19 มี.ค. 2567 254 18

'ดีอี' หารือกัมพูชากวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมร่วมแก้ปัญหาสถานีสัญญาณโทรคมฯ ผิดกฎหมายแถบชายแดน

'ดีอี' หารือกัมพูชากวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมร่วมแก้ปัญหาสถานีสัญญาณโทรคมฯ ผิดกฎหมายแถบชายแดน

วานนี้ (18 มีนาคม 2567) ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมด้วย เอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ, เอกอร คุณาเจริญ อัครราชทูต และพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงาน กสทช. และสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เข้าร่วมหารือทวิภาคี กับ H.E. Chenda Thong ประธานหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (Telecommunication Regulator of Cambodia หรือ TRC) และคณะ ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา


ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยเป็นการยกระดับการดำเนินการเพื่อปราบปรามแก๊ง Call Center และ Online Scam ซึ่งเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการยกระดับความร่วมมือและการดำเนินงานของอาเซียนในการจัดการและรับมือกับปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ โดยจากการประชุมหารือทวิภาคี ไทยได้แลกเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินงานร่วมกับกัมพูชา ซึ่งพบว่าหลายเรื่องมีแนวทางดำเนินการคล้ายกัน แต่มีข้อสังเกตว่ากัมพูชามีแนวทางในการปิดกั้น URL ที่เข้าข่ายหลอกลวง และการส่งข้อมูลให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมและ ISP ดำเนินการปิดกั้นที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งแนวทางนี้ไทยสามารถนำกลับไปปรับใช้ได้เพื่อให้เกิดการปิดกั้นได้ทันที ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ได้มีการหารือกับ เชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครข้าราชทูต ณ กรุงพนมเปญ พบว่า ปัจจุบันคนไทยที่ข้ามมาทำงานในกัมพูชาจำนวนมาก อาจจะไม่ใช่เหยื่อ และอาจจะมีการทำความผิดอาญาในประเทศไทย แต่ยังไม่หลักฐานที่ชัดเจน สถานทูตไทยจึงได้มีการตกลงที่จะสนับสนุนงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับแก๊ง Call Center การหลอกลวงออนไลน์ โดยจะให้ข้อมูลคนไทยที่ข้ามมาทำงาน เพื่อให้มีการวิเคราะห์ ตรวจสอบในเชิงลึกที่จะสามารถเข้าถึงการใช้บัญชีม้า รวมถึงเป็นกลไกสำคัญที่จะใช้ในการติดตามการฟอกเงินเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป  


ด้านประธาน TRC กล่าวว่า ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์เป็นเรื่องที่รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญเพราะกัมพูชาประสบปัญหาเช่นเดียวกับไทย ที่ผ่านมาเกิดความเสียหายอย่างมาก และมีรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยกัมพูขาต้องการมีความร่วมมือกับไทยในการจัดการแก้ไขปัญหา พร้อมกันนี้ได้กล่าวชื่นชมการทำงานของไทยในการเสนอเรื่อง Anti Online Scam ในเวทีอาเซียน

ทั้งนี้ กัมพูชาพร้อมจะให้ความร่วมมือกับไทยเกี่ยวกับปัญหาที่คนไทยข้ามแดนไปทำงานเป็นแก๊ง Call Center ปัญหาบัญชีม้า และในกรณีที่มีการจับและส่งตัวกลับหรือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีชั้นความลับ หรืออาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เห็นควรให้ประสานงานกับสถานทูตไทยในกัมพูชา และเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันให้มีแพลตฟอร์มในการติดต่อระหว่างกัน


อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการขยายกรอบความร่วมมือเดิม โดยจัดทำความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MOU) ฉบับใหม่ เพื่อขยายขอบเขตของความร่วมมือ ที่จะทำให้ทั้งไทยและกัมพูชาสามารถทำหลายๆ เรื่องในการป้องกันภัยจากเทคโนโลยีได้เพิ่มมากขึ้น และเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้ จากการหารือกัมพูชายินดีร่วมกันแก้ไขปัญหาสถานีสัญญาณโทรคมนาคมผิดกฎหมายบริเวณชายแดน โดยสำนักงาน กสทช. จะประสานงานกับทาง TRC และในด้าน Cybersecurity สกมช. ยินดีสนับสนุนการยกร่างกฎหมาย Cybersecurity ของกัมพูชา และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ThaiCERT และ CamCERT ที่ดีระหว่างกัน