18 มี.ค. 2567 2,195 2

รมว.ดีอี ลุยจัดระเบียบสายสื่อสารลงดิน จ.เชียงราย คืนความสวยงามพื้นที่เมือง

รมว.ดีอี  ลุยจัดระเบียบสายสื่อสารลงดิน จ.เชียงราย คืนความสวยงามพื้นที่เมือง

วันนี้ (18 มีนาคม 67) ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินทางประชุม ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 18 - 19 มีนาคม 2567 ณ จังหวัดพะเยา ลงพื้นที่ตรวจราชการงานนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เทศบาลนครเชียงราย อ.เมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จํากัด (มหาชน) พร้อมด้วย สุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ, วัลลภ รุจิรากร เลขานุการรัฐมนตรีฯ, เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี, ชมภารี ชมภูรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ, กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุอนิยมวิทยา, ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งขาติ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การนำ   สายสื่อสารทุกประเภทลงใต้ดิน ในพื้นซึ่งเป็นตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจ การค้า   การลงทุน และการท่องเที่ยวระดับสากลและเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC - Creative LANNA) เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของจังหวัด ประกอบกับมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จากความสำคัญดังกล่าว เทศบาลนครเชียงราย และเทศบาลตำบลแม่สาย จ.เชียงราย ให้ดูสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีสายไฟฟ้าหรือสายสื่อสารรกรุงรังบดบังทัศนียภาพของสถานที่ท่องเที่ยว และเพื่อความปลอดภัยแก่ประชาชน นักท่องเที่ยว รวมทั้งรองรับการพัฒนาเขตเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จะสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐจากการให้เช่าใช้ท่อร้อยสายหรือสายสื่อสารใต้ดินให้แก่ผู้ให้บริการรายอื่นๆ อีกด้วย





ทั้งนี้ การนำสายสื่อสารทุกประเภทลงใต้ดิน ทำให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ ดังนี้

1. ทำให้พื้นที่ของ เทศบาลนครเชียงราย อ.เมืองเชียงราย และ เทศบาลตำบลแม่สาย อ.แม่สาย หรือจุดท่องเที่ยวที่มีการนำสายสื่อสารลงใต้ดินมีทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม เพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน     

2. ระบบการสื่อสารและโทรคมนาคมมีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากลดปัญหาผลกระทบที่เกิดจาก การพาดสายบนอากาศ เช่น การถูกสัตว์กัดแทะ การเกิดไฟไหม้

3. สามารถรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่สูงขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจสังคม และขีดความสามารถในการแข่งขันในการก้าวสู่การเป็นผู้นำการขับเคลื่อน และยกระดับการสื่อสาร และดิจิทัลให้กับประเทศ รองรับการพัฒนาเขตเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และนโยบายไทยแลนด์ 4.0

5. สร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐจากการให้เช่าท่อร้อยสาย และสายสื่อสารใต้ดิน