26 เม.ย. 2567 55 0

'ต่อกล้าอาชีวะ' ปี 67 ปั้นนวัตกรสายอาชีวะ สู่ Young Smart IoT Technician ด้วย IIoT

'ต่อกล้าอาชีวะ' ปี 67 ปั้นนวัตกรสายอาชีวะ สู่ Young Smart IoT Technician ด้วย IIoT

ต่อกล้าอาชีวะ” ปี 67 ปั้นนวัตกรสายอาชีวะ สู่ Young Smart IoT Technician ด้วย IIoT เสริมแกร่งแรงงานในหลากอุตสาหกรรม S-Curve มุ่งสู่ Industry 4.0


บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพในการพัฒนาผลงาน โครงการ "ต่อกล้าอาชีวะ" ปี 2567 : พัฒนา Young Smart IoT Technician ในระหว่างวันที่ 24-28 เมษายน 2567 มุ่งเสริมทักษะและความเข้าใจเทคโนโลยีด้าน IoT ให้กับผู้สอนและนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา โดยนักศึกษาจะได้พัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญ อาทิ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์  ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานเป็นทีม ด้านอาจารย์มีทักษะการเป็นโค้ชสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนการสอน เสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาให้พร้อมไปสู่การทำงานจริงในภาคอุตสาหกรรม หวังบ่มเพาะเยาวชนเป็นแรงงานนำองค์ความรู้เสริมกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการสู่ Industry 4.0 ในหลายอุตสาหกรรม S-Curve โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอนาคต


ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งการพัฒนาบุคลากรวิจัย การสร้างแรงบันดาลใจ และการอัพสกิล-รีสกิลให้บุคลากรทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงการร่วมพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มทักษะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม (Careers for the Future) และส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน วทน. ไปสู่การใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ ในส่วนของ เนคเทค ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนนักศึกษาระดับอาชีวะศึกษาที่มีทักษะด้านดิจิทัล และเชื่อว่าเทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IoT) เป็นหนึ่งทักษะพื้นฐานสำคัญเพื่อที่จะช่วยยกระดับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ Industry 4.0 อีกทั้งยังสอดคล้องกับผลสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเรื่องทักษะแรงงานในกระบวนการผลิตที่ผู้ประกอบการต้องการในปัจจุบันที่ต้องมีทักษะทางด้าน IIoT เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยตามแผนอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศ


เนคเทคได้เริ่มนำร่องด้วยการพัฒนาหลักสูตร IoT และ IIoT ช่วยในพัฒนาทักษะนักศึกษาระดับอาชีวะศึกษา ทางด้านเทคโนโลยี IoT ตามโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องการ ได้แก่ Productivity, OEE, Production line monitoring, Warehouse management เป็นต้น ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้สัมผัสกับเครื่องมืออุปกรณ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังจะได้รับการพัฒนาทักษะอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้าน Soft Skills ตลอดจนแนวคิดแบบ Enterpreneur โครงการต่อกล้าอาชีวะมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและนับเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาทักษะให้กับกลุ่มอาชีวะที่ดีที่สุดหลักสูตรหนึ่งในประเทศ


ดร. สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ โฆษกประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การอาชีวศึกษา โดยคำนึงถึงบริบทของประเทศ ความต้องการของตลาดแรงงาน และทิศทางการพัฒนาของประเทศ มีความยินดีที่ทุกภาคส่วนทั้งภาคศึกษา ภาครัฐ และเอกชน ต่างร่วมมือกันดำเนินงานส่งเสริมทักษะของเยาชนสายอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ กระทรวงศึกษาธิการ  1) ผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพ ให้เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพและสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ 2) เพิ่มโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการเรียนรู้วิชาชีพ ด้วยรูปแบบวิธีการที่ยืดหยุ่น หลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพของคนทุกช่วงวัย 3) เสริมสร้างและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการระดมทรัพยากร และยกระดับคุณภาพ การอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ 4) การยกระดับคุณภาพหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์การศึกษาแห่งอนาคต และเชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานทั้งในระดับชาติและระดับสากล 5) การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสูงขึ้น 6) พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล


ดร.สุรพงษ์  เอิมอุทัย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่าโครงการต่อกล้าอาชีวะมีเป้าหมายสอดคล้องกับแผนพัฒนาการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2560 – 2579 มีภารกิจในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพในระดับฝีมือ (ปวช.) ระดับเทคนิค (ปวส.) และระดับเทคโนโลยี (ปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ) รวมทั้งการฝึกอบรมวิชาชีพจะช่วยเพิ่มพูนความรู้และการฝึกทักษะอาชีพให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรม คุณภาพ มุ่งหวังให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล โดยความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาทักษะแรงงานไทย ตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการ รวมถึงการประกอบอาชีพอิสระให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานในระดับสากล ขยายโอกาสทางการศึกษาทางวิชาชีพให้กับประชาชนทุกช่วงวัย   


ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทย  โดยให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องจึงได้ร่วมมือกับ เนคเทค สวทช. ดำเนินกิจกรรม โครงการ "ต่อกล้าอาชีวะ" ซึ่งมีแผนการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อการพัฒนาทักษะกำลังคนด้านดิจิทัลในระดับอาชีวศึกษา สร้างกลุ่ม Young Smart Technician สำหรับนักเรียน นักศึกษา และพัฒนาครูให้เป็น Technician Coaching Teacher ให้มีคุณภาพรองรับความต้องการของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นสิ่งสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับรองรับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต  


ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า โครงการ "ต่อกล้าอาชีวะ" ปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “พัฒนา Young Smart IoT Technician”  มุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IIoT) อันเป็นทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ให้กับน้อง ๆ เยาวชนอาชีวะศึกษา ผ่านการทำโครงงานที่มีโจทย์มาจากสถานประกอบการเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ เป็นการบูรณาการความรู้จากห้องเรียนไปสู่การประยุกต์ใช้งานจริง นักศึกษาสามารถเลือก IoT Platform ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการพัฒนาทักษะทางด้าน soft skill ต่าง ๆ เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานเป็นทีม อาจารย์มีทักษะการเป็นโค้ช สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาให้พร้อมไปสู่การทำงานจริง 


โดยในปีแรก ปี 2567 เน้นการพัฒนา Yong Smart IoT Technician ปี 2567 โครงการฯ จะนำร่องการสร้างกลุ่ม Young Smart Technician ด้วย เทคโนโลยี IIoT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการยกระดับกระบวนการผลิตสู่ Industry 4.0 และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกอุตสาหกรรม S-Curve นอกจากนี้ยังวางแผนพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ที่เหมาะสม ทั้งกับครูผู้สอนและนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา เพื่อตอบเป้าประสงค์หลัก 3 ข้อ ได้แก่ 

1. อาจารย์และนักศึกษามีทักษะและความเข้าใจ เทคโนโลยีด้าน IoT ทั้งทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเชื่อมต่ออุปกรณ์กับระบบอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการเลือก IoT Platform ได้เหมาะสมกับปัญหาและสถานการณ์

2. นักศึกษาพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จำเป็น นักนักศึกษามีทักษะการคิดวิเคราะห์, ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์, ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานเป็นทีม และอาจารย์มีทักษะการเป็นโค้ช เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาให้พร้อมไปสู่การทำงานจริง

3. อาจารย์และนักศึกษาเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อการจัดการเรียนการสอนและพร้อมสำหรับการฝึกประสบการณ์ในภาคอุตสาหกรรมภาคเอกชนเห็นความสามารถของนักศึกษา ก่อนรับเข้าฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ 


โดยโครงการฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 มีอาจารย์และน้อง ๆ สมัครเข้าร่วมโครงการ 36 ทีม จากสถาบันอาชีวศึกษา 25 สถาบัน ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ เป้าหมายคัดเลือกเพียง 20 ทีมเท่านั้นที่ผ่านเข้ามาร่วมค่ายการอบรมซึ่งในวันนี้ได้น้อง ๆ ทั้งหมด 19 ทีม จาก 12 สถาบัน ใน 10 จังหวัด ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาผลงาน จำนวน 30,000 บาท และชุดอุปกรณ์สื่อการสอน Rasbery Pie จำนวน 2 ชุด ให้กับอาจารย์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในการเรียนการสอนวิทยาลัย