28 ก.พ. 2567 543 23

NIA พาจุดประกายผู้หญิงยุคใหม่ในโลกเทคโนโลยี เส้นทางสรรค์สร้างนวัตกรรมสุดอิมแพค และการส่งต่อความเท่าเทียมในสังคม

NIA พาจุดประกายผู้หญิงยุคใหม่ในโลกเทคโนโลยี เส้นทางสรรค์สร้างนวัตกรรมสุดอิมแพค และการส่งต่อความเท่าเทียมในสังคม

ในโลกปัจจุบัน “ผู้หญิง” ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเทียบเท่ากับผู้ชาย และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการก้าวเป็นผู้นำในการใช้นวัตกรรมมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ ซึ่งสัญญาณดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะการเคลื่อนที่ของโลกในวันนี้และอนาคตต้องการกำลังเสริมที่แข็งแกร่งให้กับวงการนวัตกรรม ทั้งประเด็นความหลากหลายของการวิจัย มุมมองความสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ อีกทั้งยังเป็นการปิดช่องว่างเรื่องเพศกับวงการวิทยาศาสตร์ให้ลดลงอีกด้วย โดยวันนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หนึ่งในผู้ส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศ จะพาไปรู้จักกับเรื่องราวของ 3 ผู้หญิงเก่งแห่งวงการนวัตกรรมที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมในวงกว้าง รวมถึงยังมีความเชื่อมั่นว่าพลังและศักยภาพของนวัตกรหญิงสามารถช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาชาติ และเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงเจเนอเรชันต่อไปสามารถก้าวสู่โลกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างมั่นใจ


“จอยไรด์ ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น” นวัตกรรมช่วยอัพคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตผู้สูงอายุให้แฮบปี้ในวัยเกษียณ

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) และจากข้อมูลพบว่าผู้สูงอายุทั่วประเทศต้องไปโรงพยาบาลประมาณ 3 แสนคนต่อวัน ซึ่งการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแต่ละครั้งลูกหลานบางส่วนอาจจะไม่ว่างพาไป รวมถึงการพาออกไปทำกิจกรรมอื่นข้างนอกบ้าน ส่งผลให้ผู้สูงอายุรู้สึกขาดความอบอุ่นหรือถูกทอดทิ้ง ประกอบกับเมื่อไม่ได้ทำงาน ก็เกิดความรู้สึกเหงาและคิดว่าตนเป็นภาระให้กับลูกหลาน ซึ่งมักจะทำให้เกิดปัญหาด้านสภาพจิตใจเพิ่มขึ้นทั้งความรู้สึกไม่ภูมิใจในตัวเอง น้อยใจ จนกลายเป็นภาวะซึมเศร้า



ดังนั้น การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและพึ่งพาตัวเองได้จึงกลายเป็นความท้าทายของผู้บริหารสาวคนเก่งอย่าง “จอย ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร“ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีล ออฟ จอย จำกัด ที่นำมาเป็นโจทย์ในการสร้างและพัฒนาแพลตฟอร์ม จอยไรด์: ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น นวัตกรรมบริการที่เป็นมากกว่าแท็กซี่พาไปหาหมอ โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกหลานที่ไม่มีเวลาดูแลพาผู้สูงอายุไปหาหมอที่โรงพยาบาลหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน เพียงเข้าแพลตฟอร์ม จอยไรด์ หรือเว็บไซต์ https://joyridethailand.com เพื่อจองคิว จะมีพนักงานที่ผ่านการอบรมหลักสูตรปฐมพยาบาลและหลักสูตร CPR มาคอยดูแลผู้สูงวัยแบบ Door to Door โดยจะแจ้งสถานะให้ลูกหลานทราบถึงขั้นตอนรับบริการแบบเรียลไทม์ เช่น กำลังพบแพทย์ รับยาแล้ว ถึงบ้านแล้ว เพื่อคลายความกังวล และรู้สึกเหมือนได้ดูแลคุณพ่อคุณแม่อย่างใกล้ชิด


“ผู้หญิงเป็นเพศที่ปรับตัวเก่ง มีความเข้าใจมุมมองของลูกค้าและการดูแลทีมงาน รวมทั้งมีความคิดสร้างสรรค์ เราจะเห็นศักยภาพของผู้หญิงในงานด้านอุตสาหกรรมบริการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม หรือสุขภาพ หากมีการนำนวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจบริการก็จะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับประเทศ นวัตกรรมไม่ได้หมายถึงการลงทุนที่ต้องแพง แต่ต้องช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ป้องกันและลดความผิดพลาดได้ ตลอดจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีทางสังคมซึ่ง “จอยไรด์: ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น” นอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มบริการที่ช่วยเติมเต็มความสุขให้กับผู้สูงอายุแล้วยังช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคน เพราะตั้งแต่เปิดบริการก็มีคนทักอยากมาร่วมเป็นทีมงาน เพียงแค่ 10 วันก็เริ่มรับทีมงานกลุ่มแรก ซึ่งคนที่เข้ามาทำงานกับจอยไรด์จะมองว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่งาน แต่เป็นการช่วยขัดเกลาจิตใจ เป็นเหมือนจิตอาสา แต่ได้ค่าตอบแทน เพราะเป็นบริการที่เกิดจากแพชชั่น ความสุขคือกำไรที่ได้รับ ดังนั้น ทีมงานของจอยไรด์นอกจากจะต้องมี Service mind สูงแล้ว ยังต้องมีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ ต้องดูแลลูกค้าที่ใช้บริการทุกคนไม่ต่างจากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ในบ้านของตัวเอง เพราะจอยไรด์เป็นเหมือน “สะพานมนุษย์” ที่ช่วยดูแลแทนคุณและเชื่อมระหว่างบ้าน โรงพยาบาล กับผู้สูงอายุ รวมถึงเชื่อมสังคมด้วยการส่งเสริมให้คนที่ต้องการทำงานและเชื่อมโอกาสจ้างงานให้กับผู้สูงวัยมาเป็นทีมงาน หลังบ้านคอยตรวจสอบการทำงานและเพิ่มคุณค่าในวัยเกษียณ”

ทัวร์เพย์: ผู้หญิงที่เข้าใจการท่องเที่ยวยุคใหม่แบบผสาน Mental Health check in


ความเครียดกับคนวัยทำงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาระความรับผิดชอบหลากหลายที่ต้องแบกรับ ทั้งการงาน การเงิน การดูแลครอบครัว รวมถึงความคาดหวังจากคนใกล้ตัว ทำให้ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนวัยทำงานร้อยละ 70 เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความเครียดสูงกว่าวัยอื่น และผลการเก็บสถิติเกี่ยวกับผลกระทบด้านจิตใจด้วยระบบ Mental Health Check In ของกรมสุขภาพจิตพบว่า คนไทยมีความเสี่ยงสุขภาพจิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีภาวะเครียดสูงถึงร้อยละ 45.5 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 51.5 เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 30.6 และมีภาวะหมดไฟร้อยละ 17.6 ซึ่งในจำนวนนี้มีคนวัยทำงานรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ 90


จากปัญหาดังกล่าวสนับสนุนให้ “วินัดดา จ่าพากรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซโค แลป จำกัด มีแนวคิดที่จะพัฒนาแอปพลิเคชัน RelationFlip ให้เป็นศูนย์รวมจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษาเยียวยาจิตใจตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีผู้รับบริการทั้งบุคคลทั่วไปและบริษัทชั้นนำทั่วประเทศ ซึ่งการได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้ใช้บริการถือเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จที่นำมาสู่แนวคิดที่จะพัฒนาต่อยอดจากแพลตฟอร์มบริการให้คำปรึกษาสู่เว็บแอปพลิเคชัน TOURPAY แพลตฟอร์มจองทริปท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ เพื่อดูแลสุขภาพจิตใจของบุคคลวัยทำงานที่มีปัญหาความเครียดสะสม โรคซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพจิตอื่นด้วยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ถือเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า Group dynamics เป็นการบำบัดกลุ่มผู้ที่ประสบปัญหาเรื่องราวเดียวกัน โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยวและอัตลักษณ์ที่น่าสนใจ กิจกรรมภายในทริปจะออกแบบให้เข้ากับวิถีชุมชนในแต่ละที่ เพื่อสร้างรายได้และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน พร้อมทั้งสอดแทรกเนื้อหาและความรู้ด้านจิตวิทยา ประสบการณ์ของผู้ร่วมทริป ทัศนคติ และแนวทางการรับมือกับปัญหา ซึ่งก่อนการเข้าร่วมทริปจะมีการประเมินสภาพจิตใจเพื่อคัดกรองผู้เข้าร่วมทริป และหลังจบทริปจะมีการประเมินอีกครั้ง เพื่อติดตามอาการ และวัดผลสำเร็จของกิจกรรม


“ช่วงที่ทำงานเป็นพนักงานบริษัทต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่ผู้คนมีแต่ความเครียด จึงเกิดแนวคิดอยากจะหาโซลูชั่นมาช่วยให้คนเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเครียดจากสภาวะความไม่แน่นอน สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดคือจิตแพทย์ ซึ่งในสังคมปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าไปขอคำปรึกษาที่โรงพยาบาล หากเราสามารถคิดค้นเครื่องมือที่ช่วยให้คนเข้าถึงการรักษาได้ง่ายเพียงแค่มีสมาร์ทโฟน “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” จึงเป็นคำตอบที่ตรงกับโจทย์ความต้องการที่จะช่วยเยียวยาจิตใจ และทำให้ผู้ที่มีสภาวะความเครียดสามารถขอคำปรึกษาและรับการประเมินได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งแอปพลิเคชัน TOURPAY ช่วยให้คนที่มาใช้บริการเครียดน้อยลง มีความสุขระยะยาวในการทำงานมากขึ้น ลดการลาออกจากองค์กรได้ เมื่อนวัตกรรมที่เราตั้งใจพัฒนาขึ้นสามารถช่วยคนในสังคมได้คือความภูมิใจ แม้จะไม่ได้จบสายวิทยาศาสตร์โดยตรง การทำงานอาจจะมีข้อจำกัดบ้างแต่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ซึ่งการมีนวัตกรผู้หญิงอยู่ในองค์กรมีส่วนช่วยให้รูปแบบการทำงานมีความประนีประนอมมากกว่า เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่ละเอียดอ่อน พร้อมไกล่เกลี่ยและซัพพอร์ต ประสานให้ทุกฝ่ายทำงานได้อย่างลงตัว ดังนั้น ในการทำงานหากเราใช้จุดเด่นของความเป็นเพศหญิงให้เกิดประโยชน์ ก็จะช่วยสร้างความเป็นทีมเวิร์คได้ดีขึ้น”


Tasted Better นวัตกรรมจากผู้หญิงยุคใหม่ ที่เปลี่ยนความหวานให้เป็นเรื่องดีต่อใจและสุขภาพ


หากพูดถึงเทรนด์การรับประทานของคนรักสุขภาพในปัจจุบัน เชื่อว่า “อาหารแพลนต์เบส” เป็นหนึ่งในนวัตกรรมอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยตลาดแพลนต์เบสของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด และใคร ๆ ก็มองเห็นโอกาสเติบโตนี้ รวมทั้ง “พีรดา ศุภรพันธ์ CEO & Co-Founder บริษัท เทสเต็ด เบ็ตเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ได้คิดค้นและพัฒนา Tasted Better แป้งเสริมอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำทดแทนแป้งสาลีในอัตรา 1:1 และช่วยลดอัตราการปล่อยน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ลดปริมาณคาร์โบไฮเดรต ปราศจากสารเคมี ซึ่งกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์พร้อมทาน และผลิตภัณฑ์ผงที่มีความแตกต่างและล้ำหน้าที่สุดในตลาดปัจจุบันต้องผ่านการทดลองที่ควบคุมอย่างยิ่งยวดและทดสอบความเป็นไปได้กว่าร้อยแบบ เพื่อสร้างแป้งเสมือนขึ้นโดยยึดหลักอาหารถูกปากเป็นสำคัญ


Dancing with a Baker” เป็นขนมปังไร้แป้ง ไร้น้ำตาล ผลิตจาก Tasted Better แป้งเสริมอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำที่สุดในโลก หรือมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า 25 เท่า ให้คาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าขนมปังทั่วไป 5 เท่า แต่ให้โปรตีนมากกว่า 4 เท่า และไฟเบอร์มากกว่า 7 เท่า ทั้งยังไม่มีส่วนผสมของนมและไข่ไก่ จึงเหมาะกับผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่รักสุขภาพ ผู้ที่ต้องควบคุมอาหารเป็นพิเศษที่เลี่ยงการบริโภคแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตนอกจากขนมปังแล้ว แบรนด์ Dancing with a Baker ยังใช้แป้ง Tasted Better เป็นวัตถุดิบแทนแป้งสาลีในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่าง ๆ  เช่น ครัวซองต์ เค้กโรล และวาฟเฟิล


“เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว มีโอกาสเป็นผู้เสนอนโยบายให้แก่คณะรัฐมนตรีเรื่องการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ สตาร์ทอัพของประเทศไทยในหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งเกษตร อาหาร สุขภาพและความเป็นอยู่ รวมถึงอุตสาหกรรมหนัก ทำให้ได้ศึกษาและเห็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจ ประกอบกับปัจจุบันภาครัฐทั้งไทยและสากลให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมที่มีผู้ประกอบการเป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้น ถือเป็นเวลาที่เหมาะหากจะเริ่มทำธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งนวัตกรหญิงมีวิสัยทัศน์และเทคโนโลยีที่ช่วยเติมเต็มความต้องการและแก้ไขปัญหาของสังคมได้เช่นกัน ปัจจุบันมีการจัดซื้อจัดจ้างจากบริษัทที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของหลัก เพียงแค่ร้อยละ 1 ของธุรกรรมจากทั่วโลก ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากจนน่าตกใจ ดังนั้น หากเราสามารถเพิ่มอัตราส่วนการจัดซื้อจัดจ้างจากบบริษัทที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของได้ ก็จะช่วยลดช่องว่างความเลื่อมล้ำทางสังคมลง และทำให้โลกเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโลกเชิงธุรกิจ สำหรับผู้หญิงที่สนใจอยากเริ่มดำเนินธุรกิจฐานนวัตกรรม อยากฝาก 3 ขั้นตอน 1. เสาะหาสิ่งที่ตนเองชอบ ปัญหาที่ต้องการแก้ไข และมีความมุ่งมั่นที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น 2. ลึกซึ้ง ทำงานจนตนเองมั่นใจว่าเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง และค้นหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น ไม่ใช่เพียงผิวเผินให้งานเสร็จ แต่ต้องเล็งผลสำเร็จเป็นที่ตั้ง และ 3. ต่อยอด เมื่อแก้ปัญหาหนึ่งได้เเล้ว เราจะพบปัญหาที่สอง สาม และสี่ตามมาอย่างต่อเนื่อง ขอให้ทำงานต่อยอดไปอย่างไม่หยุดยั้งแล้วความสำเร็จจะตามมา” เพราะผู้หญิงยุคใหม่เก่งและเป็นอะไรก็ได้มากกว่าที่เราคิด นับเป็นเรื่องที่ดีที่วันนี้ประเทศไทยและโลกเปิดพื้นที่ให้สตรีเข้ามามีบทบาทในโลกนวัตกรรมมากขึ้น