30 ม.ค. 2566 1,147 4

สกมช. เตรียมจัดงาน Thailand National Cyber Week 2023 ครั้งแรกด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมสร้างเครือข่ายป้องกัน รับมือ ลดความเสียหายให้กับประเทศ

สกมช. เตรียมจัดงาน Thailand National Cyber Week 2023 ครั้งแรกด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมสร้างเครือข่ายป้องกัน รับมือ ลดความเสียหายให้กับประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) แถลงข่าวเปิดตัวการจัดงาน “นิทรรศการสัปดาห์วิชาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ปี 2566 (Thailand National Cyber Week 2023)” ในวันที่ 17 - 18 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 – 17.00 น. ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร สร้างความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยมีพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเป็นประธานในพิธีเปิด และ พลตรี ธีรวุฒิ วิทยากรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวรายงาน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการและสร้างมาตรการและกลไกเพื่อพัฒนาศักยภาพหน่วยงานโครงสร้าพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนที่สนใจ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ ตื่นตัว เห็นความสำคัญในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ สร้างเครือข่ายและศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในการป้องกัน รับมือ และลดความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศไทย 
 
 
 
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์ มีสภาพและลักษณะของภัยคุกคามที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมีรูปแบบการโจมตีที่หลากหลาย และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปในหลายภาคส่วน จึงได้มีแนวคิดในการจัดงาน “นิทรรศการสัปดาห์วิชาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ปี 2566 (Thailand National Cyber Week 2023)”เพื่อตอบสนองนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีเป้าหมายและแนวทางในการบูรณาการ การจัดการ สร้างมาตรการและกลไกในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ โดยมีนโยบายให้ สกมช. เน้นให้มีความแตกต่างจากการจัดงานที่ผ่านมาทุกครั้ง ด้วยคำขวัญ Secure your cyber, Secure your future การปกป้องโลกไซเบอร์ ก็เป็นการปกป้องอนาคตของคุณด้วยเช่นกัน อีกทั้งให้หน่วยงาน สกมช. เผยแพร่และสื่อสารเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้วยภาษาที่ง่าย และตรงประเด็น สำหรับทุกกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ถึงภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่มีการโจมตีในทุกรูปแบบและมีผลกระทบกับเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ รวมถึงจะได้ร่วมกันบูรณาการความรู้และใช้ประโยชน์จากงานในครั้งนี้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นการปกป้องตนเองและต่อยอดธุรกิจด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วนในการแข่งขันกับต่างประเทศและภัยคุกคามในอนาคตต่อไป



โดย สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จับมือกับหน่วยงานพันธมิตร จัดให้มีการแสดงนิทรรศการผลงานงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยบริษัทสตาร์ตอัป นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาของไทย การให้คำปรึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ พร้อมกับการประชุม-สัมมนาโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและต่างประเทศ และนำเสนอความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยจากบริษัทและหน่วยงานชั้นนำทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 80 บริษัท รวมถึงการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างเจ้าของผลิตภัณฑ์/บริการและบริษัทที่สนใจนำผลิตภัณฑ์/บริการมาจัดจำหน่ายให้แก่ธุรกิจและบุคคลทั่วไป พบกับมิติใหม่ของมหกรรมรับสมัครงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Job Fair) เปิดโอกาสอันดีสำหรับการสมัครงานแบบไร้ข้อจำกัดกับองค์กรที่มีคุณภาพ หน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชนชั้นนำที่จะเปิดบูธรับสมัครงานรวมกว่า 10 ราย และพบกับหัวข้อสัมมนาเพื่ออัปเดตแนวโน้มตลาดแรงงานด้าน Cybersecurity ของไทย ไขข้อข้องใจว่าสายงานด้านไหนที่กำลังขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งนักศึกษาที่จบใหม่และผู้ที่มีประสบการณ์ใบรับรอง และทักษะสำคัญใดที่ควรมีเพื่อให้เป็นที่สนใจของเหล่า HR รวมถึงร่วมฟังการเสวนาและแชร์ประสบการณ์กับเหล่าบริษัทไอทีชั้นนำ และสถาบันฝึกอบรมและออกใบรับรองระดับโลก กิจกรรมสำคัญที่ไม่ควรพลาด Live Hacking Demo: แอปดูดเงิน VS เจาะระบบองค์กรขนาดใหญ่ ชม Live Hacking Demo: ลองเป็นเหยื่อแอปดูดเงินเพื่อถอดรหัสโจร และ “เจาะช่องโหว่ระบบ Active Directory ขององค์กรขนาดใหญ่”สัมผัสประสบการณ์พร้อมเรียนรู้พื้นฐานการเจาะระบบและการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัย (Ethical Hacking & Security) เบื้องต้น จากหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญอันดับต้นๆ ของไทย เปิดโอกาสสำหรับก้าวแรกสู่สายOffensive Security และร่วมสนุกในเกมการแข่งขันทำโจทย์ตะลุยด่านด้าน Cybersecurity ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท พร้อมรับประกาศนียบัตรจาก สกมช. แลเปิดเวทีให้บริษัทสตาร์ตอัปและสถาบันการศึกษานำผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์มานำเสนอโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย ซึ่งทุกหน่วยจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงส่งเสริมการสร้างความตระหนัก รู้ ตื่นตัว เห็นความสำคัญในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพิ่มขีดความสามารถให้กับทุกภาคส่วนในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามไซเบอร์ และส่งเสริมผู้ประกอบการในการแข่งขันและสร้างโอกาสในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านการรักษาความั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อีกด้วย


กฤษณา เขมากรณ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย M-Solutions Technology (Thailand) Co., Ltd. กล่าวว่า บริษัท M.TECH มาพร้อมกับแนวคิด SecureTogether StrongerTogether will Secure Everything ซึ่งในงานนี้บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีการป้องกัน และรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ชั้นนำ มาจัดแสดง ซึ่งภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะทำงาน เรารวบรวมเทคโนโลยีของผู้นำ CyberSecurity Vendor พร้อมทั้งบูรณาการสร้าสถาปัตยกรรมให้เทคโนโลยีทำงานประสานกัน เพื่อให้สามารถตรวจพบและตอบสนองต่อภัยไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที

ตัวแทน บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ  5G และ AI ได้ส่งผลให้โลกไซเบอร์มีความซับซ้อนมากขึ้น และทำให้เกิดภัยทางไซเบอร์ใหม่ ๆ ในหลายรูปแบบ ซึ่งบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญในการส่งเสริมบุคลากรด้าน ICT ในไทย และมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทักษะบุคลากรให้กลายเป็นขุมพลังสำคัญด้านบุคลากรไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของประเทศ จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ผ่านโครงการฝึกอบรมที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนทางไซเบอร์ในตลาดแรงงานไทย และขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคอัจฉริยะที่ทุกคนมีบทบาทและเชื่อมถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ


พลอากาศตรี อมร กล่าวเพิ่มเติมในช่วงสัมภาษณ์กับสื่อมวลชนและ Adslthailand ต่อด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เตรียมสร้างการตระหนัก รับรู้ สร้างความเข้าใจ เรื่อง Cybersecurity โดยจัดงาน "Thailand National Cyber Week 2023" ในวันที่ 17 - 18 กุมภาพันธ์ 2023 เวลา 10:00 – 17:00 น. ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมรู้เท่าทันเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ตระหนักถึงภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ปัจจุบันความรุนแรงของภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับเซิร์ฟเวอร์ ระบบหลัก Ransomware เป็นภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุด มีการเข้ารหัสไฟล์ทำให้ระบบเสียหาย ใช้งานไม่ได้ ผิดทั้งเรื่องภัยไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และปัญหาภัยคุกคามที่เกิดกับประชาชน ถูกหลอกทำให้เสียเงิน โดยจะต้องแก้ปัญหาความมั่นคงทั้งตัวระบบ เรื่องการติดต่อสื่อสาร การให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และระบบต้องพร้อมรับมือภัยคุกคามด้วย

สิ่งที่อยากให้ทุกคนตระหนักคือ การถูกแฮก หรือ แอปดูดเงิน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ถ้าเราพลาดครั้งเดียว ก็ถูกควบคุมเครื่อง ถูกดูดข้อมูลไปได้ ก่อนหน้านี้อาจจะได้ยินข่าว แต่ยังไม่เท่าได้เห็น งานนี้จะได้เห็นการสาธิตให้ดู จะได้เกิดความระมัดระวังและตื่นตัวกันมากขึ้น”

ในงานจะมีการให้ความรู้จากหน่วยงานต่างๆ ที่มาให้ความรู้บนเวที พูดคุย สาธิตการแฮก การป้องกัน รวมไปถึง Cyber Job Fair ที่จับคู่คนทำงาน และสตาร์ทอัปด้าน Cybersecurity มีตั้งแต่นักศึกษามหาวิทยาลัยมาเสนอผลงานให้กับบริษัทต่างๆ มีทุกเพศทุกวัย สร้างโอกาสร่วมกัน เนื่องจากปัจจุบันเราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศเยอะ แต่คนไทยมีความสามารถ มีเวที มีการพบปะกัน สร้างงาน สร้างเสริมอุตสาหกรรมในประเทศให้แข็งแกร่งได้
 

 
คำแนะนำ คือ หากเราสงสัยว่าถูกคุกคามจากภัยไซเบอร์ หรือแอปดูดเงิน แนะนำให้สังเกตสิ่งผิดปกติ แล้วรีบแจ้งธนาคารให้เร็วที่สุด ถ้ายิ่งแจ้งเร็วเท่าไหรยิ่งดี พอรู้ตัวว่าโดน จะต้องรีบอายัดและระงับทั้ง Mobile Banking และเดินทางไปธนาคาร ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการที่ทำให้ขั้นตอนรวดเร็วขึ้น จากเมื่อก่อนที่จะต้องไปหาตำรวจ แล้วถึงไปหาธนาคาร มีขั้นตอนที่ดำเนินการได้รวดเร็ว เพราะถ้าช้าก็ยิ่งสูญเสียมากขึ้น
 
ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกของการจัดงาน Thailand National Cyber Week 2023 ตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าชมงาน On-site ประมาณ 5,000 คน วันละ 2,500 คน และมีผู้ชมออนไลน์ประมาณ 5,000 คน โดยวางแผนไว้ว่า ผู้เข้าชมเป็นหน่วยงานภาครัฐ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 66 และ ประชาชน คนทั่วไป วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 มีกิจกรรมดึงดูดคนทุกกลุ่ม ในงานมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 80 หน่วยงาน งานนี้แตกต่างจากการพบปะระหว่างบริษัทและลูกค้า จากที่เปิดสไลด์นำเสนอทั่วไป เป็นการสาธิตจากผู้เชี่ยวชาญ และในงานมีผู้เชี่ยวชาญ CSA สิงคโปร์ Cyber Security Agency of Singapore มาร่วมงานด้วย ในงานนี้ส่วนใหญ่จะเน้นคนไทยได้พบปะกัน ในต่างประเทศเป็น Internation Cyber Week มีต่างชาติเข้าร่วม
 
“แทนที่จะสร้างอะไรใหม่ เราพยายามปรับจากโครงสร้างพื้นฐานเดิม ปัจจุบันภัยจากปัญหาไซเบอร์กระทบกับประชาชนมากกว่าภัยในรูปแบบอื่น ทุกครั้งที่มีการอบรมก็จะเข้าร่วมด้วย ต่อไปจะมีโรดโชว์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ในภูมิภาค 9 จังหวัด ประมาณภูมิภาคละ 1 เดือน นอกจากนี้ยังมีการสอบ Cert ในระบบ e-learning เอาข้อสอบที่เหมาะสมมาให้ทดสอบ กับ Cert สากลที่หน่วยงานภายนอกออกให้ พยายามผลักดันให้เป็นสากล และช่วยเรื่องการลงทุนสอบ Cert”

สำหรับประเด็นเว็บไซต์ภาครัฐกลายเป็นที่ฝากเว็บพนัน เริ่มมาตั้งแต่ 20 ธันวาคม 2565 โดยเริ่มมีการจัดการเว็บโดนแฮคที่ฝังเว็บพนัน ค้นหาพบ 34 ล้านรายการ จากการค้นหาเจอบน Google มีการจัดการโดเมนเนม ยอดอยู่ที่ 2 ล้านรายการ จาก 34 ล้านรายการ ช่วงแรกภัยไซเบอร์เน้นเจาะที่เว็บไซต์กระทรวง ภาครัฐ แต่หลังๆ เว็บไซต์ที่ถูกโจมตีเป็นของกระทรวงศึกษา หรือ อว. เป็นโดเมน .ac.th และเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข เพราะมีเว็บไซต์โรงพยาบาลเยอะมาก เมื่อ 10 ปีก่อนมีข้อกำหนดว่าโรงพยาบาลต้องมีเว็บไซต์ แต่เรื่องความเข้าใจเรื่อง Cyber Security น้อย ต้องดูแลความปลอดภัยของเว็บไซต์ จัดการเรื่องเว็บไซต์ มีระบบส่วนกลางเข้ามาช่วยเว็บมาสเตอร์ ซึ่งแต่ละที่มีงบจำกัด การมีแพล็ตฟอร์มกลางช่วยได้ เพราะ อบต. อบจ. ไม่พร้อม แม้ล่าสุดจะมีเว็บไซต์ที่มีการปิดเว็บพนันไปเยอะ แต่ก็ยังมีมากอยู่ มีการผลักดันให้มีเว็บกลางเข้ามาช่วยดูแลเว็บไซต์ต่างๆ ให้ปลอดภัย

 

“ขณะนี้มีเว็บพนันที่ถูกฝังในเว็บไซต์ของภาครัฐเยอะมาก มีการจัดการปิดกั้นเว็บไซต์ไปบ้าง ซึ่งตำรวจพยายามผลักดัน จากสถิติ เป็นหลักหมื่น ปิดกั้นไม่ให้เปิดเว็บได้ในไทย ถ้าใช้ ISP ไทยจะเข้าไปเว็บพนันไม่ได้ แต่หากเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ การพนันถูกกฎหมาย ในบางประเทศกฎหมายไม่ได้ผิด และเป็นชื่อเว็บไซต์ที่ใช้จดทะเบียนคาสิโนออนไลน์ ก็เลยไม่ผิด จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ปิดกั้นได้เฉพาะในประเทศ เพราะต่างประเทศไม่ผิดกฎหมาย กฎหมายเว็บพนันแต่ในประเทศไม่เหมือนกัน แต่ถ้าปิด คนเข้าไม่ได้ก็เลยต้องเปิดใหม่ ก็หาทางโฆษณาต่อไปอีก ที่เห็นบ่อยมากคือ 3KING เว็บพนันออนไลน์ ส่วนเจ้าใหญ่ที่เป็นข่าวดัง Macau888 อาจจะต้องถามทางตำรวจถึงจะทราบความคืบหน้า ฝากภาครัฐและหน่วยงาน เนื่องจากมีเซิร์ฟเวอร์หลายประเทศ แต่ศาลก็เข้าใจเรื่องนี้ดี ซึ่งหน่วยงานที่รับคือ กระทรวง ดีอี และ ปอท. ในส่วนของเว็บพนันต้องมีหมายศาล มีหลักฐานยืนยันเพื่อให้ปิดกั้นเว็บได้ เรื่องการปิดกั้นเว็บ อาจจะมีการฟ้องเรื่องสิทธิเสรีภาพ เนื่องจากเคยมีประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ศาลก็ต้องดูตามหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเป็นไปตามกฎหมาย


ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ NCSA Thailand National Cyber Week 2023 17 - 18 กุมภาพันธ์ ณ สามย่านมิตรทาวน์ www.thncw.com หรือ Facebook THNCW