14 ก.ย. 2566 25,915 1

ดีอีเอส ลุยเป้าหมายเร่งด่วน เน้นลดรายจ่ายและความเหลื่อมล้ำ หวังสร้างโอกาสให้ประชาชน พร้อมแถลงนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ - สังคมดิจิทัล

ดีอีเอส ลุยเป้าหมายเร่งด่วน เน้นลดรายจ่ายและความเหลื่อมล้ำ หวังสร้างโอกาสให้ประชาชน พร้อมแถลงนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ - สังคมดิจิทัล

ดีอีเอส เร่งขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย เป้าหมายเร่งด่วน 3 ระยะ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว หวังลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน


ประเสริฐ  จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าว ในงานสัมมนาโครงการสัมมนาการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ว่าได้เห็นถึงความสำคัญของงานด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมสานต่อและเร่งรัดผลักดันให้ประเทศไทยขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยในปี 2022 ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ  (World Digital Competitiveness Ranking; WDCR) จาก IMD เป็นอันดับที่ 40 จากทั้งหมด 63 ประเทศ โดยมีกรอบในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ ประกอบด้วย 54 ตัวชี้วัด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 

(1) องค์ความรู้ (Knowledge) จำนวน 19 ตัวชี้วัด ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่  45

(2) เทคโนโลยี (Technology) จำนวน 18 ตัวชี้วัด ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 20  และ

(3) ความพร้อมในอนาคต (Future readiness) จำนวน 17 ตัวชี้วัด ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 49 เพื่อให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศมีอันดับที่สูงขึ้น


กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย และได้มีการศึกษาวิเคราะห์การจัดเก็บตัวชี้วัดการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล มีการจัดทำระบบ Dashboard ที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลทางสถิติแบบอัตโนมัติ สำหรับใช้ในการติดตามสถานะข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีแนวทางสร้างทัศนคติกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เพื่อให้รับรู้ถึงนโยบายของภาครัฐและความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศมีอันดับที่สูงขึ้น 

ประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงฯ ยังมุ่งมั่นในการส่งเสริม และสนับสนุน ให้ประชาชนมีความพร้อมในการก้าวสู่สังคมดิจิทัลอย่างมั่นคงและปลอดภัย รวมถึงการวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน  โดยมีกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ได้แก่ กรอบระยะสั้น รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อจุดประกายให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว ส่วนกรอบระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน

นอกจากนี้ ดีอีเอสจะเร่งรัดการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ โดยนำดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนในการประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานให้มีความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ รวมถึงสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนประชาชนทุกคนจะต้องรู้เท่าทันภัยออนไลน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกและของประเทศได้พัฒนามาสู่ยุคที่ดิจิทัลเป็นสมรรถนะหลักในการสร้างความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มมีการนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านดิจิทัล มาใช้เป็นองค์ประกอบในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness) ของสถาบันการจัดการนานาชาติ IMD (International Institute for Management Development: IMD ที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพของประเทศไทยในเวทีโลก

“สำหรับวันนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดโครงการสัมมนาการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง รับทราบนโยบายของภาครัฐ รวมถึงความก้าวหน้าในการพัฒนา ด้านดิจิทัลของประเทศไทย ที่จะเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยตามการจัดอันดับของในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย (World Digital Competitiveness Ranking) ต่อไป” ประเสริฐ กล่าว



ด้าน ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกที่เข้าสู่ยุคที่ดิจิทัลเป็นสมรรถนะหลักในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเริ่มมีการนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นองค์ประกอบในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ  รวมทั้งมีการจัดทำดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness) ในระดับนานาชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการได้กำหนดให้อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย (World Digital Competitiveness Ranking) ตามการจัดอันดับของสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) เป็นตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic KPIs) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ รวมถึงเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย และสร้างการรับรู้แก่บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์การพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ และกระทรวงฯ ในการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย


ดีอีเอส แถลงนโยบายการดำเนินงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ - สังคมดิจิทัลของประเทศ ภายใต้แผนงาน The Growth Engine of Thailand


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ แถลงนโยบายการดำเนินงานของกระทรวง ภายใต้แผนงาน “The Growth Engine of Thailand” โดยโฟกัส 3 ด้านสำคัญคือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศในระยะถัดไป


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงนโยบายการดำเนินงานของกระทรวง ภายใต้แผนงาน “The Growth Engine of Thailand” แก่สื่อมวลชน โดยเน้นย้ำว่า เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศจะให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) 2. การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) และ 3. การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital)


ประเสริฐ กล่าวว่า เครื่องยนต์ที่ 1 ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศคือ แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่ง กระทรวงดิจิทัลฯ จะมุ่งเน้นในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างโอกาสจากโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศอย่างจริงจัง โดยจะเร่งพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G ให้มีการใช้งานที่สอดคล้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม สร้างโอกาสความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนผ่านโครงข่ายการสื่อสารระหว่างประเทศสู่ระดับนานาชาติ มุ่งเน้นบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำผ่านกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค การขยายโอกาสผ่านเส้นทาง One-belt และ China Plus One เร่งรัดและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการค้าออนไลน์และ E-commerce ลดความยุ่งยากในการใช้ National Digital ID หรือระบบพิสูจน์ยืนยันตัวตนของผู้รับบริการภาครัฐและเอกชนผ่านระบบออนไลน์ เตรียมพร้อมรองรับยุคเศรษฐกิจ AI อีกทั้งเร่งให้เกิดแผนแม่บทการส่งเสริมการพัฒนา AI โดยเฉพาะการวางแนวทางการเยียวยาความเสียหายจากความผิดพลาดของ AI (Responsible AI) อย่างมีทิศทาง

นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ จะเร่งสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของไทยสู่เวทีโลกจากเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านแผนงานการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของ Digital Startup เน้นการสร้างระบบ Co-Investment และกองทุนเพื่อการพัฒนา Digital Startup Go Global ยกระดับศักยภาพการสร้างรายได้ของเกษตรกร สนับสนุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น New World of Digital Content and E-SPORTS และเป็นจุดหมายทางการค้า การลงทุนในเวทีโลก ส่งเสริมการลงทุนจัดตั้งธุรกิจ OTT Platform ในประเทศไทย พร้อมเร่งประสานแก้ไขปัญหาเพื่อให้การจัดตั้งธุรกิจมีความสะดวกและเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีธุรกิจประเภทต่าง ๆ โดยมุ่งพัฒนามาตรการหรือสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเพื่อให้ไทยเป็นระบบนิเวศที่แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการปรับตัวไปก่อนหน้าได้ อีกทั้งพัฒนา National Platforms เพื่อเป็นส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

สร้างสังคมดิจิทัลบนฐานความรู้ ทั่วถึง รู้ประยุกต์ใช้เป็น โดยเปิดโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนผ่านการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน สร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนไทยสามารถสืบค้นข้อมูลในห้องสมุดโลกผ่านระบบ AI ที่มีความปลอดภัยและมีความถูกต้องของข้อมูล ยกระดับชุมชนสู่การเป็น ชุมชนดิจิทัล หรือ One Community One Digital โดยการส่งเสริมให้ชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการบริการของรัฐบาลดิจิทัล โดยการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริการแก่ภาคประชาชน ภาคเอกชน หรือแม้แต่ภาครัฐในทุกมิติ และการเปิด API ให้ประชาชนและภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์ได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมเร่งรัดให้เกิดบริการภาครัฐแบบ One Stop Service พัฒนาระบบ One Wallet ส่งเสริมการนำเทคโนโลยี Blockchain และ Smart Contracts มาใช้สร้างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจภาคเอกชนสามารถเข้าถึงการบริการได้สะดวก ปลอดภัย โดยจะเปิดโอกาสให้ Digital Startup ไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ

สร้างเครือข่ายนานาชาติและ Digital Diplomacy เชิงรุกระหว่างประเทศ โดยเตรียมความพร้อมเข้าเป็นสมาชิก Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) และร่วมมือกับหน่วยงานด้านดิจิทัลระหว่างประเทศในเวทีพหุภาคี ส่งเสริมและกระชับความร่วมมือเชิงรุกในรูปแบบทวิภาคีกับประเทศแถวหน้าด้านดิจิทัล และเร่งสร้าง Mega Program พลิกโฉมประเทศไทย ผ่านการพัฒนา ASEAN Digital HUB โดยการขยายผลโครงการ Thailand Digital Valley ให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone) และขยายเขตเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทั่วประเทศ

ประเสริฐ กล่าวต่อว่า เครื่องยนต์ที่ 2 แนวทางการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลจะต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไทย ผ่านแผนงานการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์โดยเร่งด่วน โดยจะประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบและจับกุมผู้เปิดบัญชีแทน/บัญชีม้าในประเทศไทย เว็บพนันออนไลน์ รวมถึงมิจฉาชีพคอลล์เซ็นเตอร์ และจะเพิ่มประสิทธิภาพระบบการอายัดบัญชีให้ทันท่วงที ควบคู่ไปกับการป้องกันการจู่โจมทางไซเบอร์จากต่างประเทศ ผ่านแผนงานการสร้างศูนย์เตือนภัยไซเบอร์ (Cyber Alert Center) ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมการยกระดับศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศทุกระดับ เตรียมความพร้อมภาครัฐและภาคเอกชนด้านข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยการให้ความรู้และส่งเสริมให้เกิดความพร้อมด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความมั่นคงปลอดดภัยไซเบอร์ รวมถึงการส่งเสริมระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ทั้งในระดับความมั่นคงปลอดภัยสูงสุดและระดับทั่วไป


ในส่วนของเครื่องยนต์ที่ 3 การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ กระทรวงดิจิทัลฯ จะให้ความสำคัญกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ดิจิทัล สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ผ่านการสร้างโรงเรียนโค้ดดิ้งสำหรับเด็กไทยทุกคน (Coding Thailand) และการสร้างห้องเรียนทางเลือกให้เด็กมีสิทธิเลือกเรียนวิชาชีพอนาคต ตรงใจ ตรงตัว ตรงงาน รวมถึงการสร้างเด็กอาชีวะดิจิทัล (Digital Skills for Future Industries) สร้างแรงงานไทยให้มีทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล โดยการสร้างห้องเรียนฟรีสำหรับคนไทยวัยทำงาน จัดให้มีห้องเรียนเปิดด้านดิจิทัล หรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของคนไทย เรียนฟรี 24 ชั่วโมง ช่วยให้คนวัยทำงานทุกคนมีโอกาส Upskill และ Reskill ทักษะที่เหมาะสมกับตัวเอง และทักษะอื่นที่จำเป็นสำหรับงานในโลกอนาคต และจัดให้มีมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการพัฒนาทักษะดิจิทัล (Incentives for Thais)


นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มกำลังคนดิจิทัลในสาขาขาดแคลน โดยการพัฒนาระบบการศึกษาด้านดิจิทัลรูปแบบเปิด (Open Digital University) มุ่งพัฒนาระบบการเรียนบนโลกดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสให้คนไทยได้เรียนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหรือบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลกผ่านระบบ 5G พร้อมดึงดูดกำลังคนในสาขาที่ขาดแคลนยิ่งยวด โดยให้มี Global Digital Talent Visa สำหรับเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัย Top 600 ระดับโลก มีโอกาสได้มาท่องเที่ยวและทำงานกับบริษัทไทยที่มีความตกลงได้โดยสะดวก เพื่อประโยชน์ในการเติมเต็มกำลังคนของประเทศ และสร้างโอกาสด้านดิจิทัลให้คนกลุ่มเปราะบาง ผ่านแผนงาน Digital for ALL หรือการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัยและผู้พิการ เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิต มีงานทำ และมีรายได้ 


ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้กำหนดแผนงานระยะสั้น ซึ่งจะดำเนินการโดยทันที ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์เตือนภัยไซเบอร์ (Cyber Alert Center) เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน เร่งส่งเสริมชุมชนดิจิทัลโดรนใจ ตามแผนการดำเนินงานยกระดับชุมชนสู่การเป็นชุมชนดิจิทัล หรือ One Community One Digital ไม่น้อยกว่า 500 ชุมชน 50 ธุรกิจ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ล้านไร่ เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้กับเกษตรกร เร่งสร้างและพัฒนาอาชีพในอุตสาหกรรมเกมและกีฬา E-SPORTS แก่เยาวชนไทยมากกว่า 80,000 คน โดยคาดว่าจะเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนแก่ภาคอุตสาหกรรมผ่าน Global Digital Talent Visa เพื่อเปิดประเทศไทยในเวทีการแข่งขันโลกในระยะถัดไปรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวทิ้งท้าย

COMMENTS