4 พ.ย. 2566 402 0

ดีอี พบมิจฉาชีพป่วนไม่หยุด ปั้นข่าวปลอม ออมสินปล่อยสินเชื่อธุรกิจ ว่อนโซเชียล - หลอกขายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ราคาถูก เตือนอย่าแชร์!

ดีอี พบมิจฉาชีพป่วนไม่หยุด ปั้นข่าวปลอม ออมสินปล่อยสินเชื่อธุรกิจ ว่อนโซเชียล - หลอกขายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ราคาถูก เตือนอย่าแชร์!

ดีอี พบมิจฉาชีพป่วนไม่หยุด ปั้นข่าวปลอม“ออมสินปล่อยสินเชื่อธุรกิจ”ว่อนโซเชียล รองลงมาหลอกขายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ราคาถูก เตือนอย่าแชร์!

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบมิจฉาชีพปั่นข่าวปลอม “ออมสินปล่อยสินเชื่อออมสินให้ยืม 10,000-1,000,000 บาท สำหรับธุรกิจที่ต้องการเงินลงทุน” ขึ้นแท่นอันดับ 1 สองสัปดาห์ซ้อน รองลงมาเป็นเพจปลอม ศูนย์จำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ค ลดราคา เตือนประชาชนตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน เช็คให้ชัวร์ ก่อนแชร์ ระวังมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน และล้วงเอาข้อมูลสำคัญ


เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึง ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,281,715 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 179 ข้อความ ทั้งนี้ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 160 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 19 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 129 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 60 เรื่อง

ทั้งนี้ ดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคง ภายในประเทศ จำนวน 55 เรื่อง อาทิ สปสช. ประกาศสำหรับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง หากได้รับความเสียหายจากการรักษา มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสูงสุด 4 แสนบาท ยื่นเรื่องภายใน 2 ปี เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 51 เรื่อง อาทิ กลอยมีสารพิษอันตรายถึงชีวิต เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 5 เรื่อง อาทิ ฝุ่น PM 2.5 จะมีปริมาณหนักปลายปี ถึงต้นปีหน้า เป็นต้น

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 18  เรื่อง อาทิ นายกฯ เปิดเผยว่า นายจ้างอิสลาเอลพร้อมจ่ายเงินทันที หากแรงงาน ไทยต้องการกลับ เป็นต้น

โดย แบ่งเป็นเรื่องการหลอกลวงธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 14 เรื่อง

เวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2566 มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง ออมสินปล่อยสินเชื่อออมสินให้ยืม 10,000-1,000,000 บาท สำหรับธุรกิจที่ต้องการเงินลงทุน

อันดับที่ 2 : เรื่อง เฟซบุ๊กชื่อ ศูนย์จำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ค เป็นเพจจำหน่ายนมลดราคาจริง

อันดับที่ 3 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเพจเฟซบุ๊ก นักวางแผนการลงทุนในตลาดหุ้น

อันดับที่ 4 : เรื่อง วิธีไอบีบหัวใจ ช่วยแก้ไขอาการเจ็บหน้าอก กระตุ้นระบบหมุนเวียนของโลหิต ให้จังหวะเต้นของหัวใจเป็นปกติ

อันดับที่ 5 : เรื่อง การย่อยยาก ย่อยช้า เพราะลมในตับ อาจส่งผลทำให้เป็นเบาหวานเรื้อรัง

อันดับที่ 6 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ ARR Gold Trading เปิดซื้อขายทองคำออนไลน์ แบบ Real-Time 1,000 บาท

อันดับที่ 7 : เรื่อง ดื่มน้ำสกัดจากใบบัวบก ผักชีลาว ขึ้นฉ่ายและมะระขี้นก ช่วยรักษามะเร็งก้านสมอง

อันดับที่ 8 : เรื่อง มังคุดนึ่งรักษาโรคมะเร็ง

อันดับที่ 9 : เรื่อง บอระเพ็ดพุงช้างช่วยรักษาโรคมะเร็งต่าง ๆ

อันดับที่ 10 : ออมสินปล่อยสินเชื่อเพื่อคุณผ่านเพจ Mymo-จารุรวงค์ ให้กู้สูงสุด 30,000 บาท ผ่อนนาน 2 ปี

อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี ขอให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์/โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน และมีการส่งต่อข้อมูลข่าวปลอมเหล่านี้ ก็จะทำให้ได้รับข้อมูลผิดๆ และส่งผลกระทบกับประชาชนที่หลงเชื่อข่าวปลอม ดังกล่าว โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง