26 พ.ค. 2566 16,841 7

ดีอีเอส ผสาน ตร. ธ.กสิกรไทย และผู้ให้บริการโทรศัพท์ จับ 6 มิจฉาชีพ ทะลายแก๊ง SMS ดูดเงินผ่านธนาคารสูญเงิน 200 ล้านบาท

ดีอีเอส ผสาน ตร. ธ.กสิกรไทย และผู้ให้บริการโทรศัพท์ จับ 6 มิจฉาชีพ ทะลายแก๊ง SMS ดูดเงินผ่านธนาคารสูญเงิน 200 ล้านบาท

จากกรณีที่ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการที่มิจฉาชีพแอบอ้างส่ง SMS ธนาคารกสิกรไทยให้กับลูกค้าธนาคารมากกว่า 20,000 บัญชี และใช้แอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกลโอนเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้าทำให้สูญเสียเงินประมาณ 200 ล้านบาทนั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงาน กสทช. สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ธนาคารกสิกร AIS และ True ได้ร่วมกันทลายรังแก๊งสวมรอยธนาคารกสิกรไทยส่ง SMS หลอกดูดเงินโดยมีผู้กระทำความผิดทั้งหมด 6 คน พร้อมของกลางรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) จำนวน 4 คัน พร้อมระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ก่อเหตุจำนวน 5 ชุด

พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. กล่าวว่า ผู้กระทำความผิดใช้เครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการสร้างเสาสัญญาณโทรศัพท์ปลอมส่ง SMS ไปถึงลูกค้าธนาคารทำให้ลูกค้าธนาคารและดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และผู้เสียหายหลงเชื่อทำให้เกิดความเสียหายขึ้น

ผู้เสียหาย กล่าวว่า เมื่อได้รับ SMS ตนเองหลงเชื่อและกดดาวน์โหลดข้อมูล และมิจฉาชีพใช้เวลาประมาณ 30 นาที ในการใช้แอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล ในการถอนเงินจากบัญชี ทำให้สูญเสียเงินมากกว่า 100,000 บาท ตนเองรู้ตัวว่าโดนมิจฉาชีพหลอก เนื่องจากไม่สามารถเข้าใช้บัญชีธนาคารได้ตามปกติ โดยบัญชีธนาคารที่ได้รับความเสียหายคือธนาคารกสิกรไทย




ทั้งนี้ มิจฉาชีพจะนำเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ซึ่งใช้รหัสที่เรียกว่าปลากระเบนไว้ในรถยนต์ จากนั้นมิจฉาชีพจะขับรถไปยังย่านชุมชนแล้วส่งสัญญาณ SMS ปลอมไปยังประชาชน เพื่อให้เข้าใจผิดว่าบัญชีธนาคารของตนเองมีปัญหาและให้กดลิงก์อัพเดทและดาวน์โหลดข้อมูลของตนเอง ในระหว่างนั้น มิจฉาชีพจะใช้แอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล ในการควบคุมโทรศัพท์ของเหยื่อเพื่อทำการถ่ายโอนหรือถอนเงินจากบัญชีของเหยื่อทำให้เกิดความเสียขึ้น

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางด้านการเงินที่ผ่านมา ดีอีเอสมุ่งสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน โดยได้ทำความร่วมมือกับสมาคมธนาคาร โดยทุกธนาคารมีการแจ้งเตือนภัยออนไลน์และข่าวปลอมให้กับลูกค้าธนาคารผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารและแอปพลิเคชันเป๋าตัง


 สำหรับผู้กระทำความผิดไม่เพียงเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคมเท่านั้น แต่ยังมีความผิดตาม กฏหมายเกี่ยวกับการฉ้อโกง และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นโทษทางอาญาที่สูง และจะต้องดำเนินการและดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ซึ่งอาจจะขยายผลในเรื่องเงินที่ได้รับจากกระบวนการต่างๆ ไปยังบุคคลข้างเคียง ภายหลังจากที่ได้มีการบังคับใช้ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๖๖ เป็นต้นมา มีส่วนสำคัญที่ทำให้มิจฉาชีพจัดหาซิมม้าและบัญชีม้าได้ยากขึ้น มิจฉาชีพต้องเปลี่ยนวิธีที่ใช้ในการหลอกลวงประชาชน ทำให้มีโอกาสจับคนร้ายในประเทศได้มากขึ้น ปลัดดีอีเอส กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง : AIS ร่วมมือตำรวจไซเบอร์ กสทช. ทลายแก๊งมิจฉาชีพ ใช้เครือข่ายปลอมผิดกฎหมาย Fake Base Station  ส่ง SMS หลอกลวงประชาชน adslthailand.com/post/14352 #AIS #เอไอเอส #ตำรวจไซเบอร์ #กสทช. #มิจฉาชีพ #SMSหลอกลวง #FakeBaseStation