6 ก.พ. 2567 329 0

PDPC และหอการค้าไทย เอ็มโอยู การเผยแพร่ข้อมูลและรณรงค์ตระหนักรู้เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล และเสวนาหัวข้อ 'หลักเกณฑ์ PDPA : ภาคธุรกิจ และ SMEs ต้องรับมืออย่างไร'

PDPC และหอการค้าไทย เอ็มโอยู การเผยแพร่ข้อมูลและรณรงค์ตระหนักรู้เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล และเสวนาหัวข้อ 'หลักเกณฑ์ PDPA : ภาคธุรกิจ และ SMEs ต้องรับมืออย่างไร'

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้านการเผยแพร่ข้อมูลและรณรงค์ตระหนักรู้เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล และงานเสวนาหัวข้อ 'หลักเกณฑ์ PDPA : ภาคธุรกิจ และ SMEs ต้องรับมืออย่างไร'

“วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567” หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้านการเผยแพร่ข้อมูลและรณรงค์ตระหนักรู้เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล งานครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนตระหนักรู้ถึงความสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลร่วมกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการผนึกกำลังความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศให้มีความก้าวหน้าตามมาตรฐานสากล  และมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคธุรกิจเห็นความสำคัญของการออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อปกป้องสิทธิส่วนบุคคลให้ข้อมูลมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเรียกร้องให้ภาคธุรกิจเก็บ ใช้ และประมวลผลข้อมูลเหล่านั้นอย่างมีความรับผิดชอบ โดยได้รับเกียรติจาก ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาร่วมเป็นประธานสักขีพยานและมอบนโยบายในวันดังกล่าว


“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด การลงนามในความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ด้านการเผยแพร่ข้อมูลและรณรงค์ตระหนักรู้เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ในวันนี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลให้กับทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนประเทศและยกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้ทัดเทียมกับสากล เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ” ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว


“การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในวันนี้ จะช่วยสร้างความตระหนักรู้เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้กับผู้ประกอบธุรกิจการค้า โดยทั้งสามหน่วยงานจะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ด้านการคุ้มครองส่วนบุคคลอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาหลักสูตรด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับผู้บริหาร (Executive PDPA) การถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ YEC ในการส่งต่อความรู้กับสมาชิกในเครือข่าย และจัดทำแนวปฏิบัติด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ทั้งนี้ PDPC ตอบรับนโยบายของท่านรัฐมนตรีในการกำกับดูแลหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป” เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม แถลง  


สนั่น  อังอุบลกุล  ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับภาคธุรกิจแล้ว PDPA ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของธุรกิจ ทั้งการเตรียมพร้อม ปรับรูปแบบ การเก็บข้อมูล เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมาย รวมถึงการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเมื่อข้อมูลที่มีลดน้อยลง หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในนามภาคธุรกิจเอกชน จึงเห็นความสำคัญในการเผยแพร่แผนการดำเนินงาน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในวันนี้ขึ้น  เพื่อสร้างการตระหนักรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และองค์ความรู้ในการยกระดับองค์กรให้สอดคล้องกับกฎหมาย ให้แก่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาข้อมูลในด้านต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งส่งเสริมให้มีแนวทางในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีมาตรฐานสากล เพื่อให้มีมาตรการด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่สอดคล้องตามหลักการสากลที่ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญ รวมทั้งมีการพัฒนาก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

อธิป  พีชานนท์  รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศ กล่าวเสริมว่า ในยุคที่ธุรกิจขับเคลื่อนด้วย Big Data การปรับกลยุทธ์ เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ สิ่งเหล่านี้ยังถือเป็นโจทย์ครั้งสำคัญที่ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ SMEs และ Startup ต้องแก้ปัญหาเพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปในอนาคต เพราะข้อมูลส่วนบุคคลถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ ทั้งในด้านการวิเคราะห์หา Insight ของลูกค้า เพื่อนำไปในใช้ในด้านการตลาด รวมถึงการพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองตามความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นผลดีต่อธุรกิจ แต่ในทางกลับกันหากไม่มีมาตรการป้องกันที่เพียงพอ ก็อาจนำมาสู่การถูกโจรกรรมข้อมูล และนำไปใช้ข้อมูลในทางที่ผิด ซึ่งจากประเด็นนี้ส่งผลให้เกิด PDPA ขึ้นมาในประเทศไทย 

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า PDPA ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อสถานบันการศึกษา โดยเฉพาะการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เรียนในสถานศึกษา เป็นเรื่องที่ต่างประเทศ (โดยเฉพาะประเทศในยุโรป) ให้ความสำคัญและเป็นกระแสตื่นตัวกันอย่างมากมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว นับตั้งแต่การประกาศใช้ GDPR หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป สถานศึกษา เช่น โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ต่างมีนโยบายและมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกมาให้เห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน โดยมีการประกาศเอาไว้อย่างชัดแจ้งบนหน้าเว็บไซต์ของสถานศึกษา ตลอดจนมีการขอความยินยอมจากผู้เรียน/ผู้ปกครอง เพื่อให้ทางสถานศึกษาสามารถประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เรียนได้ตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งเอาไว้  ถึงเวลาที่บุคลากรในวงการการศึกษาจะหันมาให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เห็นความสำคัญ จึงได้ร่วมผนึกกำลังความร่วมมือ ในการปลูกฝังค่านิยม การรับรู้ การสร้างองค์ความรู้ ในการวางแผนการจัดทำหลักสูตรด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.)  ซึ่งเป็นบทบาทโดยตรงของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  


ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “หลักเกณฑ์ กฎหมาย PDPA : ภาคธุรกิจ และ SMEs ต้องรับมืออย่างไร” เพื่อร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และนำเสนอ case study ของภาคธุรกิจ ตลอดทั้งให้คำชี้แนะ แนะนำ ให้คำปรึกษา จากนักวิชาการ วิทยากรผู้มีชื่อเสียงหลากหลายท่าน ได้แก่ คุณอมรพันธุ์ นิติธีรานนท์  ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล , คุณศรัณยู ชเนศร์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท จำกัด, คุณสิริดา  นาคทัต กรรมการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC หอการค้าไทย และ กรรมการผู้บริหารบริษัท ทรอปิคอล ฟรุ๊ต ฟิวชั่น จำกัด ผศ.ดร.ประพันธ์พงษ์  ขำอ่อน  คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  และคุณสาระ  ล่ำซำ กรรมการบริหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00–16.00 น. ณ ห้อง Meeting room 208 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน