17 มิ.ย. 2566 394 0

ดีอีเอส จับตาข่าวปลอม สุขภาพ-สินเชื่อออนไลน์ พุ่งไม่หยุด!! หลอกไม่เลิก เตือนอย่าเชื่อเด็ดขาด

ดีอีเอส จับตาข่าวปลอม สุขภาพ-สินเชื่อออนไลน์ พุ่งไม่หยุด!! หลอกไม่เลิก เตือนอย่าเชื่อเด็ดขาด

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พบข่าวปลอมสุขภาพ กระแสแรงต่อเนื่อง ประชาชนหลงเชื่อและแชร์ข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะ“ปั่นหูหลังอาบน้ำ ระวังเป็นเชื้อรา”มากสุดทำคนตื่นตระหนก รองลงมา “เพจออมสิน-เพื่อนผู้เริ่มประกอบการ” ปล่อยสินเชื่ออาชีพอิสระและเจ้าหน้าที่กฟภ. ติดต่อให้รับเงินค่าไฟคืน ข้อมูลเท็จ ไม่เป็นความจริง เตือนประชาชนเช็คข้อมูลให้ครบ ทุกด้านเลือกเชื่อ เลือกแชร์!


เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวถึง ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 3,236,913 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 212 ข้อความ ทั้งนี้ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 166 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 44 ข้อความ การแจ้งเบาะแสผ่าน Website 2 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 159 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 89 เรื่อง

ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในกระเทศ จำนวน 60 เรื่อง อาทิ ผู้ได้สิทธิสวัสดิการบัตรใหม่ที่ยังไม่ได้ยืนยันตัวตนที่ธนาคารสามารถไปยืนยันตัวตนได้ถึง 26 มิ.ย. นี้ เพื่อรับสิทธิค่ารูดสินค้าย้อนหลัง 900 บาท เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 62 เรื่อง อาทิ ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ส่งผลให้เกิดกลุ่มผิดปกติทางระบบประสาทแบบเฉียบพลัน และ อาจทำให้ความจำเสื่อมได้ เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 10 เรื่อง อาทิ เตือนน้ำท่วมใหญ่ พายุเข้าพัดถล่มไทยทั่วประเทศ มรสุมฝนรุนแรง สูงสุด 80% ของพื้นที่ เป็นต้น

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 27 เรื่อง อาทิ ปตท. เปิดลงทุนซื้อหุ้นน้ำมัน ราคาพื้นฐาน 187 บาท ผ่านเพจ Get Market เป็นต้น

โดยมี ประเด็นข่าวที่เกี่ยวกับโควิด-19 จำนวน 2 เรื่อง

สำหรับข่าวปลอม และข่าวบิดเบือนที่มีการแชร์วนซ้ำบ่อยที่สุดในรวม 10 ลำดับ  ได้แก่

อันดับที่ 1 : ปั่นหูหลังอาบน้ำ ระวังเป็นเชื้อรา

อันดับที่ 2 : ออมสินสร้างงานสร้างอาชีพ by gsb ผ่านเพจออมสิน-เพื่อนผู้เริ่มประกอบการ

อันดับที่ 3 : เจ้าหน้าที่กฟภ .ติดต่อปชช. ให้รับเงินที่จ่ายค่าไฟเกิน

อันดับที่ 4 : โครงการไทยมีงานทำ จากกรมการจัดหางาน รับสมัครคนมีเวลาว่าง จำนวนจำกัด

อันดับที่ 5 : สร้อยข้อมือแม่เหล็ก ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดี ลดอาการปวดตามข้อและร่างกายป้องกันเซลล์มะเร็ง

อันดับที่ 6 : ทฤษฎีความร้อนบำบัดโดยก้อนถ่านหุงต้มสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกระยะและทุกอวัยวะของร่างกาย

อันดับที่ 7 : การอั้นปัสสาวะในเพศชายช่วยลดต่อมลูกหมากโต ส่วนในเพศหญิงช่วยลดโรคช้ำรั่ว

อันดับที่ 8 : มาตรการคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าเร่งด่วน ลงทะเบียนจนท. ที่ลิงก์ w-vth.cc

อันดับที่ 9 : หมากพลูต้านมะเร็ง ช่วยลดกลิ่นปาก

อันดับที่ 10 : โปรตีนจากอกไก่ปั่นไข่ขาวเป็นอาหารเลี้ยงเซลล์มะเร็ง

“จาก 10 อันดับ พบข่าวเกี่ยวกับสุขภาพมากถึง 6 อันดับ โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นใกล้ตัว ทั้งปัญหาสุขภาพที่คนวิตกกังวล ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในสังคมจึงคาดว่าอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของผู้รับข่าวสาร” เวทางค์ กล่าว

พร้อมกันนี้ เวทางค์ ยังขอความร่วมมือประชาชน ตรวจสอบให้รอบด้าน อย่าหลงเชื่อในข้อความเชิญชวนต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ และเรื่องการหลอกลวงให้กู้เงิน หลอกลงทุน ให้สินเชื่อต่าง ๆ ของมิจฉาชีพที่ปลอมเป็นธนาคาร เลือกแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และถูกต้อง มีสติ รู้เท่าทันข่าวปลอม และสามารถติดตามแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง