8 เม.ย. 2566 546 0

สกมช. แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพรบ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 เตรียมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์

สกมช. แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพรบ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 เตรียมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์

สกมช. แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 จำนวน 65 คน เตรียมความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์


เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 เวลา 14.00 น. ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกล่าวให้โอวาทแก่ผู้เข้าร่วมพิธีแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562


​พลอากาศตรี อมร ชมเชย กล่าวถึงการจัดพิธีแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในวันนี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 จำนวน 65 คน จาก 32 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์สำหรับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความชำนาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่ผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป


ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า (สกมช.) มีภารกิจที่สำคัญที่ต้องดำเนินการและประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการตอบสนองและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมทั้งปฏิบัติการ ประสานงาน สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือหน่วยงาน เพื่อป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ประเทศไทยมีแนวโน้มการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเชิงปริมาณและความรุนแรง เหตุการณ์ภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทวีความรุนแรงมากขึ้น และรูปแบบการโจมตียังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งภัยคุกคามดังกล่าวอาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้น แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในวันนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคาม ป้องกัน และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ อันจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนในวงกว้างได้