11 เม.ย. 2567 123 0

ETDA บูสต์เอเนอร์จี ชาวออฟฟิศ! AI ตัวช่วยทำงาน ใช่แค่ใช้ได้ แต่ต้องใช้เป็น

ETDA บูสต์เอเนอร์จี ชาวออฟฟิศ! AI ตัวช่วยทำงาน ใช่แค่ใช้ได้ แต่ต้องใช้เป็น

เทรนด์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแสทอล์คออฟเดอะทาวน์เท่านั้น แต่วันนี้ AI ได้ข้ามเส้นแบ่งการทำงาน จากเดิมที่จำกัดแค่ ‘มนุษย์’ ก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในฐานะ ‘ผู้ช่วย’ แล้ว และดูเหมือนว่าคนทำงานก็พร้อมยอมรับ ผู้ช่วยคนนี้อย่างสนิทใจ และแทบจะขาดผู้ช่วยคนนี้ไม่ได้ด้วย เพราะจากผลสำรวจของ Salesforce ที่สำรวจพนักงานในประเทศไทยเกี่ยวกับการใช้ AI กับการทำงาน พบว่า กว่า 90% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เคยใช้ AI มาช่วยทำงานในกลุ่มงานทั่วไป (Daily Task) ที่ต้องเสียเวลาในการจัดการมากแต่ได้ประสิทธิผลในเชิงการทำงานน้อย ขณะที่คนทำงานเกือบทุกคนที่ใช้ (กว่า 99%) มองว่า AI ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ (Productivity) มากขึ้น และกว่า 92% ลงความเห็นว่า AI ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น  แต่ในทางกลับกัน กว่า  77% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เปิดเผยว่า องค์กรที่พวกเขาทำงานอยู่ ไม่มีนโยบายในการผลักดันหรือสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน


ในวันที่…ชาวออฟฟิศต่างเริ่มปรับตัวไปไกล นำ AI มาช่วยทำงาน ทั้งในมุมการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดเวลาการทำงาน จนบางครั้งอาจล้ำหน้าหน่วยงานหรือองค์กรของตนเองไปเเล้วด้วยซ้ำ แต่สำหรับชาวออฟฟิศคนไหนที่สนใจอยากใช้เครื่องมือ AI แต่ไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหน วันนี้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ที่มุ่งส่งเสริม สนับสนุนให้คนไทยชีวิตดี…เมื่อมีดิจิทัล   จึงอยากพาทุกคนไปบูสต์เอเนอร์จี การทำงานให้ดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยี AI ที่ไม่เพียงใช้ได้ แต่ต้องใช้เป็นแบบรู้ทัน และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงตามมา

ส่องเครื่องมือ AI ผู้ช่วยจัดการงานสารพัด ‘ไม่ต้องลงแรง ให้เสียเวลา’


พัฒนาการ AI ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาเติบโตไปไวอย่างก้าวกระโดด จาก AIที่ใช้กับงานเฉพาะด้าน      อย่าง ด้านการแพทย์ งานด้านเทคโนโลยี หรืองานด้านการศึกษา ต่อยอดสู่เครื่องมือ AI ที่ช่วยจัดการงานที่ต้องใช้เวลา ให้ร่นเวลาได้เร็วขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของหนุ่มสาวคนทำงานออฟฟิศได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราจึงขอเลือกหยิบ AI ตัวเด็ด ตัวดังที่ชาวออฟฟิศยุคดิจิทัลต้องห้ามพลาด มาให้ทุกคนได้ทำความรู้จัก เพื่อเป็นผู้ช่วยจัดการสารพัดงาน ที่ไม่ต้องลงแรงให้เสียเวลาอีกต่อไป

  • AI Chatbot (เอไอ แชทบอท) - น่าจะเป็น AI กลุ่มที่ไม่ว่าชาวออฟฟิศ หรือคนที่สนใจข่าวสายเทค ต่างรู้จักกันดี เพราะมีมาให้เลือกใช้งานกันหลายเจ้า และที่สำคัญ สามารถดาวน์โหลดมาใช้กันแบบฟรีๆ โดยเครื่องมือ AI ในกลุ่มนี้ มักนิยมนำมาใช้ในการช่วยหาข้อมูล ถาม - ตอบเรื่องที่สงสัย ช่วยวาง concept งานเขียนหรือเรื่องราวต่างๆ  แถมยังสามารถกำหนดบทบาทให้ AI ตอบคำถามในมุมมอง บทบาท ตามที่ต้องการได้ด้วย นอกจากนี้ ยังช่วยแปลภาษา ตรวจคำผิด และล้ำจนถึงขนาดให้ช่วยเขียนงานได้ด้วย  AI Chatbot ที่สายเขียนมักใช้และคุ้นเคยกัน ได้แก่ ChatGPT (แชท จีพีที) หรือน้องใหม่อย่าง Gemini (เจมีไน) นอกจากนี้ยังมี AI Chatbot สัญชาติไทย Alisa (อลิสา) ที่เป็นอีกทางเลือกให้ไปลองใช้งานกันด้วย
  • AI ช่วยจัดการงานรายวัน – ทั้งการสรุปประชุม หรือ จัดตารางงาน ที่แม้เป็นงานยิบย่อย ดูง่ายๆ  แต่รวมๆ กันแล้วกินเวลาทำงานในแต่ละวันไม่น้อยเลยทีเดียว โดย  AI ที่เข้ามาช่วยจัดการงานรายวัน ช่วยติดสปีดการทำงาน ให้เราสามารถโฟกัสงานสำคัญๆ ได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะมี Notion (โนชั่น) AI ผู้ช่วยจัดตารางงานทั้งงานส่วนตัว หรือจะใช้ร่วมกันทั้งองค์กร ตารางนัดหมาย ไปจนถึงช่วยจดบันทึกอัตโนมัติได้ด้วย แต่ถ้าชาวออฟฟิศที่ติดการประชุมน่าจะต้องชอบตัวนี้ Sembly (เซมบลิ) AI ช่วยวิเคราะห์ นำเสนอประเด็นสำคัญ และสรุปการประชุมจากเสียงให้เราได้ด้วย
  • AI ช่วยออกแบบ – งานออกแบบภาพ งาน Presentation ที่เสียเวลาจัดหน้าให้สวยงามกว่าครึ่งค่อนวัน จะถูกย่นระยะเวลาลง ให้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ด้วย AI ที่ช่วยออกแบบ อย่าง Canva (แคนวา) ที่ช่วยสร้างรูปแบบงานนำเสนอให้ตรงใจได้เพียงแค่ใส่คีย์เวิร์ดที่ต้องการ และล้ำมากขึ้นด้วยการสร้างภาพจากข้อความ รวมไปถึงสร้างแอนิเมชันสั้นๆ ได้ด้วย ส่วนสายการตลาดออนไลน์แนะนำว่าควรมี Simplified (ซิมพลิฟายด์) เป็นผู้ช่วยเพราะ AI ตัวนี้สามารถช่วยงานออกแบบ สร้างสรรค์คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียให้ออกมาตรงโจทย์ ตรงใจทั้งหัวหน้าและลูกค้า อีกทั้งยังช่วยตัดต่อวิดีโอได้ด้วย นอกจากนี้สายกราฟฟิคต้องไม่พลาดสำหรับ Midjourney (มิดเจอร์นีย์) ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อสร้างภาพตามคำอธิบาย ทำได้ง่าย และสะดวกสำหรับสร้างภาพใหม่ๆ ที่อาจจะไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ได้

AI ช่วยทำงานให้มีประสิทธิภาพ ใช่แค่ใช้เป็น แต่ต้องรู้ข้อจำกัด


แม้ว่า AI จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยคนเก่งที่มากความสามารถและตอบโจทย์หลายด้าน แต่ชาวออฟฟิศ คนใช้งาน ก็อย่าลืมว่า AI ไม่ใช่มนุษย์ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเราได้ทั้งหมด และมีข้อจำกัดในหลายเรื่องที่เราต้องรู้ ซึ่งศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AIGC (AI Governance Center) โดย ETDA ก็ได้มีข้อแนะนำเกี่ยวกับข้อควรรู้ในการนำ AI มาช่วยทำงานให้ได้งานดี แฮปปี้กันทุกฝ่าย เช่น ข้อมูลที่ได้จาก AI ต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้งาน, การตั้งคำถามหรือป้อนคำสั่ง (Prompt) ควรกำหนดบทบาทการทำงานให้ AI อย่างชัดเจน เพื่อให้ได้งานตามที่ต้องการ, เลี่ยงการกรอกข้อมูลสำคัญๆ หรือข้อมูลที่เป็นความลับ เช่น ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลขององค์กร เพื่อไม่ให้ AI เรียนรู้ข้อมูลเหล่านี้ และเกิดการหยิบข้อมูลของเราไปใช้งานกับคนอื่น ที่ป้อนคำสั่งในลักษะคล้ายกันกับเรา รวมถึงติดตามข่าวสารการอัปเดตเกี่ยวกับเครื่องมือ AI Generative อยู่เสมอ เพื่อให้การใช้เครื่องมือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

AI ผู้ช่วย สร้าง  ‘Work – Life Balance’ ของชาวออฟฟิศ


จากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2566 โดย สสส. พบว่า คนไทยใช้เวลามากกว่า 1 ใน 3 ของวันไปกับการทำงาน ซึ่งลักษณะของงาน สังคมการทำงาน และปริมาณงาน (Workload)มีผลต่อสุขภาพจิตของคนทำงาน ผลการศึกษาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ชาวออฟฟิศ คนทำงาน กำลังติดอยู่ในวังวน ‘Work ไร้ Balance’ จากการต้องเสียเวลาทำงานยิบย่อยเอง จึงนับว่าเป็นข้อดีไม่น้อย ที่คนทำงานจะรู้จักการใช้เครื่อง AI มาเป็นผู้ช่วยในการทำงาน โดยเฉพาะในงานยิบย่อยที่เสียเวลาในการจัดการมาก แต่ได้ผลงานหรือ Output ไม่มากเท่าที่ควร และยิ่งถ้าใช้งานอย่างเข้าใจตามข้อแนะนำ ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีมากขึ้น


เมื่อเราใช้เวลาในการทำงานที่ลดลง แถมยังได้งานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาไม่ใช่แค่แฮปปี้ในการทำงาน ได้รับคำชมจากหัวหน้า หรือ เพื่อนร่วมงานเท่านั้น แต่เชื่อไหมว่า เรายังจะได้ ความสมดุลของชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว หรือที่เรียกว่า ‘Work – Life Balance’ อย่างคาดไม่ถึงและนี่คือหนึ่งตัวอย่างเรื่องราวดีๆ ของการมีชีวิตดี…เมื่อมีดิจิทัล ที่ ETDA นำมาฝากให้ทุกคนได้อัปเดตพร้อมกัน สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดเรื่องราวดีๆ แบบนี้ ติดตามได้ที่เพจ ETDA Thailand

###

ข้อมูลอ้างอิง

- https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/10-ChatGPT.aspx 

- https://www.thansettakij.com/technology/technology/580541 

- https://www.matichonweekly.com/column/article_707906