8 ธ.ค. 2566 641 33

คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เร่งขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เพื่อการให้บริการสาธารณะประโยชน์ของรัฐ

คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เร่งขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เพื่อการให้บริการสาธารณะประโยชน์ของรัฐ

เพื่อการให้บริการสาธารณะประโยชน์ของรัฐ เตรียมนำ (ร่าง) นโยบายและแผนเฝ้าระวังและบริหารจัดการจราจรทางอวกาศ เสนอ ครม. เดินหน้าสร้างความร่วมมือด้านอวกาศกับจีน-สหรัฐ ยกเครื่องคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนากิจการอวกาศ


ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายอวกาศ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ


ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรรมการและเลขานุการ ในคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ได้ร่วมกันพิจารณาการดำเนินการตามนโยบายการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ และแนวทางการบริหารจัดการช่องสัญญาณดาวเทียมสื่อสารสำหรับการให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐ โดยเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมาย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการบริหารจัดการดาวเทียมในช่องสัญญาณสำหรับการให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐ รวมถึงมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ประสานการดำเนินงานร่วมกับ กสทช. NT และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดสรรและบริหารจัดการการใช้งานช่องสัญญาณดาวเทียมสื่อสาร สำหรับการให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐ ให้แก่หน่วยงานของรัฐที่ร้องขอ ตลอดจนให้ความเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) นโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ ตามที่กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม เสนอ รวมทั้งพิจารณาการขอยกเว้นภาษีภาพถ่ายดาวเทียม ผลิตภัณฑ์ และบริการอื่น ๆ ที่ได้รับจากโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (ธีออส 2) เพื่อรองรับภารกิจด้านความมั่นคง และรองรับภารกิจหน่วยงานของรัฐ

“สำหรับความร่วมมือด้านกิจการอวกาศระหว่างประเทศ นั้น ได้เห็นชอบให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านอวกาศระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับประเทศไทย รวมถึงการลงนามข้อตกลง (MOU) อาร์เทมิสระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย (Artemis Accord) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการยึดหลักการและแนวปฏิบัติด้านสำรวจดวงจันทร์ ดาวอังคาร และดาวเคราะห์น้อย อย่างปลอดภัยและโปร่งใสร่วมกัน 

โดยมีเป้าหมายทางสันติและยึดมั่นตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านอวกาศ โดยเห็นชอบให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. เป็นหน่วยงานปฏิบัติ และหน่วยประสานงานกลางของประเทศไทย มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองโครงการของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานที่จะดำเนินการในโครงการอาร์เทมิส (Artemis Program) ในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน ค้นคว้า วิจัย เป็นต้น” ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าว


ด้าน ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการทบทวนและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสำคัญ ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างเศรษฐกิจอวกาศของประเทศ คณะอนุกรรมการพัฒนาการศึกษาและกำลังคนด้านอวกาศของประเทศ คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามการดำเนินงานด้านการเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านอวกาศระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับประเทศไทย และระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทย เพื่อรองรับภารกิจด้านการขับเคลื่อนแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติของประเทศไทย รวมทั้งได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านกิจการอวกาศของประเทศ ในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... และ (ร่าง) แผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2580 สถานภาพกิจการอวกาศของประเทศไทย การดำเนินงานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศภายหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ และผลการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการ รวมถึงรับทราบรายงานผลการศึกษายุทธศาสตร์การส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ (New Space Economy) ของประเทศไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ดำเนินการศึกษาอีกด้วย