28 มิ.ย. 2566 369 0

รมว.ดีอีเอส ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ Travel Link เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวไทย

รมว.ดีอีเอส ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ Travel Link เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ติดตามความคืบหน้าและผลสำเร็จการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ “Travel Link: เชื่อม (ข้อมูล) ท่องเที่ยวให้ถึงกัน” โดย สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) หรือ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (BDI) ในปัจจุบัน ชูความสำเร็จของการเชื่อมโยงความร่วมมือจากมากกว่า 20 หน่วยงาน รวบรวมชุดข้อมูลอ้างอิงมากกว่า 100 ชุด มีข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวไทยมากกว่า 14,000 แหล่ง พร้อมขยายผลสู่การบริการด้านข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ


ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมคณะร่วมติดตามความคืบหน้าและผลสำเร็จภายใต้การพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ “Travel Link: เชื่อม (ข้อมูล) ท่องเที่ยวให้ถึงกัน” โดยมี รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI คณะทำงานโครงการ Travel Link อนุกูล จันทร์จรัส ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมทีมงาน และ ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ร่วมให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงาน


ชัยวุฒิ เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยความคืบหน้าการดำเนินงานของแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ “Travel Link: เชื่อม (ข้อมูล) ท่องเที่ยวให้ถึงกัน” แสดงให้เห็นความสำเร็จอีกขั้นในการบูรณาการการทำงานระหว่างรัฐและเอกชน ผสานเข้ากับเทคโนโลยีเพื่อการจัดการข้อมูลก่อนเชื่อมโยงไปสู่การใช้งานจริง โดยอาศัยความรู้ความสามารถของคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าวขึ้น ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ในการเพิ่มมูลค่าให้กับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เกิดการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานของรัฐและเอกชนสำหรับการแก้ไขปัญหา การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการให้บริการการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนับเป็นการเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนประเทศอย่างมั่นคงในอีกขั้น


ด้าน รศ.ดร.ธีรณี กล่าวว่า แพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ “Travel Link: เชื่อม (ข้อมูล) ท่องเที่ยวให้ถึงกัน” เป็นหนึ่งในโครงการที่ GBDi เริ่มต้นพัฒนาขึ้น โดยความร่วมมือกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ปัจจุบันมีการบูรณาการข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากกว่า 20 หน่วยงาน อาทิ ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม อัตราการเข้าพัก ฯลฯ เกิดชุดข้อมูลอ้างอิง (Data Catalog) มากกว่า 100 ชุด มีข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวไทยมากกว่า 14,000 แหล่ง เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางในการให้บริการ นอกจากนี้ยังมีการสำรวจเพื่อให้เข้าใจความต้องการของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการหรือนักท่องเที่ยว ว่ามีข้อมูลใดบ้างที่ให้ความสนใจ เช่น จำนวนและพฤติกรรม เป็นต้น โดยวิธีการศึกษาจะเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ มีการสัมภาษณ์เชิงลึก มุ่งทำความเข้าใจพฤติกรรมในบริบทและมุมมองที่หลากหลาย โดยผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงประชาชนที่สนใจสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลได้ผ่าน https://www.travellink.go.th/ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของ BDI ในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ที่เกิดจากการทำงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่

“BDI มีความพร้อมอย่างยิ่งในการเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยความสามารถของบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ เข้าใจเทคโนโลยีอุบัติใหม่ รวมถึง Business Domain ต่าง ๆ ของรัฐ และมีประสบการณ์ด้านข้อมูลเพื่อการวางแผนของภาครัฐพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มสำคัญด้านการท่องเที่ยวของไทย โดย BDI จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” ผู้อำนวยการ BDI กล่าว


พร้อมกันนี้ ชัยวุฒิ ยังได้ร่วมพูดคุยถึงการดำเนินงานด้านข้อมูลขนาดใหญ่ในโครงการต่าง ๆ โดยนอกเหนือจากแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ Travel Link แล้ว BDI ยังได้บูรณาการการทำงานไปแล้วกว่า 100 โครงการกับ 67 หน่วยงาน รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (Health Link) ระบบเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและเยาวชน (Youth Link) และระบบเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (CO-Link)