7 เม.ย. 2566 423 0

หนุนพัฒนาดิจิทัล ยกระดับเศรษฐกิจสังคมไทยสู่เวทีโลก การประชุมฯ กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ครั้งที่ 1/2566

หนุนพัฒนาดิจิทัล ยกระดับเศรษฐกิจสังคมไทยสู่เวทีโลก การประชุมฯ กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ครั้งที่ 1/2566

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ครั้งที่ 1 / 2566 พร้อมด้วย ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ และนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุม


พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือ หรือทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้เปิดรับข้อเสนอให้ทุนใน 4 กรอบนโยบาย ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (Digital Manpower) เกษตรดิจิทัล (Digital Agriculture) การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล (Digital Technology)  และการส่งเสริมรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government)  โดยมีผู้สนใจยื่นโครงการเพื่อขอรับทุนภายใต้กรอบนโยบายดังกล่าว กว่า 500 โครงการ แสดงให้เห็นว่าประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ตื่นตัวด้านการพัฒนาดิจิทัล ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านการพิจารณาจะได้ศึกษาวิจัยและต่อยอดโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งกองทุนดีอีมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนครั้งนี้”


ภุชพงค์ โนดไธสง กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนดีอี ได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารทุนหมุนเวียน ซึ่งได้มีการกำกับและเร่งรัดการดำเนินงานเป็นไปตามแผนต่อไป นอกจากนี้ ได้พิจารณการขยายผลของโครงการการพัฒนากลไกการสร้างฐานข้อมูลออนไลน์ขนาดใหญ่ของระดับความพร้อมอุตสาหกรรมตามแนวคิด Industry 4.0 ด้วยเครื่องมือชุดดัชนีชี้วัดสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับทุนเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมถึงพิจารณาอนุมัติเปลี่ยนแปลงสัญญารับทุนฯ

ภุชพงค์ กล่าวต่อว่า “คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการสาธารณะและไม่เป็นการแสวงหากำไร โดยมีคณะทำงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีให้คำปรึกษา เพื่อกลั่นกรองโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวัตถุประสงค์ของโครงการ”