25 พ.ย. 2565 364 0

หัวเว่ยมุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เชื่อมต่อสู่ยุคดิจิทัล

หัวเว่ยมุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เชื่อมต่อสู่ยุคดิจิทัล

หัวเว่ยร่วมลงนามในพันธสัญญาระดับโลกเพื่อเข้าร่วมพันธมิตรกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ในความร่วมมือด้านดิจิทัล Partner2Connect ซึ่งจะนำการเชื่อมต่อไปสู่ผู้คนประมาณ 120 ล้านคนในพื้นที่ห่างไกลในกว่า 80 ประเทศภายในปี พ.ศ. 2568

ดร.เหลียง หัว ประธานคณะกรรมการ บริษัทหัวเว่ย ประกาศการตัดสินใจของบริษัทในการประชุมด้านความยั่งยืน ประจำปี พ.ศ. 2565 ในหัวข้อ “การเชื่อมต่อขั้นสูง สร้างนวัตกรรมที่เกิดแรงขับเคลื่อน (Connectivity+: Innovate for Impact)” โดยการประชุมเสวนาดังกล่าวได้มีการแลกเปลี่ยนและสํารวจถึงความสามารถของนวัตกรรมไอซีทีในการเพิ่มคุณค่าด้านการเชื่อมต่อทางธุรกิจและสังคม ตลอดจนการขับเคลื่อนความยั่งยืนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

จากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ให้บริการจากทั่วโลก หัวเว่ยได้สร้างเครือข่ายมากกว่า 1,500 เครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนกว่าสามพันล้านคนในกว่า 170 ประเทศและภูมิภาค ในส่วนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปัจจุบัน หัวเว่ย ได้ให้บริการการเชื่อมต่อแก่ผู้คนเกือบ 1.1 พันล้านคนและที่อยู่อาศัยกว่า 293 ล้านหลังใน 20 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีนและอินเดีย) หัวเว่ยรักษามาตรฐานการทำงานที่มั่นคงในด้านการรักษาความปลอดภัยได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 หัวเว่ยมีสถานีฐานมากกว่า 300,000 แห่งในภูมิภาค ส่งผลให้ปัจจุบันมีเครือข่าย 4G ครอบคลุมถึง 97% ของประชากรทั้งหมด และอัตราความเร็วในการดาวน์โหลดอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่เกิน 110 Mbit/s ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นกว่า 17% จากปีที่แล้ว

การสร้างเครือข่ายบรอดแบนด์แบบใยแก้วนำแสงเป็นวิธีการที่สำคัญอีกวิธีหนึ่งเพื่อทำให้บริการเป็นสากล ทั้งนี้ หัวเว่ย ได้นำเสนอโซลูชัน AirPON ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรต่ำและพื้นที่ห่างไกล โซลูชันดังกล่าวจะช่วยลดการใช้ห้องอุปกรณ์ ลดต้นทุนการติดตั้งใยแก้วนำแสง และการใช้พลังงานของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็รับประกันความรวดเร็วในการติดตั้งเครือข่ายการสื่อสารในพื้นที่

สำหรับในประเทศไทย หัวเว่ยให้การสนับสนุนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดําเนินโครงการ USO NET ใช้โซลูชัน AirPON เชื่อมต่อพื้นที่ในชนบทที่ยังขาดการเชื่อมต่อเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมไทย อาทิ บนพื้นที่ภูเขาในจังหวัดเชียงใหม่ของประเทศไทยที่มีถนนบนภูเขาความยาว 60 กิโลเมตร และเส้นทางดังกล่าวเป็นถนนบนภูเขาที่พื้นผิวขรุขระ เนื่องจากภูมิประเทศที่สูงชันและขาดการระบายน้ำ ตัวหมู่บ้านยังกระจัดกระจายเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ หลายแห่ง ด้วยเหตุนี้โซลูชันไฟเบอร์มีสายแบบดั้งเดิมจึงมีราคาแพงเกินไป และใช้พลังงานมาก รวมถึงต้องหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับสิ่งอุปกรณ์ทั้งหมด เช่นห้องอุปกรณ์ขนาดใหญ่และใช้สายเคเบิลไฟเบอร์หลายกิโลเมตร ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกต่อผู้อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก ดังนั้น โซลูชัน AirPON ของหัวเว่ยจึงเข้ามาตอบโจทย์ให้กับคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากนําเสาและสายเคเบิลที่มีอยู่มาใช้ใหม่ โดยมีห้องอุปกรณ์ติดตั้งอยู่บนเสา ส่งผลให้การจัดเตรียมบริการมีความรวดเร็วมากขึ้น และบริการสื่อสารสามารถพร้อมใช้งานได้ในราคาไม่แพงและคุ้มค่าสําหรับผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่น

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 โครงการ USO NET ได้ส่งมอบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้แก่หมู่บ้านกว่า 19,562 แห่ง ซึ่งคิดเป็นหมู่บ้านในเขตชายแดนกว่า 3,920 แห่ง ทำให้ครัวเรือนกว่า 607,966 แห่งสามารถเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ความเร็วสูงได้แล้ว นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวแล้ว หัวเว่ยยังให้การฝึกอบรมด้านทักษะดิจิทัลให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านทักษะดิจิทัลระหว่างเขตเมืองและพื้นที่ห่างไกลอีก

มัลคอล์ม จอห์นสัน รองเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำทั่วโลกว่า “การลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบทกลายเป็นวาระที่ทุกฝ่ายทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ นำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่เกิดการพัฒนาด้วยความสมดุล จากสถิติของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) พบว่า เมื่อปี พ.ศ. 2565 สิ้นสุดลง กว่าร้อยละ 95 ของประชากรโลกจะสามารถเข้าถึงบริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่จะมีเพียง 1 ใน 3 คนเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ ขณะที่ประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำ สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพียงร้อยละ 22 เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรในประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ถึงร้อยละ 91 ด้วยเหตุนี้การเชื่อมต่อแบบดิจิทัล (Digital Connectivity) จึงจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสังคมและระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามบริการการเชื่อมต่อที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงต้องสามารถเข้าถึงบริการด้วยราคาที่จับต้องได้ รวมถึงได้รับประโยชน์จากคอนเทนต์ต่าง ๆ ด้วยภาษาท้องถิ่นนั้น ๆ สิ่งสำคัญคือผู้ใช้จะต้องมีทักษะเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการการเชื่อมต่อได้อย่างเต็มที่”

มัลคอล์ม ได้กล่าวเพิ่มเติม “ขอขอบคุณหัวเว่ยสำหรับการสนับสนุนในโครงการผสานความร่วมมือพันธมิตรดิจิทัล Partner2Connect (P2C) และสำหรับการประกาศคำมั่นสัญญาที่มีต่อโครงการ Partner2Connect (P2C) และดำเนินงานให้เกิดขึ้น ในการสร้างการเชื่อมต่อให้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลในชนบทและการสร้างทักษะดิจิทัลให้กับคนในท้องถิ่น ผมได้แวะเข้าไปในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทยซึ่งเพิ่งจะได้รับการเชื่อมต่อกับเครือข่ายบรอดแบนด์จากโครงการภาครัฐ ตอนนี้หมู่บ้านนั้นสามารถขายงานฝีมือผ่านออนไลน์และทำกำไรได้เพิ่มขึ้นถึง 300% กำไรดังกล่าวได้นำมาใช้เชื่อมต่อโรงเรียนในหมู่บ้านและมอบคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปให้แก่เด็กนักเรียน นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการเชื่อมต่อสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นได้ ซึ่งเราเรียกมันว่าการเชื่อมต่ออย่างมีความหมาย”


คำมั่นสัญญาของหัวเว่ยที่มีต่อโครงการ Partner2Connect (P2C) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ

จากการกล่าวสุนทรพจน์ในครั้งนี้ ดร. เหลียงเน้นย้ำว่าการเข้าถึงเครือข่ายที่มีเสถียรภาพ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยและสิทธิพื้นฐานในยุคดิจิล และการเข้าถึงเครือข่ายการเชื่อมต่อที่ได้มาตรฐาน จะถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญ สู่การเปลี่ยนชีวิตของประชากรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

“การเชื่อมต่อจะกลายเป็นมากกว่าเครื่องมือที่ช่วยทำให้การติดต่อสื่อสารมีความสะดวกยิ่งขึ้น” ดร. เหลียงกล่าว “ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างคลาวด์ และ AI การเชื่อมต่อจะนำทุกคนเข้าสู่โลกดิจิทัล โดยเข้าถึงข้อมูลและทักษะต่าง ๆ รวมถึงบริการที่ดีกว่าเดิม โอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย และในภาพใหญ่จะช่วยพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจได้ในที่สุด”

การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล บุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัล และโมเดลทางธุรกิจต่าง ๆ ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาอย่างมีความสมดุลให้ครอบคลุมบริเวณพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในประเทศ โดยก่อนหน้านี้หัวเว่ยได้ประกาศว่า ภายในปีพ.ศ. 2568 ด้วยโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีที่ได้รับการยกระดับด้านคุณภาพ หัวเว่ยจะเดินหน้าจับมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างการเข้าถึงด้านบริการทางการเงินบนแพลตฟอร์มดิจิทัลให้กับประชากรกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก และเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับประชากรกว่า 500,000 คน สำหรับประเทศไทย หัวเว่ยได้เปิดตัว Huawei ASEAN Academy ในปีพ.ศ. 2563 ซึ่งสามารถผลิตบุคลากรไอซีทีได้กว่า 60,000 คนและสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้กว่า 3,000 ราย

หัวเว่ยมุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมด้วยการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่หัวเว่ยพัฒนาอย่างต่อเนื่องนำไปสู่การยกระดับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล ทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์และความสะดวกจากการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล นอกจากนั้นหัวเว่ยยังสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโดยทัดเทียม บนพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลกอีกด้วย