26 ก.ค. 2566 441 0

ดีอีเอส เคาะเพิ่ม 6 พื้นที่สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะประเทศไทย

ดีอีเอส เคาะเพิ่ม 6 พื้นที่สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะประเทศไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ พร้อมร่วมพิจารณาข้อเสนอแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 6 พื้นที่ ก่อนมีมติเห็นชอบเพื่อประกาศมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย และรับทราบผลการเสนอชื่อจังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ และระยอง เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน


ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี ศ.(พิเศษ) วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ ฯ ร่วมพิจารณาข้อเสนอ และเห็นชอบแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จำนวน 6 พื้นที่ ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย (1) ลำปางเมืองอัจฉริยะ จังหวัดลำปาง (2) สมุทรปราการสมาร์ทซิตี้ จังหวัดสมุทรปราการ (3) เทพราชเมืองอัจริยะ จังหวัดฉะเชิงเทรา (4) นิคมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (เดิม มาบข่าเมืองอัจฉริยะ) จังหวัดระยอง (5) เมืองไตยองบวกค้างสมาร์ตซิตี้ จังหวัดเชียงใหม่ และ (6) เทศบาลนครศรีธรรมราชเมืองอัจฉริยะ จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่งผลให้ประเทศไทยจะมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะรวม 36 พื้นที่ ใน 25 จังหวัด เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 1,800,000 คน


นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการผลักดันเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะสู่เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน หรือ ASEAN Smart Cities Network (ASCN) จากเดิมที่ประเทศไทยมีเมืองที่เป็นสมาชิก ASCN แล้ว 3 เมืองคือ กรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต โดยในการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ไทยได้เสนอชื่อเมืองเพื่อเป็นสมาชิกเพิ่มเติม 3 เมือง ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ และระยอง ทำให้ปัจจุบัน ASCN มีสมาชิกรวม 29 เมือง ซึ่งเครือข่ายนี้จะเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการเมือง และขยายโอกาสความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรอื่น ๆ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลีย

ชัยวุฒิ กล่าวว่า เมืองที่จะได้รับตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยต้องมีแผนการจัดทำระบบบริการประชาชนให้ตอบโจทย์ใน 7 Smarts อาทิ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ เศรษฐกิจอัจฉริยะ การดำรงชีวิตอัจฉริยะ เป็นต้น และมีแผนการจัดทำ City Data Platform เพื่อรวบรวมข้อมูลของเมืองที่มีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ ‘ประชาชน’ ดังนั้นผู้พัฒนาเมืองจะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ร่วมขับเคลื่อน เนื่องจากภาคเอกชนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเมื่อเมืองนั้น ๆ ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะ


ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ดีป้า โดย สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถแก่บุคลากรที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งปีนี้ ดีป้า สามารถสร้างนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (Smart City Ambassadors) รวม 134 คน ให้มีโอกาสทำงานจริงเพื่อพัฒนาภูมิลำเนาของตนเอง นอกจากนี้ยังมีโครงการอบรมผู้บริหารผ่านหลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (The Smart City Leadership Program: SCL) ซึ่งจัดมาแล้ว 3 รุ่น มีผู้นำจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมอบรมรวมกว่า 140 คน รวมถึงการมอบรางวัลแก่เมืองที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในระบบบริการประชาชน ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะต้องให้บริการมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน ผ่านกิจกรรม The Smart City Solutions Awards 2023 รางวัลเชิดชูเกียรติและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยมีกำหนดมอบรางวัลในงาน Thailand Smart City Expo 2023 ระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายนนี้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สำหรับผลการประชุมในครั้งนี้จะนำเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะรับทราบ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป