5 ก.พ. 2567 421 1

เหยื่อร้อง AOC 1441 โจรไซเบอร์หลอกขายรถหรู สูญเงินกว่า 3 ล้านบาท อีก 2 ราย เสียหายจากหารายได้เสริมเก๊ ร่วม 4 ลบ.

เหยื่อร้อง AOC 1441 โจรไซเบอร์หลอกขายรถหรู  สูญเงินกว่า 3 ล้านบาท อีก  2 ราย เสียหายจากหารายได้เสริมเก๊  ร่วม 4 ลบ.
วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) กล่าวว่า จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ระหว่าง วันที่ 29 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์ในหลายรูปแบบจำนวน 5 คดี ประกอบด้วย

คดีที่ 1 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 3,170,000 บาท รายละเอียดคดี คือ ผู้เสียหายได้พบการโฆษณาขายรถยนต์ยี่ห้อพอเชอร์ (Porsche) ผ่านช่องทาง Facebook จึงได้ทำการติดต่อพูดคุยสอบถามรายละเอียดการซื้อขาย ต่อมามิจฉาชีพแจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินชำระค่ารถล่วงหน้า ผู้เสียหายหลงเชื่อและได้โอนเงินชำระค่ารถล่วงหน้าไป เมื่อถึงกำหนดวัดนัดหมายไม่ทำการส่งมอบรถยนต์ให้กับผู้เสียหาย และไม่สามารถติดต่อ กับเจ้าหน้าที่ทางเพจได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,878,293 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายสนใจทำงานหารายได้เสริม ญาติจึงแนะนำไปเพราะเคยทำมาก่อน ผู้เสียหาย จึงติดต่อพูดคุยรายละเอียด มิจฉาชีพอ้างว่าเป็นการทำงานร่วมลงทุนเปิดร้านดำเนินการขายสินค้าโดยให้ผลตอบแทนสูงต้นทุนในการลงทุนต่ำและไม่ต้องมีหน้าร้านจำหน่าย ก็สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วโลก ผู้เสียหายหลงเชื่อและได้โอนเงินร่วมลงทุนไปโดยสามารถถอนเงินออกมาใช้ได้จริงในครั้งแรก ผู้เสียหายจึงโอนเงินเข้าไปลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นต้องการถอนเงินออกมาใช้อีก ปรากฏว่าไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 2,054,987 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายรู้จักกับมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook จากนั้นพูดคุยกันจนสนิทใจและชักชวนร่วมลงทุนหารายได้เสริม โดยแอบอ้างเป็นการโปรโมทกระตุ้นผลักดันสินค้าของบริษัท THAI LUCKY SHIPPING COMPANY LIMITED โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางบริษัทคอยแนะนำการสนับสนุนและผลักดันสินค้า ภารกิจให้ผู้เสียหายเข้าไปกดดันสินค้าให้สำเร็จตามจำนวนครั้งที่กำหนด โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้นตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป และจะได้รับผลตอบแทน ค่าคอมมิชชัน ในระยะแรกได้ผลตอบแทนที่ดีและสามารถถอนเงินออกมาใช้ได้ ต่อมาระยะหลังต้องเพิ่มเงินลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ กดดันสินค้าไม่สำเร็จ และไม่สามารถ ถอนเงินออกมาใช้ได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 6,500 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายสั่งซื้อสินค้าชุดผ้าไหมผ่านทางช่องทาง Facebook ชื่อร้าน "แสงทองผ้าไหมลายไทย" ได้พูดคุยกับทางร้านค้าพร้อมเลือกชุดผ้าไหมแบบผ้าที่สนใจ จากนั้นได้โอนเงิน ไปให้ร้านค้า ภายหลังจากโอนเงินไปก็ไม่สามารถติดต่อร้านค้าได้อีกเลย ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

และ คดีที่ 5 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 5,390 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายค้นหาที่พักผ่านช่องทาง Facebook พบชื่อที่พัก “ภูดอย โฮมสเตย์ ม่อนแจ่ม” จังหวัดเชียงใหม่ เห็นลงรูปภาพบรรยากาศห้องพักสวยและราคาไม่แพง ผู้เสียหายสนใจ จึงส่งข้อความพูดคุยสอบถามราคาห้องพักและได้โอนเงินจองห้องพักชำระเต็มราคา ภายหลังจากโอนเงินไปแล้วไม่สามารถติดต่อทางเพจที่พักได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก 

รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี 7,115,170 บาท

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีความเป็นกังวล และขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาผ่านโทรศัพท์ และสื่อสังคมออนไลน์ หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที และแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแล เนื่องจาก 5 คดีที่กล่าวมา ผู้เสียหายส่วนใหญ่ได้ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ก่อนจะพูดคุยจนเกิดการหลงเชื่อ และโอนเงินผ่านออนไลน์ไปยังบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพ

“ดีอี ขอเตือนภัยให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาในหลากหลายรูปแบบให้สังเกต และงดรับสายจากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย รวมทั้งไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่รู้จักที่เข้ามาทักทายและขอเป็นเพื่อนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ขอให้ท่านอย่าไว้ใจหรือตระหนักเสมอถึงความปลอดภัยของตัวท่านเอง อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันการถูกกลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านโอนเงินให้กับมิจฉาชีพจนหมดตัวได้ รวมทั้งช่วยกันแจ้งเตือน และกดรายงานเพจปลอม หรือแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้วย” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

COMMENTS