4 พ.ค. 2566 533 0

ส่องไอเดียคนรุ่นใหม่ออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ City Festival จากงานประกวดแบบสุดยิ่งใหญ่แห่งปี! MQDC ร่วมกับ CDAST จัดการประกวดแบบปีที่ 2

ส่องไอเดียคนรุ่นใหม่ออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ City Festival จากงานประกวดแบบสุดยิ่งใหญ่แห่งปี! MQDC ร่วมกับ CDAST จัดการประกวดแบบปีที่ 2

"MQDC Design Competition 2023 – RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention" ต่อยอดความสำเร็จในฐานะโครงการประกวดแบบที่มีผู้สมัครมากที่สุดในไทย!


  • MQDC ร่วมกับสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) เปิดตัวโครงการประกวดแบบพื้นที่สาธารณะปีที่ 2 ภายใต้ชื่อ “MQDC Design Competition 2023 – RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention” เฟ้นหาสุดยอดผลงานออกแบบพื้นที่สาธารณะให้ตอบโจทย์กิจกรรมทางสังคมและรองรับไลฟ์สไตล์คนเมืองยุคใหม่ หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อทุกคนในสังคม
  • เผยเทรนด์ “City Festival” ชูดีไซน์พื้นที่สาธารณะและพื้นที่กึ่งสาธารณะของเมืองเพื่อรองรับกิจกรรมทางสังคมของคนเมืองที่เหมาะสมกับปัจจุบันและอนาคต พร้อมสร้างสรรค์เมืองแห่งงานอีเวนต์หรืองานเทศกาลเพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคน
  • ประกาศผลงานที่ผ่านเข้ารอบชิงทั้งหมด 20 ทีม คัดเลือกจากผู้สมครทั้งสิ้น 1,222 คน ทั้งประเภทนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ร่วมชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาท และการศึกษาดูงานต่างประเทศสำหรับผู้ชนะระดับ Gold

บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ร่วมกับ สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) จัดโครงการประกวดผลงานออกแบบพื้นที่สาธารณะในหัวข้อ "MQDC Design Competition 2023 – RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention" เฟ้นหาสุดยอดผลงานออกแบบพื้นที่สาธารณะของเมืองและพื้นที่กึ่งสาธารณะให้สามารถรองรับกิจกรรมทางสังคมที่ตอบโจทย์ต่อการใช้พื้นที่เมืองในอนาคตของคนเมืองยุคใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว เสริมสร้างภาพลักษณ์ของเมือง และทำให้เกิดการพัฒนาย่านต่าง ๆ ด้วยสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานจริง เพื่อสร้างสรรค์เป็นเมืองแห่งงานเทศกาลหรือการจัดการกิจกรรมชั่วคราว พร้อมขับเคลื่อนเมืองให้น่าอยู่อาศัยมากขึ้นสำหรับทุกคน เหล่านักออกแบบทั้งนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่ส่งผลงานเข้าประกวดจะได้ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 2,000,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และรางวัลเดินทางศึกษาดูงานต่างประเทศสำหรับผู้ชนะเลิศระดับ Gold โดยการจัดโครงการในปีนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จอันล้นหลามจากปีก่อน ซึ่งในปีนี้มีนักออกแบบเข้าร่วมมากถึง 1,222 คน ถือเป็นโครงการประกวดแบบที่มีผู้สมัครเข้าร่วมมากที่สุดในประเทศไทย โดย MQDC และ CDAST พร้อมเดินหน้าโครงการเพื่อยกระดับพื้นที่จัดงานสู่มาตรฐานสากลในอนาคต

ในปีนี้  MQDC และ CDAST เล็งเห็นว่าในปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับพื้นที่สร้างสรรค์ที่รองรับงานเทศกาล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความเป็น “เมืองน่าอยู่” เทศกาลจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการ “ปลุกเมือง” ให้คึกคัก พร้อมช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และดึงดูดเม็ดเงินให้แก่ประเทศ ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการออกแบบพื้นที่ให้มีความเหมาะสมต่อการจัดเทศกาลในทุกแง่มุม เวทีประกวดในครั้งนี้จึงจัดขึ้นในธีม “RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention” เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้นำเสนอพื้นที่ในฝัน ภายใต้โจทย์ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างสรรค์เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน

โดยโครงการประกวดฯ ในปีนี้ ยังคงรักษาไว้ซึ่งเป้าหมายในการยกระดับพื้นที่ส่วนกลาง ทั้งพื้นที่สาธารณะและ กึ่งสาธารณะของเมือง ให้สามารถรองรับการจัดงานเทศกาลที่กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางสังคมและ

ตอบโจทย์การใช้พื้นที่เมืองในอนาคต ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ให้มีความพร้อมก้าวสู่มาตรฐานสากล โดยพื้นที่ออกแบบจะต้องมีศักยภาพในการดึงการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้างกิจกรรมเมืองรูปแบบใหม่ที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ MQDC และ CDAST ยังเปิดเวทีการออกแบบอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่ของไทยให้มีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์หลักของ MQDC ภายใต้แนวคิด ‘For All Well-Being’ ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนให้แก่ทุกชีวิตบนโลกใบนี้


ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ ผู้แทนประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) กล่าวว่า “CDAST มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโครงการ "MQDC Design Competition 2023 – RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention" ปัจจุบันเทรนด์ของการออกแบบเมืองทั่วโลกมุ่งให้ความสำคัญกับ Inclusive Place for City Festival หรือพื้นที่สาธารณะและพื้นที่กึ่งสาธารณะที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนเมือง พร้อมเปิดพื้นที่ให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงสถานที่จัดงานกิจกรรมได้อย่างเท่าเทียม ดังนั้นเราเชื่อว่า หัวใจสำคัญของการออกแบบพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะสำหรับงานอีเวนต์และเทศกาลที่เป็นพื้นที่ของทุกคนอย่างแท้จริง ก็คือการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอไอเดีย เพื่อให้ทุกคนได้ดีไซน์พื้นที่สร้างสรรค์ที่สามารถตอบโจทย์คนในวงกว้าง”

“สำหรับโจทย์ที่เรามอบให้นักออกแบบได้ประชันไอเดียตามแนวคิด RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention ก็คือ 1.) การออกแบบสถาปัตยกรรม หรือการออกแบบองค์ประกอบใหม่ของพื้นที่ ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของชุมชน (Design Intervention) 2.) การออกแบบกิจกรรม/งานเทศกาลชั่วคราวตามบริบทของพื้นที่ 3.) การออกแบบที่สะท้อนเอกลักษณ์และความร่วมมือของพื้นที่ และ 4.) การออกแบบที่สร้างบรรยากาศที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความมีชีวิตชีวา และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเมือง และสำหรับความต้องการด้านพื้นที่ แต่ละทีมต้องออกแบบผลงานที่ประกอบด้วย 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่จัดกิจกรรม (Activities Area) พื้นที่เชิงพาณิชย์ (Commercial Area) และพื้นที่บริการ (Service) ในสัดส่วนที่สามารถกำหนดได้ตามความเหมาะสม โดยแต่ละทีมที่ผ่านเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้าย ได้แสดงให้เราเห็นว่าพื้นที่ของเขาสามารถต่อยอดเป็นสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์สังคมและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้อย่างเป็นรูปธรรม” ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อธิบาย


ไชยยง รัตนอังกูร หัวหน้าคณะที่ปรึกษา Creative Lab by MQDC ในฐานะผู้จัดทำการประกวดแบบ กล่าวว่า “จุดเด่นของการประกวดแบบครั้งนี้ คือการหวังผลให้นำแบบมาใช้ได้ในพื้นที่จริง โจทย์ในการออกแบบจึงมีสเกลจากพื้นที่ต้นแบบจริง ซึ่งมีให้เลือก 2  กลุ่มคือ ผู้เข้าประกวดที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล จะใช้พื้นที่ในย่านสุขุมวิทตอนใต้ ได้แก่ 1. สำนักงานเขตพระโขนง 2. เพลินพระโขนง 3. ลานหน้าโรงเรียนวัดธรรมมงคล 4. 101 True Digital Park 5. Cloud 11 และ 6. Bitec Buri และผู้เข้าประกวดที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ให้ใช้พื้นที่สาธารณะของเมือง (Urban Public Space) เช่น ลานโล่งหน้าอาคารสำคัญ หรือพื้นที่ย่านเมืองเก่า เป็นต้น โดยทั้งหมดจะต้องมีการศึกษาข้อมูลและนำเสนอตามหลักการออกแบบ การจัดงานในพื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่ต้องมีการวางแผนบริหารจัดการจากทั้งนักออกแบบ ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่ เราจึงนำมาเป็นโจทย์ว่า ในฐานะนักออกแบบคิดว่า งานเทศกาลจะสร้างการเปลี่ยนแปลงกับเมืองและประเทศของเราอย่างไร”


ด้าน รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) กล่าวว่า “City Festival สำคัญมากในการ Activate หรือปลุกการรวมตัวของคนในชุมชน โดยคนไทยชื่นชอบการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อแชร์ความสุขสนุกสนานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยหัวใจสำคัญคือการสร้างพื้นที่การจัดกิจกรรมที่ตอบโจทย์วิถีของผู้คนในย่านนั้น ๆ และท้ายที่สุดแล้ว พื้นที่นั้นจะกลายเป็นศูนย์รวมของคนและเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นและของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ การประกวดครั้งนี้สะท้อนความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อ “Social Space” พวกเขามองว่าพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่แห่งการบอกเล่าตัวตนของย่านนั้น ๆ และหลาย ๆ ทีมก็มีไอเดียที่แปลกใหม่และน่าสนใจ เช่น นำเรื่องของความเชื่อหรือสายมู มาถ่ายทอดเป็นแบบได้อย่างน่าทึ่ง เราดีใจที่มีการเปิดเวทีให้นักออกแบบได้เสนอแนวคิดสำหรับพื้นที่ของส่วนรวมซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนและสังคมเป็นอย่างมาก”


ขณะที่ พิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เผยว่า “การประกวดการออกแบบพื้นที่ของเมืองในลักษณะนี้ควรได้การสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยดึงคนในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการออกแบบพื้นที่ของตนแล้ว หากเราได้นำแบบไปสร้างพื้นที่จริงจากแบบของนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พื้นที่ตรงนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศได้เป็นอย่างดี และยิ่งหากพื้นที่ในย่านนั้นมีศักยภาพและสามารถรองรับการจัดเทศกาลที่มีกิมมิคแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ในอนาคต เราสามารถต่อยอดการออกแบบในลักษณะนี้ให้เป็นเวทีระดับนานาชาติได้อย่างแน่นอน”

รางวัลการประกวดแบ่งเป็น รางวัลชนะเลิศ ประเภทนิสิตนักศึกษาและประเภทบุคคลทั่วไป ประเภทละ 3 รางวัล รางวัลชมเชยประเภทละ 3 รางวัล โดยจะได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัล และผู้ชนะเลิศระดับ Gold จะได้รางวัลเดินทางดูงานต่างประเทศ ประกาศผลผู้ชนะในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2566  และประกาศรางวัล Popular Vote 1 รางวัล ในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566 โดยจะได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัลเช่นเดียวกัน


โดยโครงการฯ ได้ประกาศทีมที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายดังต่อไปนี้

ประเภทนิสิต/นักศึกษา จำนวน 10 ทีม ได้แก่

  • ทีม A035 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับผลงาน “กาล ฯ เทศะมังค์ KAL-THESA MONK”
  • ทีม A049 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับผลงาน “นิทรรศการเสี่ยงดวง SNAKE SNAKE RICH RICH”
  • ทีม A050 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน “มาหา-นคร”
  • ทีม A112 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับผลงาน “ไทย-มู(ง) THAI-MU(NG)”
  • ทีม A133 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน “คราวนี้พบกัน FESTIVAL : CLOUD 11”
  • ทีม A158 จากมหาวิทยาลัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน “Cherry FESTIVAL (ARTxFOODxCULTURE)”
  • ทีม A222 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน “ลานละคร LARN LA KORN”
  • ทีม A265 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน “อัสดงร่วมกัน”
  • ทีม A313 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับผลงาน “วิถีอีสาน KHONKAEN FESTIVAL”
  • ทีม A322 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับผลงาน “เด็กคะนอง-คึกโขนง”

ประเภทบุคคลทั่วไป สถาปนิกหรือนักออกแบบทั่วไป จำนวน 10 ทีม ได้แก่

  • B009 กับผลงาน “MAZE WATER FES”
  • B044 กับผลงาน “ยกโขนง”
  • B073 กับผลงาน “Pakphanang young หฺมฺรับ”
  • B081 กับผลงาน “ล้อเล่น”
  • B102 กับผลงาน “X.CO (DIGITAL X PHYSICAL AND COLLABORATION)”
  • B106 กับผลงาน “Lamphun Art and Craft Festival ศิลปะ ทอ เมือง”
  • B114 กับผลงาน “แสงตะวันรามา THE SANG TAWAN RAMA THEATER”:
  • B124 กับผลงาน “อ้อ-มา-กา-เสะ ma ka sa”
  • B137 กับผลงาน “อาร์ท อิน อาราม เฟสติวัล”
  • B152 กับผลงาน “รัก ล่อง หน”

สำหรับตัวอย่างผลงานที่นำเสนอคอนเซ็ปต์การออกแบบที่น่าสนใจ สำหรับประเภทนักศึกษา ได้แก่ ทีม A112 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับผลงาน “ไทย-มู(ง) THAI-MU(NG)” ซึ่งนำเสนอการใช้พื้นที่ ณ ลานหน้าวัดธรรมมงคล มาจัด “ไทย-มู(ง)” เทศกาลแห่งความเชื่อเพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียดของผู้คนที่มีความหลากหลายทางสังคมและความเชื่อ และตีแผ่ให้เข้าใจถึงอีกแง่มุมของความเชื่อที่เหนือกว่าความงมงาย อาทิ Coin Wishing Well เป็นต้น และอีกหนึ่งทีมในประเภทนิสิตนักศึกษา ได้แก่ ทีม A322 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือกับผลงาน “เด็กคะนอง-คึกโขนง” ที่มองว่าพื้นที่แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์อย่าง Co-Creation Space ที่เป็นพื้นที่ที่ดึงทักษะ และความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่มาแสดงออกอย่างไม่มีข้อจำกัดและเงื่อนไขผูกมัดใดๆ หรือเรียกอีกนัยหนึ่งคือพื้นที่ที่สามารถแสดงความในใจของคนรุ่นใหม่ให้ได้มีการเปิดกว้างต่อการลองผิดลองถูก ทดลองทำสิ่งต่างๆ และนำเสนอแนวคิดพร้อมสนับสนุนผลงานของเยาวชนไปสู่ถึงการแสดงออก ผ่านเลนส์ความคิดของคนรุ่นใหม่ จึงเป็นแรงบันดาลใจของโครงการเด็กคะนอง คึกโขนง มาจากการที่เราได้ประสบและพบปัญหาการขาดโอกาสของเด็กโดยตรง โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงเป็นการจุดประกายในไอเดียการแก้ปัญหาต่อกิจกรรมในการปรับตัวของเยาวชนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคมในเขตพระโขนง การมีพื้นที่ให้เยาวชนได้สร้างผลลัพธ์อะไรบางอย่างไปพร้อมกันกับคนต่างวัยในพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่พื้นที่ในการจัดงานที่ดี แต่เป็นพื้นที่ที่จะพัฒนาการอาศัยอยู่ร่วมกันของเด็ก เยาวชนและผู้ใหญ่ในสังคมเล็กๆ ของเขตพระโขนงได้อย่างยั่งยืน


สำหรับประเภทบุคคลทั่วไป หนึ่งในทีมที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์สุดสร้างสรรค์และสามารถดึงเอกลักษณ์ของพื้นที่ออกมาได้เป็นอย่างดี ได้แก่ ทีม B152 กับผลงาน “รัก ล่อง หน” ซึ่งอาศัยการใช้พื้นที่รอบ ๆ วัดธรรมมงคล จัดงาน “รัก ล่อง หน” เทศกาลสัมผัสรักที่มองไม่เห็น ผ่านความรักอันสากลที่ไม่เคยมองเห็น แต่สัมผัสได้ ไร้ตัวตนฉบับ “ง่าย ๆ สบาย ๆ ไทย ๆ” ผ่านคุณลักษณะ 4 ประการ “นั่งกับพื้น”, “อยู่กับร่มกับเงา”, “เปิดเมื่อใช้ ปิดไปเมื่อเลิก”, “โครงเบาๆ” ให้เป็นพื้นที่เชื่อมโยงผู้คนและความเชื่อ ผ่านพื้นที่ว่างที่แทรกตัวตามธรรมชาติของที่ตั้ง โดยมีเอกชนเป็นผู้พัฒนาร่วมกับวัดเพื่อสร้างรายได้กลับไปแก่ชุมชน อาทิ บริจาค + โรงทาน เป็นต้น


หรือจะเป็นทีมจากภาคเหนืออย่างทีม B106 กับผลงาน “Lamphun Art and Craft Festival ศิลปะ ทอ เมือง” การนำเทศกาล “ลำพูนบ้านเฮา สุขกาย สบายใจ”ปี 2019 มาใช้เป็น Prototype ในการออกแบบ 3 พื้นที่ในเขตคูเมืองลำพูน ดังนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย (Historical Area) โดยใช้หลักการออกแบบ Creative Economy และ Creative Space พัฒนาพื้นที่รอบพิพิธภัณฑ์ ศาลากลางเก่าจังหวัดลำพูน (Future Area) ใช้โครงสร้าง Pavilion ที่ถอดมาจากทอผ้า และท่าสิงห์ ริมน้ำกวง (Relax and Reflect Area) อาทิ Creative Art Garden เป็นต้น

ผลงานการออกแบบของคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจไม่ได้เพียงเท่านี้ สามารถติดตามชมผลงานการออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ “City Festival” จากไอเดียของคนรุ่นใหม่ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายกว่า 20 ทีม และติดตามการประกาศผลได้ที่เพจ Facebook: MQDC Design Competition 2023

#MQDCDesignCompetition2023 #cityfestival #DesignIntervention