29 พ.ย. 2566 674 1

ดีอี ตั้ง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโต

ดีอี ตั้ง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโต
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาระบบดิจิทัลของประเทศ โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ผลักดันไทยเป็นรัฐบาลดิจิทัล ใช้เทคโนโลยียกระดับชีวิต เศรษฐกิจ และความโปร่งใสของภาครัฐ รวมถึงการจัดเก็บฐานข้อมูลในระดับภาพรวม เป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กระทรวงดีอี ได้จัดตั้ง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ Big Data Institute (Public Organization)เรียกโดยย่อว่า BDI โดยมี คณะกรรมการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นผู้ดูแลและดำเนินภารกิจ

ทั้งนี้ BDI มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม การใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้น ต้องทำควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิของข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน จึงต้องส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชน มีความรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act: PDPA) และเตรียมพร้อมรองรับการบังคับใช้ในเรื่องนี้ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล


นอกจากนี้กระทรวงดีอีรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนด้านดิจิทัลความร่วมมือในระดับประเทศและระดับนานาชาติ สอดคล้องกับแนวคิด UN Global Digital Compact (GDC) ของสหประชาชาติ โดยดีอี มีนโยบายการพัฒนาบุคคลกรทั้งในระดับประเทศ ระดับหน่วยงาน/องค์กร และระดับบุคคล ในเรื่อง ทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้มีขีดความสามารถและความพร้อมในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด  ในส่วนนี้ได้มีการริเริ่มกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคลากรภาครัฐ ทั้งนี้ ได้พัฒนาความสามารถของทักษะด้านดิจิทัล แบ่งเป็น 7 กลุ่มความสามารถ ได้แก่

กลุ่มที่ 1 Digital Literacy : ความสามารถด้านความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

กลุ่มที่ 2 Digital Governance, Standard, and Compliance : ความสามารถ ด้านการควบคุมกำกับ และการปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย และมาตรฐานการจัดการด้านดิจิทัล

กลุ่มที่ 3 Digital Technology : ความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับศักยภาพองค์กร

กลุ่มที่ 4 Digital Process and Service Design : ความสามารถด้านการออกแบบกระบวนการและการให้บริการด้วยระบบดิจิทัล

กลุ่มที่ 5 Strategic and Project Management : ความสามารถด้านการบริหารกลยุทธ์และการจัดการโครงการ

กลุ่มที่ 6 Digital Leadership : ความสามารถด้านผู้นำดิจิทัล

กลุ่มที่ 7 Digital Transformation : ความสามารถด้านการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถือเป็นวาระแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมดิจิทัล โดยรัฐบาล กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิทัลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สู่ความยั่งยืนในการสร้างคุณค่าและระบบนิเวศน์ด้านดิจิทัลของประเทศ

ปัจจุบัน แรงงานไทยยังขาดแคลนบุคลากรมีทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล รัฐบาลต้องหามาตรการเพื่อกระตุ้นการพัฒนาทักษะดิจิทัล ขณะที่นอกภาคแรงงาน คนกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ คนพิการ ได้รับการพัฒนาทักษะ เพื่อคุณภาพชีวิต มีงานทำ มีรายได้ ขณะที่กำลังคนในอนาคต เพาะเมล็ดพันธุ์ดิจิทัล สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ส่งเสริมเยาวชนให้มีทักษะที่จำเป็นในอนาคต  และเติมเต็มสาขาขาดแคลน เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ประเสริฐ กล่าว