6 ก.ค. 2566 314 3

เปิดงาน BIDC 2023 ชูแนวคิด Hello AI รับเทรนด์เทคโนโลยี AI ที่เข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม

เปิดงาน BIDC 2023 ชูแนวคิด Hello AI รับเทรนด์เทคโนโลยี AI ที่เข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม

เปิดงาน BIDC 2023 ชูแนวคิด Hello AI รับเทรนด์เทคโนโลยี AI ที่เข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม ทั้งวิถีชีวิต-การทำงาน-การเรียน หนุนสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโต


ภาคอุตสาหกรรมฯ ผนึกภาครัฐ เปิดงานมหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ “Bangkok International Digital Content Festival 2023” หรือ BIDC 2023 ครั้งที่ 10 ภายใต้แนวคิด Hello AI รูปแบบ onsite อีกครั้ง เพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและหนุนศักยภาพสู่เวทีระดับโลก  พร้อมเปิดเวทีจัดสัมมนาส่งมอบความรู้ เทคโนโลยี AI กับ การพัฒนา digital Content จากวิทยากรชั้นนำระดับโลกและไทยในรูปแบบไฮบริด และออนไลน์ พร้อมพิธีมอบรางวัล BIDC AWARDS ให้แก่ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ที่มีผลงานโดดเด่นในรอบปี และเวทีจับคู่เจรจาการค้าระหว่างผู้ประกอบการ ไทย-เทศรวมกว่า 80 บริษัท เชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ในภาพรวมยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง


ธัญดา นันทพันธุ์ ผู้แทนภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย และนายกสมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (e-LAT) กล่าวว่า ในนามผู้แทนภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ มีความความภาคภูมิใจว่า ปีนี้ BIDC ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ในการเป็นเทศกาลด้านดิจิทัลคอนเทนต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการผนึกกำลังของภาคอุตสาหกรรม 5 สมาคม และการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแสดงศักยภาพและความพร้อมภาคอุตสาหกรรมฯ ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในเวทีระดับสากล ซึ่งในปีนี้เราได้กลับมาจัดงานแบบ Onsite เป็นครั้งแรกหลังวิกฤตโควิด ในคอนเซ็ปต์ Hello AI  เพื่อขานรับและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เทคโนโลยีAI เข้ามามีบทบาทและสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่ AI ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก


ณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และประธานเปิดงาน BIDC 2023 ครั้งนี้ กล่าวว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตทั่วโลกตามพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นำมาสู่โอกาสมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่ง DITP ตระหนักในข้อนี้และเห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทย จึงมุ่งมั่นส่งเสริม สนับสนุน และสร้างโอกาส รวมทั้งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยอย่างต่อเนื่อง  โดยในปีที่ผ่านมา กรมดำเนินโครงการส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์สู่ตลาดโลก 8 โครงการ สร้างมูลค่า 3,325 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 นี้   เพิ่มกิจกรรมเป็น 10 โครงการ ตั้งเป้าที่จะสร้างมูลค่าได้มากกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าไม่เกินความจริงอย่างแน่นอน 

“ในอนาคต DITP จะเดินหน้าสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมฯ อย่างเต็มที่ต่อไป โดยเราจะพัฒนาวิธีการส่งเสริมให้ตอบโจทย์ธุรกิจนี้มากยิ่งขึ้น และปรับตัวไปพร้อมกับภาคอุตสาหกรรมฯ เพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศผ่านธุรกิจบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ทำน้อยได้มาก นำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างยั่งยืน” ณัฐิยา สุจินดา กล่าว

สำหรับงาน BIDC 2023 ในส่วนของกิจกรรม Business Matching โดยปีนี้มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม 54 บริษัท และผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้าร่วม 33 รายจาก 10 ประเทศ ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการกลับมาจัดงานแบบ onsite ครั้งแรกจะเป็นปัจจัยบวก ส่งผลดีให้การเจรจาการค้าและสร้างมูลค่าได้มากกว่า 500 ล้านบาทอย่างแน่นอน

ทางด้าน หริสุดา บุญยวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการจัดงานเมกะอีเวนท์และเทศกาลนานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) กล่าวว่า TCEB ในฐานะหน่วยงานที่มี พันธกิจในการพัฒนาและยกระดับงานเทศกาลนานาชาติของไทยให้เติบโตในระดับนานาชาติ มุ่งหวังให้งานเทศกาลนี้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการรวมตัวและต่อยอดธุรกิจของอุตสาหกรรมฯ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลงานที่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ ทำให้เกิดการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างที่เราได้เห็นผลงานไป อาทิ ด้านภาพยนตร์ หรือ ด้านเวอร์ชวลแอนิเมชั่น เป็นต้น

สำหรับงาน BIDC นั้น ทาง TCEB ได้มีการสนับสนุนการจัดงานมาตั้งแต่ปีแรก โดยร่วมผลักดันให้งานนี้เป็นศูนย์กลางในการพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเกิดการเจรจาธุรกิจของผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจดิจิทัล    คอนเทนต์ทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0 ที่จะผลักดันให้ดิจิทัลคอนเทนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผลักดันให้ประเทศไทยให้เป็นฮับของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ 


ทางด้าน ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า  การส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์เป็นหนึ่งในนโยบายที่ดีป้าผลักดันร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง       ทั้งเรื่องของเกม แอนิเมชัน คาแรกเตอร์ CG และ VFX รวมทั้ง E-Learning เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจดิจิทัล        คอนเทนต์ สร้างเครือข่าย การพัฒนาและสร้างศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน  จากผลสำรวจในปี 2564 มูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์อยู่ที่ 42,065 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า ปี 65 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 46,961 ล้านบาทซึ่งเติบโตจากเดิมประมาณ 12% โดยการเติบโตดังกล่าว มีปัจจัยมาจากการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น Metaverse, NFT รวมถึงการขยายตัวของผู้เล่น Game และEsports


อินทพันธุ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) กล่าวว่า CEA ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งอีกครั้งในงาน BIDC 2023 ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3  โดยเรามีวัตถุประสงค์ที่จะร่วมผลักดันการพัฒนาผลงานของแรงงานสร้างสรรค์และเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการในการเชื่อมโยงการผลิตผลงานที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และ CEA ให้ความสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ร่วมกับ 5 สมาคมวิชาชีพด้านดิจิทัลคอนเทนต์ของไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า BIDC จะเป็นเวทีที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมคอนเทนต์สร้างสรรค์ของไทย รวมทั้งเสริมความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางความคิดสร้างสรรค์ สอดรับกับนโยบาย Soft Power ที่มุ่งเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืน

ธัญดา นันทพันธุ์ ผู้แทนภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย กล่าวเสริมตอนท้ายว่า สำหรับกิจกรรมใน BIDC ปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม โดยในวันนี้เรามีการจัดงานพิธีเปิดและงานประกาศรางวัล BIDC Awards ถึง 22 รางวัล ประกอบด้วย (1) รางวัลสาขา Emerging Technology & Education โดยสมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (BASA) รวม 3 รางวัล  (2) รางวัลสาขา Character โดยสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) รวม 3 รางวัล (3) รางวัลสาขา e-Learning โดยสมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (e-LAT) รวม 4 รางวัล      (4) รางวัลสาขา Animation and Visual Effect โดยสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) รวม 6 รางวัล  (5) รางวัลสาขา Game & Interactive โดยสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) รวม 6 รางวัล  พร้อมปิดท้ายด้วยกิจกรรมสัมมนาแบบ Hybrid กับ 2 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อ Design and Deliver Exceptional Digital Experiences โดยมีวิทยากร : Rajesh Patil (Head - Territory & Channel Sales, Adobe และหัวข้อ Building Creator Profile for International Market การจัดเตรียม Profile เพื่อรับงานต่างประเทศและสำหรับ Outsourcing วิทยากร : เอมสินธุ รามสูต (Head of Content Development, The Monk Studios) ธวัชชัย ชุนหชัย (Co-Founder, Plastiek Studio) และ พรวจนะ ทิมกาญจนะ (Digital Artist) เป็นต้น


นอกจากนี้มีรายละเอียดกิจกรรมใน BIDC 2023 ดังนี้

  • ในวันที่ 7-9 กรกฏาคมจะมีการจัดสัมมนาในรูปแบบออนไลน์โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและต่างชาติมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์  
  • ในวันที่ 16 กรกฏาคมจะเป็นงาน Networking Reception เพื่อสร้างเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการไทยและต่างชาติที่จะร่วมเจรจาการค้ากัน
  • ในวันที่ 17-18 กรกฏาคม ซึ่งกิจกรรมเจรจาการค้าเป็นไฮไลท์สำคัญที่สร้างมูลค่าให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ต่อเนื่องทุกปี 

สำหรับผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ สตาร์ทอัพ นักศึกษาและผู้สนใจ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ค แฟนเพจ www.facebook.com/bidc.fest

ทั้งนี้การจัดงาน BIDC ต่อเนื่องมาสู่ปีที่ 10 ได้รับการตอบรับอย่างมากจากผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ทั้งในและต่างประเทศโดยจากจำนวนผู้เข้าร่วมงานในทุกปีมากกว่า 80 บริษัท คาดการณ์ว่าจะสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศจากอุตสาหกรรมฯ ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท พร้อมเชื่อมั่นในศักยภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยจะเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยความร่วมมือและการส่งเสริมจากทุกภาคส่วน