12 มี.ค. 2567 397 3

รมว.ประเสริฐ ดีอี เปิดมุมมอง AI ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย เพิ่มทักษะงาน ตลอดจนสร้าง Cyber Vaccine

รมว.ประเสริฐ ดีอี เปิดมุมมอง AI ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย เพิ่มทักษะงาน ตลอดจนสร้าง Cyber Vaccine
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าว ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เทคโนโลยีดิจิทัลกับการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย” ในงาน SPRiNG NEXT STEP THAILAND 2024 : Next Eco-System Tech & Sustain

ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลนับเป็นกุญแจสำคัญที่เข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ขับเคลื่อนนโยบาย “The New Growth Engine of Thailand” ที่มีเครื่องยนต์เล็ก 3 เครื่อง ในการยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัล, การสร้างความปลอดภัยมั่นคงทางดิจิทัล, และการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล  โดยกระทรวงดิจิทัลฯ เล็งเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ที่สำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI โดยเฉพาะการพัฒนา Generative AI จากบริษัทชั้นนำระดับโลก ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มทักษะการทำงาน รวมถึงการดำรงชีวิตของประชาชน เพื่อเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพของมนุษย์และ AI หรือที่เรียกกันว่า Co-pilot อาทิ ใช้ในการช่วยเขียนและสรุปบทความ วิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญประกอบการตัดสินใจ รวมถึงการสร้างรูปหรือวิดีโอที่ต้องการอย่างอิสระ


อย่างไรก็ตาม การใช้ AI ร่วมกับมนุษย์ จำเป็นต้องมีการพัฒนากลไกต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและป้องกันไม่ให้ AI กลับกลายเป็นเครื่องมือที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำเสียเอง โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ภายใต้ flagship ในปี 2567 เรื่อง AI Agenda ได้มีแผนที่จะดำเนินการตามกลไก อันประกอบด้วย

1. การสร้างกฎระเบียบ และมาตรฐานเพื่อควบคุมการใช้ AI

2. การพัฒนา AI กลางของภาครัฐที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

3. การให้ความรู้แก่ประชาชนในการใช้ AI รวมถึงการพัฒนากำลังคนด้าน AI

4. การส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและสนับสนุนการใช้งาน AI ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

การยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วถึง สร้างกลไกคุ้มครองความปลอดภัยทางไซเบอร์ และส่งเสริมให้มีทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็น ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถช่วยยกระดับคนไทยให้ดีขึ้นในทุกมิติ” รมว.ดีอีกล่าว 

นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยังเห็นความสำคัญที่ต้องแก้ปัญหาเชิงรุกในการจัดการต้นเหตุและป้องกันด้วยมาตรการเชิงรับในการเพิ่มภูมิคุ้มกันด้านไซเบอร์ของคนไทยทุกคน รวมทั้งกวาดล้างต้นตอของภัยออนไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสร้างความร่วมมือในเวทีระดับภูมิภาคและเวทีระดับโลก ในขณะเดียวกัน กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องการยกระดับการรู้ทันของคนไทยด้วย Cyber Vaccine เพื่อที่จะสามารถรู้ทันภัยและวิธีการ ด้วยการส่งเสริมให้คนไทยมีทักษะดิจิทัลที่จำเป็น