22 มี.ค. 2566 299 0

สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจข้อมูลสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประเทศไทย พ.ศ. 2566

สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจข้อมูลสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประเทศไทย พ.ศ. 2566

สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจข้อมูลสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๖  ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖

ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจข้อมูลสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๖ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตที่ทำให้ประชาชนมีการเข้าถึงสื่อและบริโภคสื่อมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมการบริโภคสื่อ (Media Consumption) ของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สามารถเป็นได้ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตสื่อ ส่งผลกระทบต่อสังคมปัจจุบันที่บริโภคสื่อ ข้อมูล ข่าวสาร และสารสนเทศที่มีความหลากหลาย ทั้งที่สร้างสรรค์และที่ต้องระมัดระวัง อย่างเช่น สื่อหรือข่าวสารที่ไม่เหมาะสม ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ เป็นต้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของประชาชนในการเข้าถึง เข้าใจ ตีความ ประเมิน และสร้างข้อมูล และสื่อในรูปแบบที่หลากหลายด้วยความตระหนักถึงผลกระทบของข้อมูลและสื่อต่าง ๆ โดยไม่ถูกครอบงำ และสามารถใช้สื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และการดำรงชีวิตของทั้งตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม ตามแนวคิดการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศขององค์กร UNESCO รวมถึงผลักดันให้มีการสำรวจสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประชาชนเพื่อนำผลที่ได้ไปวางแผนในการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของประชาชนในปีต่อไป  

การสำรวจในครั้งนี้กำหนดให้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ Tablet ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการพัฒนาวิธีการ เก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยในการผลิตข้อมูลสถิติ เพื่อเป็นการช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษและลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ยังสะดวกรวดเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลส่วนภูมิภาคมายังส่วนกลางโดยตรงผ่านระบบอินทราเน็ตของสำนักงานฯ  ทำให้การประมวลผลและเสนอผลได้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ ผลการสำรวจที่ได้รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้าน Digital Literacy สามารถนำผลการสำรวจข้อมูลสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประเทศไทย ไปอ้างอิงประกอบการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงาน และเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาสังคมดิจิทัล ระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) จึงขอความร่วมมือประชาชนโปรดให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงแก่ “คุณมาดี” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ดร.ปิยนุชฯ กล่าว