16 ก.พ. 2566 525 1

JMART Group เชื่อมั่นปี 66 โตยกแผง ปักธงเป็นปีแห่งโอกาส เดินหน้าแผนลงทุน เชื่อมโยง Ecosystem หนุนกำไรพุ่งแบบยั่งยืน

JMART Group เชื่อมั่นปี 66 โตยกแผง ปักธงเป็นปีแห่งโอกาส  เดินหน้าแผนลงทุน เชื่อมโยง Ecosystem หนุนกำไรพุ่งแบบยั่งยืน

กลุ่มเจมาร์ท ตั้งเป้าปี 66 เปิดเกม Synergy ตั้งเป้า JMART โตระดับ 50% แม่ทัพใหญ่กลุ่มบริษัท เผย ปีนี้เป็นปีแห่งโอกาส พร้อมเคลื่อนทัพนำบริษัทในเครือเชื่อมโยง Ecosystem และเดินหน้าขยายการลงทุนใหม่ๆ หนุนอาณาจักรธุรกิจค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี ขยายฐานกำไร โตทั้ง Organic Growth และ Inorganic Growth

อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยว่า JMART ตั้งเป้าผลการดำเนินงานปี 2566 กำไรนิวไฮต่อเนื่อง ตั้งเป้าเติบโต 50% จากปีก่อน โดยเป็นการเติบโตทั้งในรูปแบบ Organic Growth และ Inorganic Growth โดย Organic Growth ผลมาจากธุรกิจในกลุ่มมีทิศทางเติบโต จากการเชื่อมโยง Ecosystem ประกอบด้วย JMART JMT J และ SINGER และ Inorganic Growth ผ่านการทำ Synergy กับบริษัทนอกกลุ่ม ที่จะเริ่มเห็นตัวเลขอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ประกอบด้วย สุกี้ตี๋น้อย, BRR, JK AMC, De Siam และจะเกิดขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้ ร่วมกับ PRTR บริษัทบริหารทรัพยากรบุคคลชั้นนำของประเทศ จะทำให้กลุ่มบริษัทสามารถต่อยอดโอกาสใหม่ๆ และจะส่งผลกำไรจากการลงทุนเข้ามาในปี 2566 และในปีถัดไป ซึ่งยังไม่นับรวมแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจที่มีศักยภาพเพิ่มเติม พยายามทำธุรกิจให้มี Synergy เกิดขึ้น และพยายามในการสร้าง J-Curve เพื่อให้เป็นการเติบโตแบบยั่งยืน ซึ่งมองว่า นี่คือโอกาสที่ดีที่สุดที่จะพิสูจน์ สะท้อนความเชื่อมั่น ผ่านสิ่งที่เราพิสูจน์ได้ นั่นคือผลประกอบการ

โดยก่อนหน้านี้ JMART ทำ Big lot ในบริษัท บางกอกเดค-คอน จำกัด (มหาชน) หรือ BKD จำนวน 100 ล้านหุ้น สัดส่วน 9.20% ราคา 2.16 บาท มูลค่า 216 ล้านบาท เพื่อผนึกกำลังเป็นพันธมิตรร่วมกัน และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ เนื่องจาก BKD มีความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจรับเหมาตกแต่งภายในอาคาร และเฟอร์นิเจอร์

สำหรับ JMART ในปีที่ผ่านมามีกำไรสุทธิ 1,795 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขแสดงกำไรลดลง 27% แต่หากไม่รวมรายการกำไรพิเศษที่เกิดขึ้น จำนวน 1,296 ล้านบาท ในปี 2564 บริษัทฯ จะมีกำไรสุทธิเติบโตที่ 53% ย้ำผู้นำ Ecosystem ที่ครบวงจรที่สุดในธุรกิจค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี


สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2566 มีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2565 ที่มีกำไรทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งที่ 1,746 ล้านบาท เติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อน 25% มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,410 ล้านบาท เติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อน 22% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 67% และอัตรากำไรสุทธิ 36% ทั้งนี้ หากไม่รวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่เกิดขึ้น เช่น ค่าเคลมประกันโควิด บริษัทจะมีการเติบโตของกำไรสุทธิกว่า 32% มีพอร์ตบริหารหนี้ด้อยคุณภาพรวมอยู่ที่ 331,410 ล้านบาท จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 238,212 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 93,198 ล้านบาท) ซึ่งรวมถึงหนี้ด้อยคุณภาพจากทางบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มเดินหน้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารแล้วในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 อยู่ที่ราว 70,000 ล้านบาท มากกว่าแผนดำเนินงานที่เคยให้ไว้ และ JK AMC สามารถทำกำไร 196 ล้านบาท (JV Equity Consolidated 98 ล้านบาท)

สำหรับในปี 2566 JMT ตั้งเป้ากำไรเติบโต 30% จากปีก่อน มั่นใจว่า ด้วยโครงสร้างบริษัทในกลุ่มที่แข็งแกร่งขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจบริหารหนี้ ประกอบด้วย หนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และมีหลักประกัน มองว่าจะเติบโตยิ่งขึ้น สอดรับภาพรวมสถาบันการเงินต่างๆ จะทยอยเปิดประมูลขายหนี้ด้อยคุณภาพออกมาต่อเนื่องตลอดทั้งปี หลังหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากสถาบันการเงิน จึงตั้งเป้าในปีนี้งบลงทุนซื้อหนี้อยู่ที่ประมาณ 10,000 – 15,000 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงโอกาสจาก JK AMC ที่ภาพการเติบโตจะชัดเจนยิ่งขึ้นในปีนี้


สุพจน์ สิริกุลภัสสร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J เปิดเผยว่า ในปี 2566 มั่นใจว่า J จะวิ่งได้เร็วกว่าเดิมและคล่องตัว ด้วยโครงสร้างธุรกิจที่ชัดเจน โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนในโครงการพัฒนาศูนย์การค้าชุมชนของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันมี 5 โครงการ และคาดว่าในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 2 โครงการ ที่ Jas Green Village บางบัวทอง และ Jas Green Village รามคำแหง สนับสนุน J มี 7 โครงการในสิ้นปี และมีพื้นที่เช่าของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเฉียด 100,000 ตารางเมตร ขณะที่แผนการขยายศูนย์การค้าในปี 2567 – 2568 บริษัทฯ ได้ที่ดินเพิ่มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 2 แห่งที่ระยองและขอนแก่น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับบุกตลาดหัวเมืองต่างจังหวัด

สำหรับภาพรวมการขยายธุรกิจด้านสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของโครงสร้างประชากรไทยที่จะเป็นสังคมของผู้สูงอายุมากขึ้น บริษัทฯ ได้เปิดโครงการบ้านพักผู้สูงอายุ ภายใต้แบรนด์ “Senera Senior Wellness” เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา เป็นโปรเจกต์ที่คาดหวังว่าจะสามารถสร้างรายได้และกำไรกลับมาที่บริษัทฯ ได้อย่างแข็งแกร่ง วางเป้ามีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% และกำลังจะเปิดแพลตฟอร์ม “สุขใจ Health & More” เพื่อรวบรวมสินค้าและบริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร นอกจากนี้ ธุรกิจ IT Junction และพัฒนาตกแต่งบ้านมือสองพร้อมขาย ที่จะปรับกลยุทธ์และโฟกัสมากขึ้นในปีนี้ รวมไปถึง การ Synergy กับทางสุกี้ ตี๋น้อย เพื่อเป็นพันธมิตรในการขยายศูนย์การค้าออกไปในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ คาดจะได้เห็นสาขาแรก สุกี้ตี๋น้อย ที่ JAS Amata  ชลบุรี เร็วๆ นึ้


กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER กล่าวว่า ผลประกอบการปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 941 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.2% ภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ในระดับที่ 4.62%  โดยมีบริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สามารถสร้างการเติบโตจากธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (C4C) ภายใต้แบรนด์รถทำเงินได้ตามเป้าหมาย และสามารถเข้ามาระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2565 ที่ผ่านมา สนับสนุนให้ปีนี้ SINGER มีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ขยายธุรกิจด้วยต้นทุนดอกเบี้ยในระดับต่ำ อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมุ่งเน้นการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยง NPL ในอนาคต


บุษบา กุลศิริธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC หนึ่งในผู้นำด้านสินเชื่อชั้นนำของประเทศ เปิดเผยว่า หลังจาก SGC ประสบความสำเร็จในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือนธันวาคมของปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งจะเสริมความแข็งแกร่งในด้านแหล่งเงินทุนให้บริษัทฯ สามารถขยายการเติบโตด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมเดินหน้าในปี 2566 รับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิดผ่อนคลาย ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีความต้องการด้านสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง และนำไปใช้ขยายกิจการ เป็นโอกาสให้ SGC บุกตลาดรับโอกาสทองในปีนี้ โดยจะเน้นสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ภายใต้แบรนด์ “รถทำเงิน” มุ่งเน้นรถบรรทุกเป็นหลัก รวมทั้ง การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายพอร์ตสินเชื่อแตะระดับ 50,000 ล้านบาท ภายในปี 2569 จาก ณ สิ้นปี 2565 มีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 14,897 ล้านบาท และคาดสิ้นปี 2566 พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท โดยให้ความสำคัญในการอนุมัติสินเชื่ออย่างรัดกุม เพื่อควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับต่ำ หรือวางเป้าไม่เกิน 5%  


ด้าน นราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด (JAYMART MOBILE) เปิดเผยว่า ในปี 2566 ทำได้ตามเป้าหมาย มีรายได้รวมเฉียด 10,000 ล้านบาท โตจากปีก่อน 19% กำไรสุทธิอยู่ที่ 354 ล้านบาท โตจากปีก่อน 77% โดยเป็นการเติบโตในทุกช่องทางทั้งค้าส่ง ค้าปลีก ออนไลน์ และตัวแทนขายของ SINGER อีกทั้ง เริ่มเห็นยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตมากขึ้น อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไอที เกมมิ่ง โดยมีบริการสินเชื่อเสริมทัพที่เติบโตแบบก้าวกระโดด อาทิ สินเชื่อจาก บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล (Kashjoy) จับมือ ไทยซัมซุง เปิดให้บริการซัมซุงไฟแนนซ์พลัส (Samsung Finance+) ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมาก

รวมทั้ง การเติบโตผ่าน Synergy shop ที่แข็งแกร่งขึ้น โดยเจมาร์ทเริ่มเปิดสาขาบนพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า BTS เรียบร้อยแล้ว สนับสนุนสิ้นปี 2565 มี 3 สาขา ในไตรมาส 1 ปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 8 สาขา รวมเป็น 11 สาขา ทราฟฟิคที่ดีมาก และคาดปิดสิ้นปี จะมี 30 สาขาบน BTS เพื่อให้ภาพ Synergy นอกกลุ่มบริษัทชัดเจนขึ้น ซึ่งรวมถึง ความร่วมมือกับพันธมิตรรายอื่นๆ ในการทำแคมเปญร่วมกัน จึงคาดว่าในปีนี้เจมาร์ท โมบาย ตั้งเป้ากำไรสุทธิโต 30% และเห็นโมเมนตัม Next-Curve ของเจมาร์ทโมบายชัดเจนขึ้น


ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) เปิดเผยว่า JVC ในวันนี้ครบรอบ 5 ปี และมีการพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนกลุ่มบริษัทมุ่งหน้าสู่ Jaymart Digital Transformation (JDX) และสนับสนุนปี 2565 JVC สามารถทำกำไรสุทธิไว้ที่ 18.8 ล้านบาท เนื่องจากแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ลงทุนสร้างขึ้นมา เริ่มทำงาน และเงินลงทุนไม่ได้โตตาม เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทรานฟอร์มกลุ่มบริษัทเจมาร์ทสู่ Digital Economy รวมถึงการให้ความสำคัญในระบบ JFIN Chain Adoption และการทำ Corporate DX (CDX) ขยายไปยังบริษัทนอกกลุ่มเจมาร์ท อีกทั้ง สนับสนุน JMART มุ่งสู่ Virtual Banking ในอนาคต จึงคาดว่าในปี 2566 นี้ พร้อมสู่เส้นทางการเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต และสนับสนุนฐานกำไร JMART ให้เป็น  J-Curve โดยแท้จริง