18 เม.ย. 2567 296 2

BDI จับมือ กทม. ทำ MOU เชื่อมข้อมูลสุขภาพชาวกรุงกับหน่วยบริการทุกระดับ คาด พ.ค.นี้ นำร่องครอบคลุม 10 เขต

BDI จับมือ กทม. ทำ MOU เชื่อมข้อมูลสุขภาพชาวกรุงกับหน่วยบริการทุกระดับ คาด พ.ค.นี้ นำร่องครอบคลุม 10 เขต

สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI โดย รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อํานวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ พร้อมด้วย รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือโครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (Health Information Exchange: Health Link) โดยมี นพ.ธนกฤต จินตวร First Executive Vice President, BDI ร่วมเป็นสักขีพยาน


รศ.ดร.ธีรณี กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่สำคัญของชาวกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เข้าสู่ระบบสาธารณสุขแบบไร้รอยต่อทุกรูปแบบ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาลโดยต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ป่วยเท่านั้น ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ทำให้แพทย์สามารถดูประวัติการรักษาของสถานพยาบาลข้ามสังกัด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการตรวจวินิจฉัยซ้ำซ้อน และสามารถได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ทันท่วงที ตลอดจน กทม. สามารถใช้ประโยชน์จากการเชื่อมข้อมูลสุขภาพ เพื่อวางแผนบริหารจัดการเมืองเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป


“เรามั่นใจว่า ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลมีกลไกการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มแข็ง มีการยืนยันตัวตนของประชาชน และแพทย์ การเข้ารหัสข้อมูลและระหว่างจัดส่งข้อมูล รวมถึงมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยอย่างดี ปัจจุบัน Health Link เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในพื้นที่ กทม. แล้วกว่า 100 แห่ง พร้อมขยายการเชื่อมโยงไปยังคลินิกชุมชนอบอุ่น ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  และร้านยาคุณภาพที่ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรมและขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในกลางปีนี้” ผู้อำนวยการ BDI กล่าว


ด้าน รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพที่สำคัญระหว่างหน่วยบริการทุกระดับในพื้นที่ กทม. เพื่อตอบสนองนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ โดยการดำเนินงานในเฟสแรกของ กทม. จะเริ่มนำร่องที่ Bangkok Health Zoning 3 ผ่านระบบ Health Link ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางของภาครัฐ มีการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ISO 27001 คาดว่า จะเปิดใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในพื้นที่นำร่องดังกล่าวได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ พร้อมขยายผลต่อให้ครบทั้ง 7 โซนสุขภาพต่อไป



สำหรับ Bangkok Health Zoning 3 พื้นที่นำร่องดังกล่าว ประกอบด้วย โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 17 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  และร้านยาคุณภาพที่ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรมและขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 10 เขต ได้แก่ ปทุมวัน สาทร บางรัก วัฒนา คลองเตย พระโขนง ยานนาวา ทุ่งครุ บางคอแหลม และราษฎร์บูรณะ