13 พ.ย. 2566 274 0

ดีป้า เดินหน้าโครงการ Digital Skills for Media Industry เปิดหลักสูตรเสริมศักยภาพบุคลากรสื่อ พร้อมติดปีกอุตฯ สื่อไทยสู่สากล

ดีป้า เดินหน้าโครงการ Digital Skills for Media Industry เปิดหลักสูตรเสริมศักยภาพบุคลากรสื่อ พร้อมติดปีกอุตฯ สื่อไทยสู่สากล

ดีป้า เดินหน้าโครงการ Digital Skills for Media Industry โดยการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ เปิดกิจกรรมอบรมเสริมทักษะดิจิทัลแก่บุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อ บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักศึกษาจบใหม่ให้มีศักยภาพและพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมสื่อสมัยใหม่รวมกว่า 1,000 คน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อไทยให้สามารถปรับตัวได้ทันต่อบริบทของสังคมในยุคดิจิทัล


ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดกิจกรรมอบรมหลักสูตรพื้นฐานภายใต้โครงการ Digital Skills for Media Industry โดยการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยโครงการ Digital Skills for Media Industry มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมทักษะดิจิทัลแก่บุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อ บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักศึกษาจบใหม่ให้มีศักยภาพและพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมสื่อสมัยใหม่ โดยในพิธีเปิดอบรมหลักสูตรพื้นฐานวันนี้


ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) ร่วมในพิธีและกล่าวปาฐกถาพิเศษ


ผศ.ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า ดีป้า มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศเพื่อให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกยุคปัจจุบัน โดยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมากในทุกอุตสาหกรรม และครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมสื่อที่เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นทั้งโอกาสและอาจเป็นอุปสรรคที่ทุกองค์กรต้องปรับตัว อาทิ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI และการประยุกต์ใช้ Big Data ที่สื่อสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภค การใช้ประโยชน์จาก AI และการใช้เครื่องมือ Social Listening เป็นต้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลยังสร้างการเชื่อมต่ออย่างไร้ขีดจำกัดในยุคแห่งการหลอมรวมสื่อ ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลจึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งสามารถเข้าถึงสื่อผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ดังนั้นสื่อจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภค และที่สำคัญเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เราทุกคนอยู่ในโลกแห่งการเข้าถึง (Access) ที่สื่อจะต้องมีความเข้าใจในการเผยแพร่และสื่อสารเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล


นอกจากนี้ การเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลยังถือเป็นโอกาสใหม่ของวงการสื่อไทยที่จะสามารถขยายศักยภาพคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีการขยายแพลตฟอร์มการรับชมสื่อแบบ Over the Top (OTT) อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่ฝีมือด้านแอนิเมชันของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดการจ้างงานในประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ กัมพูชา เวียดนาม แคนาดา ฯลฯ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่อาจจะดูไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมสื่อ แต่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจะช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนยีดิจิทัลและการยกระดับฝีมือบุคลากรสื่อและบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไป

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ดีป้า จึงดำเนินโครงการ Digital Skills for Media Industry โดยการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อให้สามารถปรับตัวทันต่อบริบทของสังคมในยุคดิจิทัลผ่านการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถปรับตัวสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงส่งเสริมการพัฒนานักศึกษาจบใหม่ให้มีศักยภาพและพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมสื่อสมัยใหม่ และยกระดับอุตสาหกรรมสื่อไทยให้ทัดเทียมตลาดโลก โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพบุคลากรรวมกว่า 1,000 คนผ่านหลักสูตรฯ ที่โครงการพัฒนาขึ้นโดยการนำผลการศึกษาและวิเคราะห์อุตสาหกรรมสื่อจาก 4 ประเทศต้นแบบ ทั้งอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ รวมถึงผลสำรวจความต้องการพัฒนาทักษะดิจิทัลของบุคลากรสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


มาพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การยกระดับอุตสาหกรรมสื่อไทยใน 5 หลักสูตร ได้แก่

  • หลักสูตรพื้นฐานการสร้างคอนเทนต์ในยุคดิจิทัล (Basic Digital Content Creator)
  • หลักสูตร Canva เครื่องมือเพื่อการสร้างเทมเพลตในสื่อสังคมออนไลน์และวิดีโอยุคใหม่ 

แอปเดียว  ครบ จบทุกการผลิตสื่อ (Canva Design School for Motion Graphic)

  • หลักสูตรแนวคิดและเครื่องมือเพื่อการสร้างสื่อ Infographic & Graphic Design อย่างมืออาชีพ
  • หลักสูตรพื้นฐานการออกแบบดนตรีประกอบสื่อดิจิทัล
  • หลักสูตรนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ทุกหน่วยงานและองค์กรสามารถเป็นสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ ภายในกิจกรรมอบรมหลักสูตรพื้นฐานของโครงการ Digital Skills for Media Industry วันนี้มีผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรรวมกว่า 10 ท่านร่วมถ่ายทอดแนวคิด ความรู้ และประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมอบรม ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายด้านอุตสาหกรรมสื่อของภาครัฐ ผลการศึกษาอุตสาหกรรมสื่อในยุคดิจิทัลจากประเทศต้นแบบ และการเสวนาจากผู้บริหารสื่อที่มาร่วมสะท้อนทิศทางสื่อไทยในปี 2567


งานสื่อยุคใหม่ด้วยแอปพลิเคชันใกล้ตัว รวมไปถึงจรรยาบรรณสื่อในยุคดิจิทัล เพื่อเป็นการปูพื้นฐานแก่ผู้เข้าร่วมอบรม ก่อนเข้าสู่หลักสูตรที่แตกต่างกันตามความสนใจและบทบาทในองค์กร ซึ่งมีกำหนดอบรมระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคม 2566

สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร ข้อมูล และรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการ Digital Skills for Media Industry ได้ที่ Facebook Page: Digital Skills for Media Industry