24 ต.ค. 2566 1,076 13

'พิชญ์ โพธารามิก' เข้าพบ 'Kim Young-shub' ซีอีโอ 'เคที คอร์ปอเรชั่น (KT)' ยืนยันร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม Generative AI

'พิชญ์ โพธารามิก' เข้าพบ 'Kim Young-shub' ซีอีโอ 'เคที คอร์ปอเรชั่น (KT)' ยืนยันร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม Generative AI

พิชญ์ โพธารามิก ผู้ถือหุ้นใหญ่ นำคณะผู้บริหารกลุ่มจัสมิน หรือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เข้าพบ Kim Young-shub (คิม ยอน-ฮับ) CEO เคที คอร์ปอเรชั่น (KT) พันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ ณ สำนักงานใหญ่เคที (KT) กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ อย่างเป็นทางการ

โดยหลังจาก บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)  ร่วมกับ บริษัท เคที คอร์ปอเรชั่น (KT) ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้ ในการเป็นพันธมิตรด้านนวัตกรรม เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์แพลตฟอร์ม Generative AI ที่เป็นขีดสุดแห่งความทันสมัยของเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบัน  ซึ่งครอบคลุมบริการโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure as a Service (IAAS), บริการด้านโมเดล Model as a Service (MAAS), บริการด้านแพลตฟอร์ม Platform as a Service (PAAS) ไปจนถึงบริการด้านซอฟต์แวร์ Software as a Service (SAAS)  โดย JTS และ KT จะร่วมกันวางแผน ตลอดจนกำหนด Roadmap สำหรับธุรกิจใหม่ร่วมกันสำหรับคณะผู้บริหารกลุ่มจัสมินได้เดินทางไปเข้าพบบริษัท เคที คอร์ปอเรชั่น (KT) ในครั้งนี้ ได้มีการร่วมพูดคุยและปรึกษาเรื่อง เคที (KT) จะแชร์เทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้าง Mi:dm ซึ่งเป็นบริการ AI ระดับไฮเปอร์สเกลของบริษัทที่กำลังจะเปิดตัวในปลายเดือนนี้ เพื่อพัฒนาโมเดล LLM สำหรับประเทศไทย ในขณะที่กลุ่มจัสมินจะทำการวิเคราะห์ตลาดระดับภูมิภาคและสร้างหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) โดยสองบริษัทได้เตรียมวางแผนที่จะสร้างฟาร์ม GPU ในปี 2024 และช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มสร้าง Thai LLM ตามลำดับ

ทั้งนี้ อ้างอิงจากข้อมูลของบริษัทวิจัยระดับโลก Statista ปริมาณของตลาด generative AI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะสูงถึง 1.41 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 และเติบโตอย่างรวดเร็วเป็น 7.65 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2573  ซึ่งทำให้ทาง เคที (KT) คาดการณ์ว่า การมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอุตสาหกรรม AI ผ่านทางความร่วมมือกับกลุ่มจัสมินจะเป็นการร่วมมือที่ประสบความสำเร็จในการบุกเบิกตลาด AI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ การประกาศเสนอขายกิจการ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (TTTBB) หรือ ทรีบรอดแบนด์ (3BB)  ให้กับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทลูกของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS  ทางคณะกรรมการ กสทช. จะนำเข้าประชุมบอร์ดในวันที่ 25 ตุลาคมนี้  เมื่อผ่านการอนุมัติดังกล่าวแล้ว จะเป็นการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมสองบริษัท ทำให้ได้ฐานลูกค้ารวมกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งสองบริษัทจะสามารถทำการตลาดได้ทันที และผสานเทคโนโลยีให้แก่กลุ่มลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคตต่อไป