แจ้งว่า พัสดุมีปัญหาระหว่างขนส่งต้องการเคลม สินค้าเพื่อโอนเงินคืนให้จากบริษัท ขนส่ง Flash พร้อมส่งลิงก์ https://EbabyTHAI ผู้แจ้งหลงเชื่อจึงกดลิงก์ดังกล่าวแล้วเพิ่มเพื่อนช่องทาง Line ได้ทำตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่ ภายหลังผู้เสียหายได้เช็ดยอดเงินของตนเองพบว่าได้ถูกโอนออกไป จึงเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

คดีที่ 3 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 20,000บาท ผู้เสียหายสนใจกรมธรรม์ผู้สูงอายุ โดยได้ค้นหาผ่านช่องทาง Facebook พบเพจชื่อว่า “Thai stocks” จึงได้ทักสอบถามพูดคุยและสนใจซื้อกรมธรรม์ผู้สูงอายุ และได้โอนเงินชำระ เต็มราคา ภายหลังการโอนเงินผู้เสียหายได้สอบถามรายละเอียดการคุ้มครองของกรมธรรม์ เพิ่มเติมปรากฎว่าได้รับคำตอบบ้าง ไม่ได้รับคำตอบบ้าง และสุดท้ายก็ไม่สามารถติดต่อเพจได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 7,000 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายสนใจที่พักอาศัย ประเภทห้องพักรายเดือน จึงได้ค้นหาผ่านช่องทาง Facebook พบเพจชื่อว่า "Pe Ung" จึงได้ทักสอบถามพูดคุยและสนใจจองเช่าพักอาศัย โดยได้โอนเงิน ชำระพร้อมนัดหมายวันเข้าดูห้องพัก ภายหลังเมื่อถึงกำหนดวันนัดหมายไม่สามารถติดต่อเพจได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 5 หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 4,240,000 บาท ผู้เสียหายได้รู้จักมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ได้พูดคุยกันสนิทใจ มิจฉาชีพอ้างตนว่า มีอาชีพเป็นวิศวกรปิโตรเลียมพักอาศัยอยู่เป็นประเทศมาเลเซีย ต่อมาภายหลังได้ชักชวนให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับท่อส่งน้ำมันข้ามไปยังเกาะที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อสร้างรายได้ร่วมกัน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปลงทุนตามคำแนะนำแต่ก็ไม่ได้รับผลกำไร ภายหลังไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

      

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 6,578,782 บาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน  649,777 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,265 สาย

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 152,893 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 974 บัญชี

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 47,092 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 30.80 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 33,636 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 22.00 (3) หลอกลวงลงทุน 26,978 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 17.65 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 12,376 บัญชี คิดเป็นร้อยละ  8.09 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 10,128 บัญชี คิดเป็นร้อยละ  6.62 (และคดีอื่นๆ 22,683 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.84)

4. ยอดการอายัดบัญชี (1 พ.ย.66 – 17 พ.ค.67) ข้อมูลจาก ตร. (บช.สอท.) รวมทั้งประเทศ (1) ยอดขออายัด  9,943.9 ลบ. (2) ยอดอายัดได้  4,754.2 ลบ. (3) อายัดได้ ร้อยละ  47.81

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพได้ใช้การติดต่อผ่านช่องทางโซเชี่ยลมีเดียคือ Line  และFacebook  โดยบางเคสยังได้มีการส่งลิงก์เพื่อให้ผู้เสียหายกด ทั้งนี้จึงขอความร่วมมือประชาชนตรวจสอบบัญชีทางโซเชี่ยลมีเดียอย่างรอบคอบก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์หรืออัพโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ตามนโยบายเร่งด่วนของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยอยู่ในขั้นตอนการดำเนินระยะที่ 2 เพิ่มเติมอีก 30 วัน พร้อมวางมาตการรเร่งด่วนในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบจากอาชญากรรมออนไลน์ของประชาชน” วงศ์อะเคื้อ กล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441