18 มี.ค. 2567 11,047 2

รมว.ดีอี ตรวจเยี่ยมโรงเรือนเห็ดอัจฉริยะวิสาหกิจชุมชน จ.เชียงราย หวังปั้นผลิตผลขึ้นแท่นซอฟต์พาวเวอร์ไทย

รมว.ดีอี ตรวจเยี่ยมโรงเรือนเห็ดอัจฉริยะวิสาหกิจชุมชน จ.เชียงราย หวังปั้นผลิตผลขึ้นแท่นซอฟต์พาวเวอร์ไทย

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) พร้อมด้วย สุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีดีอี, วัลลภ รุจิรากร เลขานุการรัฐมนตรีดีอี, เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี, ชมภารี ชมภูรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอี, กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุอนิยมวิทยา, ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ, พรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยมผลการดําเนินโครงการระบบควบคุมความชื้นในโรงเรือนเห็ดอัจฉริยะของวิสาหกิจชุมชนสวนเห็ดกรรณิกา โดยการนำเทคโนโลยี IoT: Smart Farm มาประยุกต์ใช้ควบคุมความชื้นให้ความชื้นด้วยระบบการให้น้ำแบบพ่นหมอก และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชน


สำหรับวิสาหกิจชุมชนสวนเห็ดกรรณิกา ผลิตดอกเห็ดในถุงพลาสติกหลายชนิด เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็นโคนญี่ปุ่น ฯลฯ เดิมใช้แรงงานคนรดน้ำด้วยวิธีการเปิดปั๊มน้ำและพ่นละอองออกด้วยมินิสปริงเกอร์ โดยได้ทดลองใช้ตัวตั้งเวลา (Timer) แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์ในแต่ละวันไม่เท่ากัน อีกทั้งกระบวนการและละอองน้ำที่ได้จากมินิสปริงเกอร์ไม่มีความสม่ำเสมอ ทําให้เห็ดที่โดนน้ำมากฉ่ำน้ำ ขณะที่เห็ดที่โดนน้ำน้อยกรอบแห้ง ผลผลิตจึงไม่สม่ำเสมอทั้งฟาร์ม ซึ่งวิสาหกิจชุมชนสวนเห็ดกรรณิกาได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT: Smart Farm จาก ดีป้า โดยนำมาใช้กับโรงเรือนเพาะเห็ดทั้ง 7 โรงเรือน ผ่านการควบคุมโดยระบบชุดควบคุมอัจฉริยะสําหรับระบบพ่นหมอกในโรงเรือนเห็ดทำให้เกิดผลสําเร็จของโครงการ ดังนี้

1. ลดต้นทุนค่าแรงงานลงไม่น้อยกว่า 30% คิดเป็นจํานวนเงิน 46,537.50 บาทต่อปี (โดยประมาณ)

2. ลดการสูญเสียของก้อนเห็ด ประมาณ 5-7% ของจํานวนก้อนเห็นในโรงเรือน คิดเป็น 250 - 350 ก้อน (โดยประมาณ)

3. มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 20% คิดเป็นเงิน 302,400 บาท (โดยประมาณ)

4. มีระบบ Smart Farm เห็ด 1 ระบบ บริหารจัดการ 7 โรงเรือน


ประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี โดย ดีป้า มุ่งส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาด้านการเกษตร ทดแทนการทํางานรูปแบบเดิม การใช้เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อจัดการด้านเพาะปลูก โดยดําเนินการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ให้ออกมาเป็นแนวทาง หรือวิธีการต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการสูญเสียของผลิตผล บูรณาการการปฏิบัติงานกับกรมอุตุนิยมวิทยาในการส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถทราบผลการพยาการณ์อากาศล่วงหน้า ช่วยเตือนภัยธรรมชาติและรับทราบข้อมูลสภาพอากาศ รวมถึงปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าในพื้นที่ได้อย่างแม่นยํา เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการทรัพยากร ตลอดจนวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อีกทั้งต่อยอดกระบวนการและผลิตผลของชุมชนด้วยเอกลักษณ์ไทย กลายเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของประเทศได้


“จากการร่วมลงพื้นที่ในวันนี้ นอกจากจะได้เห็นถึงความสำเร็จของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วยังได้เห็นโอกาสของการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ อุตสาหกรรมอาหารด้วยมาตรฐานของผลิตผล รวมถึงกระบวนการการผลิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่จะสามารถนำมาเป็นจุดขายของชุมชน เปิดเมือง เปิดให้ทั้งชาวไทยเองและชาวต่างชาติได้เข้ามาเยี่ยมชม ท่องเที่ยว สร้างซอฟต์พาวเวอร์ด้านไลฟ์สไตล์แบบไทยๆ และกลายเป็นแรงดึงดูด กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้” รมว.ดีอี กล่าวเสริม