22 มิ.ย. 2566 347 0

สดช. จัดอบรมพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ประจำหมู่บ้านครั้งแรก หวังเป็นกลไกพัฒนาประเทศสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล

สดช. จัดอบรมพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ประจำหมู่บ้านครั้งแรก หวังเป็นกลไกพัฒนาประเทศสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล



ภุชพงค์ โนดไธสง
เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธานเปิดการอบรมพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ประจำหมู่บ้าน ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี รัตนา จรูญศักดิ์สิทธิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เข้าร่วม ณ โรงแรม เบสท์ เวสเทิร์น นาดา ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ ทั้งนี้ การอบรมฯ ดังกล่าว จะขึ้นอีกจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี โดยในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมอบรมจากเครือข่ายความร่วมมือด้านดิจิทัล อาทิ เครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชน เครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) กรมราชทัณฑ์ ตลอดจนประชาชนที่มีความสนใจด้านดิทิทัล เข้าร่วมจำนวนกว่า 80 คน


ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนาผู้ที่มีจิตอาสาและมีความสนใจใฝ่รู้ทางด้านดิจิทัลที่ถูกต้อง ให้เป็นอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีจิตสาธารณะ โดยมีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้อง พร้อมเกื้อหนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และเป็นกลไกการทำงานของภาครัฐให้สามารถสื่อสารด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ทั้งยังเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน โดยมีความมุ่งหวังให้ อสด. เป็นส่วนหนึ่งในกลไกการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและพัฒนากลุ่มเป้าหมายสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลต่อไป


“สดช. ได้ตระหนักและให้ความสำคัญด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตและการบริการ เพื่อสร้างโอกาสทางสังคมได้อย่างเท่าเทียม ด้วยข้อมูลข่าวสารและบริการต่างๆ ผ่านสื่อดิจิทัลในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เตรียมความพร้อมให้บุคลากรทุกกลุ่มมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล” ภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม