28 เม.ย. 2566 356 0

กทปส. หนุน ม.มหิดล นำ AI ตรวจพิสูจน์ คดีความผิดทางเพศ ช่วยทำงานเร็วกว่าคนถึง 5.7 เท่า

กทปส. หนุน ม.มหิดล นำ AI ตรวจพิสูจน์ คดีความผิดทางเพศ ช่วยทำงานเร็วกว่าคนถึง 5.7 เท่า

กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาโครงการยกระดับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศ ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้นิติพยาธิแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน ลดเวลาการทำงานตรวจพิสูจน์ผู้กระทำความผิด ชี้เอไอรวดเร็วกว่าเดิม 5.7 เท่า และแม่นยำสูงถึง 97.2% เตรียมนำร่องใช้งานที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งเป้าเติมความรู้เอไอเพื่อพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง


กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2560 -2564 พบว่า ประเทศไทยมีสถิติการเกิดคดีข่มขืนกระทำชำเรามากถึง 8,997 คดี สอดคล้องกับสถิติจากมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) ที่พบว่าใน 4 เดือนแรกของปี 2565 มีผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเราถึง 289 ราย หรือคิดเป็น 2.5 รายต่อวัน ซึ่งสถิติดังกล่าวถือว่ามากกว่าปี 2564 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ การที่เหยื่อจะแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้นั้น จำเป็นต้องใช้หลักฐานทางนิติเวช ช่วยพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และนิติพยาธิแพทย์ เป็นสาขาที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อย่างมากในปัจจุบัน “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ” จึงนับเป็นหนึ่งโซลูชั่นที่จะเข้ามาช่วยลดช่องว่างของปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับนักวิทยาศาสตร์และนิติพยาธิแพทย์ได้


ผศ. ดร.นริศ หนูหอม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการยกระดับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศ ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ กล่าวว่า คดีการล่วงละเมิดทางเพศในไทยเป็นหนึ่งปัญหาที่มีอัตราการก่อเหตุเพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ด้านนักวิทยาศาสตร์ และนิติพยาธิแพทย์ ที่ยังคงขาดแคลนอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งภาระงานที่มากเกินกำลังอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติงาน เพราะบุคลากรเกิดความเหนื่อยล้า ขั้นตอนการตรวจพิสูจน์หลักฐานจากผู้กระทำความผิดใช้เวลานาน เนื่องจากต้องใช้นักวิทยาศาสตร์และนิติพยาธิแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ส่งผลถึงรูปคดี รวมถึงสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง


ดังนั้น จึงมีโครงการยกระดับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศ ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการปฏิบัติงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยให้กระบวนการตรวจพิสูจน์ทำได้เร็วขึ้น จากเดิมขีดความสามารถของบุคลากรสามารถทำการตรวจหาเชื้อได้อยู่ที่ประมาณ 28 เคสต่อวัน หรือใช้เวลาในการตรวจพิสูจน์โดยเฉลี่ยอยู่ที่เคสละ 17 นาทีแล้วแต่ความยากของแต่ละเคส แต่เมื่อนำระบบเอไอเข้ามาช่วยตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ก็พบว่าสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศได้ถึง 160 เคสต่อวัน หรือสามารถร่นระยะเวลาการตรวจวิเคราะห์เหลือเพียง 3 นาทีต่อเคสเท่านั้น ทั้งนี้ จากการดำเนินงานวิจัยจะมีการวัดประสิทธิภาพใน 2 เรื่องหลัก คือ ความรวดเร็วและความถูกต้อง ซึ่งจากการดำเนินการทดสอบพบว่า เอไอ สามารถช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ ด้านนักวิทยาศาสตร์ และนิติพยาธิแพทย์ ทำงานได้เร็วกกว่าเดิมถึง 5.7 เท่า ส่วนด้านความถูกต้องระบบเอไอสามารถตรวจพิสูจน์เชื้ออสุจิได้อย่างแม่นยำสูงถึง 97.2%  โดยข้อมูลที่ใช้ฝึกสอนโมเดลเอไอก็คือข้อมูลที่ได้จากนักวิทยาศาสตร์ และนิติพยาธิแพทย์ ยิ่งมีข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถสร้าง AI ที่ฉลาดขึ้นได้มาก ซึ่งหมายถึงการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ จะมีความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง


“คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมทดลองนำร่องนำระบบการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศ ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ไปใช้งานที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นที่แรก ส่วนในอนาคตมีแผนที่จะขยายผลการใช้งานโดยทำการติดตั้งระบบตรวจหาเชื้ออสุจิด้วยเอไอให้กับสถาบันนิติเวชวิทยา และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ในการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ในคดีความผิดทางเพศ พร้อมตั้งเป้าที่จะพัฒนาระบบให้มีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งยังคงใช้องค์ความรู้จากนิติพยาธิแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยจะเป็นข้อมูล Feedback ผลการประเมินของเอไอที่ยังไม่แม่นยำ หรือเพิ่มเคสการตรวจยากหรือมีความซับซ้อนมากขึ้น เสมือนเป็นการเติมความรู้ให้เอไอใช้ในการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นการใช้เงินทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม” ผศ. ดร.นริศ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-554-1113 และ 02-554-1114 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของ กทปส. ได้ที่ https://btfp.nbtc.go.th และ www.facebook.com/BTFPNEWS