31 ม.ค. 2567 268 0

สกมช. จัดใหญ่ Cybersec Asia x Thailand International Cyber Week 2024 ถึง 1 ก.พ นี้ ณ ศูนย์ฯ สิริกิติ์

สกมช. จัดใหญ่ Cybersec Asia x Thailand International Cyber Week 2024 ถึง 1 ก.พ นี้ ณ ศูนย์ฯ สิริกิติ์

สกมช. จัดใหญ่ขับเคลื่อนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระดับนานาชาติครั้งแรกของไทย รวมผู้นำทาง Cybersecurity ทั่วเอเชีย ในงาน Cybersec Asia x Thailand International Cyber Week 2024




เริ่มต้นแล้วกับงาน Cybersec Asia x Thailand International Cyber Week 2024 ซึ่งงานนี้ได้รวมกลุ่มผู้นำและผู้เชี่ยวชาญทางอุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์จากประเทศไทยและทั่วเอเชีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกัน พร้อมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึก และสร้างภูมิทัศน์ของความปลอดภัยทางไซเบอร์ในอนาคต นอกจากนี้ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของ New S-Curve หรือ กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีแนวโน้มเติบโตสูงและส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจไม่เพียงแต่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จึงร่วมกับ บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่น เอเชีย แปซิฟิค จำกัด กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 31 มกราคม ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 09.30 น. – 17.00 น. โดยมี พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นประธาน คุณอิกอร์ เพาก้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค นายภูริพันธ์ บุนนาค ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) 

พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สถานทูต สมาคม บริษัทเอกชน ผู้นำคนสำคัญจากหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติกว่าร้อยคน ในงานพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกันเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน พัฒนา และผลักดันการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในไทยและภูมิภาคเอเชีย


พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ในโลกดิจิทัลภัยคุกคามทางไซเบอร์แฝงตัวอยู่ในชีวิตประจำวันโดยใช้ประโยชน์จากข้อมูล ความไว้วางใจ นวัตกรรม และการหลอกลวงผ่านเครื่องมือดิจิทัล เพื่อดักจับเหยื่อในช่วงเวลาแห่งความเปราะบาง นำไปสู่ความเสียหายอย่างกว้างขวางทั้งในระดับบุคล สังคม และประเทศ โดยสิ่งเหล่านี้มักเกิดจากการป้องกันที่ไม่เพียงพอ รวมถึงการเกิดขึ้นของ AI ที่มีส่วนขยายความซับซ้อนของการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งงาน Cybersec Asia x Thailand International Cyber Week 2024 นี้ เป็นงานด้านไซเบอร์ระดับนานาชาติครั้งแรกของไทย สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ทำให้เกิดการบูรณาการและการสร้างกลไกเพื่อพัฒนาศักยภาพหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ สถาบันการศึกษา คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชน ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตื่นตัว เห็นความสำคัญในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมนโยบาย Cloud Security First ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ สกมช. ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ สอดคล้องกับนโยบาย Go Cloud First ของรัฐบาล โดยพร้อมผลักดันการสร้างเครือข่ายและศักยภาพในการป้องกัน รับมือ และลดความเสียหายจากภัยไซเบอร์ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือสนับสนุนอนาคตดิจิทัลที่ปลอดภัยของไทย”


อิกอร์ เพาก้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภายในงาน จะมีการนำเสนอการอภิปรายที่น่าสนใจ ข้อมูลเชิงลึกที่ล้ำสมัย และโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับผู้คนในวงการ ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการรวมตัวกันของบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมมากกว่า 50+ รายจัดแสดงนวัตกรรมและโซลูชั่นครบวงจร อาทิ บริษัท Palo Alto Networks (US), M-Tech (TH), Akamai (US), Huawei, Microsoft, Google และแบรนด์ระดับโลกอีกมากมาย ในมุมมองของการสร้างแพลตฟอร์มทางการศึกษา เวทีนี้จะนำเสนอเนื้อหาเชิงลึก งานวิจัย บทวิเคราะห์ที่แข็งแกร่งสำหรับตลาดความปลอดภัยทางไซเบอร์ นำเสนอโดย 60 วิทยากรจากนานาประเทศ ร่วมบรรยายมากกว่า 50 เซสชันตลอดระยะเวลาสองวันของการจัดงาน นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อปทางเทคนิคที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทในอุตสาหกรรมและการประชุมที่สำคัญระดับประเทศของหน่วยงานภาครัฐไทยและต่างประเทศ”


พลอากาศตรี อมร ชมเชย กล่าวทิ้งทายว่า “สกมช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านที่เข้าร่วมงานจะได้ร่วมกัน บูรณาการความรู้และใช้ประโยชน์จากงานในครั้งนี้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นการปกป้องตนเองจากภัยไซเบอร์และต่อยอดธุรกิจด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการและหน่วยงาน ทุกภาคส่วน ถือเป็นการบรรจบกันของนวัตกรรมและความร่วมมือ ให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกลไก ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน เท่าทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และสถานการณ์ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”