25 ต.ค. 2566 288 1

สดช. แถลงผลการดำเนินงานกองทุนดีอี พร้อมจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงาน 10 โครงการเด่น

สดช. แถลงผลการดำเนินงานกองทุนดีอี พร้อมจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงาน 10 โครงการเด่น

ผลการดำเนินงานกองทุนดีอี มีโครงการแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 89.93 ทุกโครงการเดินหน้าขยายผลเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดกิจกรรมสัมมนาและนิทรรศการผู้รับทุนกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปี พ.ศ. 2566 (กองทุนดีอี) โดยมีนายวัลลภ รุจิรากร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นเกียรติในงาน พร้อมด้วยนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานและแถลงผลการดำเนินงานในภาพรวมของการให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ตลอดจนผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วม ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ 


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนดีอี คือ การส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการให้ทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลฯ มีบทบาทผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยให้ความรู้ สร้างสิ่งใหม่แก่สาธารณชน โดยรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนาระบบ Digital ของประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต่อโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศในระยะถัดไป โดยเรื่องแรกที่จะดำเนินการ คือ Go Cloud First ซึ่งได้วางกรอบในการขยายเชิงโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีโครงสร้างดึงบริษัทชั้นนำทั่วโลกเข้ามาลงทุนด้าน Cloud Data Center ในประเทศไทย ในส่วนของ Digital ID มีกรอบที่ชัดเจนมากขึ้นและขณะนี้กฎหมายได้มีมาตรฐานที่รับรองไว้แล้ว สำหรับเรื่องเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การพัฒนาพื้นที่หรือระดับเมือง ได้ส่งเสริมการนำข้อมูล Big Data เข้ามาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลเมืองในแต่ชั้นข้อมูล พร้อมวิเคราะห์ผลผ่านแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform : CDP) นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ได้แก่ การจ่ายเงินภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ One Stop Service และการนำระบบ Blockchain มาใช้เพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็น Digital Government ต่อไป


ด้าน ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าผลการดำเนินงานของกองทุนดีอี ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่ผ่านมากองทุนฯ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนสนับสนุน และระบบสนับสนุนภายในทั้งทางด้านการวิเคราะห์โครงการ และด้านการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยมีการนำเอาผลสำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาจัดทำเป็นแผนปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้ขอรับทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ กองทุนดีอีมีเป้าหมายที่จะนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานของผู้รับทุน พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการยื่นขอรับทุน รวมทั้งมีการจัดนิทรรศเพื่อการแสดงผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นไอเดียสำหรับผู้สนใจที่จะขอรับทุนต่อไป โดยมีการนำโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลมาจัดแสดงในงานนิทรรศการแสดงผลงาน จำนวน 10 โครงการ ได้แก่


1. โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอขอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในมาตรา 26 (1) ซึ่งได้รับการสนับสนุนในการใช้อากาศยานไร้คนขับ ในการสำรวจทางอุทยานแห่งชาติและชายฝั่ง ซึ่งในวันนี้กระทรวงฯ ได้มานำเสนอการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยใช้อากาศยานไร้คนขับในการลาดตระเวนสำรวจพื้นที่ และจัดทำแผนที่อุทยานแห่งชาติในรูปแบบภาพถ่ายทางอากาศ 

2. โครงการโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล เสนอขอโดยสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในมาตรา 26 (1) เป็นการจัดทำโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล (Digital Science Museum Guides program) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและเยาวชนของชาติ ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อีกทางหนึ่ง


3. โครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) เสนอขอโดยกรมการปกครอง ในมาตรา 26 (1) เป็นการจัดทำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service: FVS) ของประเทศเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยมีฟังชั่นก์ที่ให้บริการ อาทิ 1) แสดงบัตรประชาชน 2) แสดงข้อมูลทะเบียนบ้าน 3) ข้อมูลการฉีดวัคซีน โควิด-19 และ 4) การคัดและรับรองเอกสารงานทะเบียน พร้อมทั้งยังมีระบบต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบหลัก เช่น ระบบ Health link ระบบ Lands Maps ระบบจองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ และระบบยื่นภาษีออนไลน์

4. โครงการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสำหรับทุกคน เสนอขอโดยคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในมาตรา 26 (1) ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ 2 ระยะ เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบที่ใช้ในการรักษาบนรถโมบายสโตรคยูนิตรวมทั้งระบบการปรึกษาทางไกลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองผ่านระบบ Telestroke และพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูลทางการแพทย์ ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โดยมีการขยายพื้นที่เป้าหมายใน 6 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราชบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงราย และนครพนม 

5. โครงการให้บริการรายการข้อมูลภาครัฐ เสนอขอโดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในมาตรา 26 (1) เป็นการให้บริการรายการข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐ ในการจัดทำรายการข้อมูลภาครัฐ Data Catalog และ Data Government สำหรับ 50 หน่วยงาน โดยเป็นการเชื่อมต่อแหล่งข้อมูล และเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐที่ติดตั้งอยู่ในระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC)

6. โครงการระบบดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกคลัสเตอร์เส้นใยธรรมชาติเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับวิสาหกิจชุมชนไปสู่วิสาหกิจนวัตกรรม เสนอขอโดยภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาระบบ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายธุรกิจในการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาดระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนไปสู่ห่วงโซ่ อุปทานของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

7. โครงการการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง (Development of Chemistry Lab in Metaverse) เสนอขอโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในมาตรา 26 (2) เป็นการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงห้องปฏิบัติการทางเคมีให้กับนักเรียน/นักศึกษาโดยสามารถใช้ซอฟต์แวร์ทำการทดลองทางเคมีแบบมีผู้ใช้งานพร้อมกันได้หลายคนในสภาพแวดล้อมเหมือนห้องปฏิบัติการจริง ประกอบกับลดข้อจำกัดจากการทำห้องปฏิบัติการทางเคมีที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อีกด้วย

8. โครงการศูนย์บริการประชาชน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เสนอขอโดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาระบบสนับสนุน เพื่อให้บริการประชาชนตั้งแต่รับแจ้ง แก้ไข ป้องกัน บังคับใช้กฎหมายจนคดีถึงที่สุด

9. โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย เสนอขอโดยกรมที่ดิน ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาแพลทฟอร์มสำหรับการเชื่อมโยงและให้บริการข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในรูปแบบของแอพพลิเคชั่น และแพลทฟอร์ม Data as a Service : DaaS

10. โครงการพัฒนาชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริงเพื่อสร้างเสริมอาชีพให้แก่กลุ่มเยาวชนในวัยทำงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและอาชีพในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง เสนอขอโดยสำนักวิจัย และ บริการวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ในมาตรา 26 (2) เป็นการสร้างชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง เพื่อเตรียมกำลังคนในกลุ่มเยาวชนในวัยทำงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ ในด้านยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งใช้ฝึกก่อนการปฏิบัติงานจริง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในขณะที่ปฏิบัติงาน 


“กองทุนดีอีได้สนับสนุนทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติโครงการมาตรา 26 (1) (2) และ (6) ซึ่งเป็นการให้ทุนในกรณีสถานการณ์โควิด และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ไปแล้วจำนวน 244 โครงการ ซึ่งปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วกว่าร้อยละ 89.93 โดยทุกโครงการจะมีการนำไปขยายผลเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติต่อไป” ภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม