31 มี.ค. 2566 751 1

เอไอเอสxไมโครซอฟท์ ร่วมขับเคลื่อน AI ตอบโจทย์ธุรกิจปั้นคนทำงานด้วย Microsoft Power Platform

เอไอเอสxไมโครซอฟท์ ร่วมขับเคลื่อน AI ตอบโจทย์ธุรกิจปั้นคนทำงานด้วย Microsoft Power Platform

ศุภชัย พานิชายุนนท์ (ซ้าย) รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เอไอเอส และปวิช ใจชื่น (ขวา) รองกรรมการผู้จัดการ สายงานกลุ่มธุรกิจพันธมิตร บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และเอไอเอส สนับสนุนการสร้างทักษะทางเทคโนโลยีให้กับพนักงาน และส่งต่อแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การทำงาน ผ่าน Microsoft Power Platform แพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาระบบงานอัตโนมัติต่างๆ โดยไม่ต้องเขียนโค้ดเป็นจำนวนมาก (low code / no code) นอกจากมอบโอกาสให้พนักงานที่เชี่ยวชาญในแต่ละสายงานได้ลงมือพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ กับทีมงานในแผนก เพื่อเสริมศักยภาพการทำงานให้มีประสิทธิภาพแล้ว บุคลากรของเอไอเอสยังสามารถเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานในหลายส่วนให้เป็นระบบอัตโนมัติ ลดเวลาในการทำงานซ้ำซ้อน ลดความซับซ้อนของระบบงาน และเพิ่มคุณค่าให้พนักงานได้ร่วมขับเคลื่อนองค์กรอย่างรอบด้าน ภายใต้ความร่วมมือนี้ เอไอเอสได้จัดโครงการ AIS Cognitive Hack ขึ้น โดยมุ่งให้ความรู้ พัฒนาพนักงานให้สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ ผ่านการแข่งขันที่ยกระดับความสามารถ พร้อมเร่งเครื่องให้บุคลากรก้าวสู่สังคมแห่ง “Citizen Developers” ที่ใครก็สร้างนวัตกรรมได้

ในโอกาสนี้ เอไอเอสได้ประกาศผลทีมผู้ชนะเลิศจากการแข่งขัน AIS Cognitive Hack ได้แก่ ทีม REN-NE จากผลงานการสร้าง แอป AI ด้วย Power Automate ให้ตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงาน ส่วนทีมรองชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Go Future จากผลงานการสร้างแอป AI มาช่วยขั้นตอนตรวจสอบเอกสาร ควบคู่กับการฝึกสอนให้ AI เข้าใจลักษณะภาพของอุปกรณ์โครงข่ายบรอดแบรนด์ประจำที่ (fixed broadband) จึงช่วยลดเวลาในการทำงานเอกสารที่ซ้ำซ้อนกันได้ถึง 90% โดยที่การแข่งขันครั้งนี้ มีพนักงานของเอไอเอสเข้าร่วมประลองไอเดียกว่า 1,000 คน เกิดเป็นผลงานและกรณีศึกษามากกว่า 500 ชิ้น


ศุภชัย พานิชายุนนท์ รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เอไอเอส กล่าวว่า ผมดีใจมากที่ได้เห็นพนักงานเอไอเอสจำนวนมากเข้าร่วมการแข่งขัน AIS Cognitive Hack ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเราในการก้าวสู่การเป็น Cognitive Tech-Co ด้วยการลงมือสร้างแอปและปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานให้เป็นระบบอัตโนมัติ ด้วยฝีมือของคนทำงานตัวจริง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย 2 ประการของเอไอเอส คือ เสริมขีดความสามารถของบุคลากร และมอบประสบการณ์บริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า เพราะโครงการ AIS Cognitive Hack เปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะเกี่ยวกับการใช้งาน Microsoft Power Platform เพื่อทำให้กระบวนการทำงานอัตโนมัติบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้


สองทีมผู้ชนะจากโครงการ AIS Cognitive Hack

การแข่งขัน AIS Cognitive Hack มีเป้าหมายเพื่อให้พนักงานเอไอเอสมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน ยกระดับให้เป็น Cognitive Automation เพื่อเสริมทักษะพนักงานให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Automation และ AI โดยเราเชื่อมั่นอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนา Citizen Developer ในกลุ่มพนักงานที่เป็นผู้ปฏิบัติงานจริง เพื่อให้พนักงานได้สร้างเทคโนโลยี พัฒนาทักษะการทำงาน และแก้ไขปัญหาในแต่ละขั้นตอนได้จริง การสนับสนุนพนักงานให้แก้ปัญหาต่าง ๆ สำเร็จด้วยตัวเองอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ ที่ไม่มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโปรแกรมให้กลายเป็นแนวร่วมและกล้าลุกขึ้นมาทำในแบบเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาองค์กรในแนวทางนี้ยังสอดคล้องกับการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรด้านไอทีมีเวลาไปแก้ปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อนขององค์กรมากขึ้นกว่าเดิม


ปวิช ใจชื่น รองกรรมการผู้จัดการ สายงานกลุ่มธุรกิจพันธมิตร บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์และเอไอเอสได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในฐานะ Strategic Partner โดยมีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนให้องค์กรและธุรกิจไทยได้เข้าถึงศักยภาพของคลาวด์และ AI อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นวัตกรรมอย่าง Power Platform ได้รับความไว้วางใจจากเอไอเอสให้เป็นฟันเฟืองสำคัญ ทั้งในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการส่งเสริมพัฒนาทักษะของพนักงานในทุกสายงานให้ยกระดับเป็นนวัตกรประจำองค์กรอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยเครื่องมือแบบ low code / no code ซึ่งไม่เพียงเกิดประโยชน์ให้กับเอไอเอสเองเท่านั้น แต่ยังเปิดประตูไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเสริมสร้างศักยภาพเชิงดิจิทัลของประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในปัจจุบันและอนาคต”


สมาชิกทีม REN-NE ผู้ชนะการแข่งขันในโครงการ AIS Cognitive Hack

REN-NE ทีมผู้ชนะการแข่งขันโครงการ AIS Cognitive Hack เจ้าของผลงานการนำ AI มาช่วยให้บริษัทประหยัดค่าไฟโดยมีสมาชิกทั้งหมด 3 คน ได้แก่ นายธนกร หอประเสริฐวงศ์ วิศวกรอาวุโส นายเชาวณัท สำกำปัง วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ และนายพัชรพล สาสุข วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดูแลศูนย์ข้อมูลของเอไอเอสที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยตัวแทนของทีมกล่าวว่า เรามองเห็นว่า ค่าใช้จ่ายของเอไอเอสที่มากเป็นอันดับหนึ่งคือค่าไฟถึง 40% เราจึงช่วยกันคิดค้นหาวิธีการลดต้นทุนค่าไฟลงจากเดิมให้ได้ 1-2% ด้วยการติดตั้งมิเตอร์แบบ TOU (Time of Use) ที่สถานีฐานกว่า 25,000 แห่ง โดยใช้ AI มาช่วย คำนวณการใช้ไฟและความเสี่ยงในหลายๆ ปัจจัย เพื่อตัดสินใจว่าว่าสถานีฐานใดควรใช้แบตเตอรี่ที่สถานีฐานชาร์จไฟฟ้าเก็บไว้ในช่วงเวลากลางคืนหลัง 22.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าไฟมีราคาต่ำ เพื่อนำมาใช้แทนไฟฟ้าในช่วงเวลาหลัก ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าไฟมีราคาสูง แนวคิดนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่เพียงลดค่าใช้จ่ายของบริษัทลง แต่ยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย เราหวังว่าผลงานของทีมเราจะช่วยจุดประกายในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ด้วยแพลตฟอร์มการพัฒนาแบบ Low-Code ของไมโครซอฟท์ ที่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโปรแกรมก้าวสู่การเป็น Citizen Developer ได้เช่นกัน


สมาชิกทีม Go Future รองชนะเลิศการแข่งขันในโครงการ AIS Cognitive Hack

ขณะที่ Go Future ทีมรองชนะเลิศจากการแข่งขัน ซึ่งเป็นทีมวิศวกรด้านโครงข่ายบรอดแบรนด์ของเอไอเอส ประจำภาคกลาง ประกอบด้วยสมาชิก 3 คน ได้แก่ นายภูมิ หอมจันทร์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ นางสาวสิริมา เที่ยงรอด วิศวกรอาวุโส (ฝ่ายวางแผนงาน) และ นายกฤตภาส ฉัตรเสถียรพงศ์ วิศวกรอาวุโส (ฝ่ายติดตั้งและบำรุงรักษา) เจ้าของผลงานการใช้ AI มาช่วยตัดสินใจในขั้นตอนตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับโครงข่ายบรอดแบรนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ซึ่งช่วยลดเวลาในการทำงานซ้ำซ้อนลงอย่างมาก โดยตัวแทนของทีมกล่าวว่า ผลงานนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการเข้าร่วมอบรมในโครงการ Cognitive Automation ของเอไอเอสที่ทำให้รู้ว่า AI สามารถช่วยอะไรเราได้บ้าง ในฐานะที่ทีมเราทำงานเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดูแลด้านบรอดแบนด์ เราจึงตระหนักดีว่าการวางโครงข่ายนั้นมีความสำคัญกับประสบการณ์ของลูกค้ามาก การทำงานจึงต้องแข่งกับเวลาเพื่อให้ลูกค้าของ AIS ใช้งานได้ไม่มีสะดุด เราจึงนำ AI มาปรับใช้กับหน้าที่การงานที่ทำอยู่ ในการช่วยแก้ปัญหาขั้นตอนการตรวจสอบเอกสาร FBOQ (Final Bill of Quantity) ที่มีความซับซ้อน ใช้เวลาค่อนข้างนาน และต้องใช้ความละเอียดรอบคอบอย่างมาก โดยเอกสารเหล่านี้จะมาจากคู่ค้า เราจึงเกิดความคิดในการนำ AI Object Detection มาช่วยในการตรวจสอบเอกสารเพื่อให้ขั้นตอนการทำงานมีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ทำให้จากเดิมที่ใช้เวลาตรวจสอบเอกสารวันละ 6 ชั่วโมง เหลือเพียงไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ส่งผลให้การทำงานของเอไอเอสกับคู่ค้าเป็นไปอย่างเรียบร้อยและแม่นยำขึ้น ทั้งหมดนี้นับเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของเอไอเอส เพิ่มความมั่นใจให้คู่ค้าที่ทำงานกับเรา

Microsoft Power Platform เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาแอป เว็บไซต์ และเครื่องมือต่างๆ ในรูปแบบ  Low-Code  ซึ่งใช้งานง่าย เปิดให้นำบริการ ข้อมูล และทรัพยากรต่างๆ ในองค์กรมาผสานกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ทุกคนในองค์กรสามารถสร้างโซลูชันที่มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์หรือค้นหาข้อมูลเชิงลึกจากหลากหลายแหล่ง การสร้างแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ความท้าทายทางธุรกิจโดยไม่ต้องเขียนโค้ดเป็นจำนวนมาก การช่วยตอบคำถามจากลูกค้าหรือพนักงานภายในองค์กรด้วยแชตบอท และยังรวมถึงการปรับปรุงระบบงาน ให้รวดเร็วและราบรื่นขึ้นด้วย Power Automate ที่จะช่วยให้งานในขั้นตอนที่ต้องทำซ้ำๆ เป็นประจำกลายเป็นเรื่องอัตโนมัติอย่างง่ายดาย
 
ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์

ไมโครซอฟท์(Nasdaq“MSFT” @Microsoft) เป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลในยุคแห่งคลาวด์อัจฉริยะที่ผสานกับนวัตกรรมชาญฉลาดในทุกหนแห่ง ภายใต้พันธกิจของการเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคนและทุกองค์กรบนโลกใบนี้ได้บรรลุผลสำเร็จทีดียิ่งกว่า หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมหรือติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดได้ทางศูนย์ข่าวสารประเทศไทย(http://news.microsoft.com/th-th/)และทวิตเตอร์@MicrosoftTH 
 
เกี่ยวกับ AIS

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ผู้นำด้าน Digital Life Service Provider อันดับ 1 ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการมากที่สุดรวม 1420 MHz และมีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดกว่า 46 ล้านเลขหมาย (ณ ธันวาคม 2565) พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี 5G ที่ครบ 77 จังหวัดแล้วเป็นรายแรกผ่าน 3 สายธุรกิจ ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ AIS Fibre และบริการดิจิทัล 5 ด้าน ได้แก่ วิดีโอ คลาวด์ ดิจิทัลเพย์เมนท์ อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และบริการร่วมกับพาร์ทเนอร์ตลอดจนขยายสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ อาทิ AIS eSports, AIS Insurance Service ทั้งหมดนี้เพื่อสนับสนุนความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศขยายขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม และยกระดับ คุณภาพชีวิตของคนไทยไปพร้อมกัน พบกับเราได้ที่ www.ais.th