30 เม.ย. 2565 1,117 2

ดีอีเอส ร่วมกับ ดีป้า ลงพื้นที่ จ.สิงห์บุรี ติดตามการดำเนินงานพัฒนาทักษะ Coding, STEM, IoT และ AI แก่เยาวชน

ดีอีเอส ร่วมกับ ดีป้า ลงพื้นที่ จ.สิงห์บุรี ติดตามการดำเนินงานพัฒนาทักษะ Coding, STEM, IoT และ AI แก่เยาวชน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งให้แก่เยาวชน ณ โรงเรียนสิงหพาหุ “ประสานมิตรอุปถัมภ์” ด้าน ดีป้า พร้อมสานต่อการส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลด้าน Coding, STEM, IoT และ AI และการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการเรียนรู้ เพื่อยกระดับเยาวชนสู่บุคลากรดิจิทัลของประเทศ

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย เนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลฯ เอกสิทธิ์ คุณานันทกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ และ ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งให้แก่เยาวชน ณ โรงเรียนสิงหพาหุ “ประสานมิตรอุปถัมภ์” โดยมี ชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ว่าที่ร้อยตรี ชาญชัย กาศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสิงหพาหุ “ประสานมิตรอุปถัมภ์” และคณะผู้บริหารจากหน่วยงานในพื้นที่ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้แทนจากโรงเรียนต่างๆ ในโครงการ Coding Thailand ร่วมกิจกรรมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์



จากนั้นคณะได้เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 การสาธิตการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งผ่านสื่อ Interactive Learning โดย บริษัท แบร์สเปซ จำกัด ดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่ ดีป้า ให้การสนับสนุน และ Digital Bus เทคโชว์เคสจาก บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

ชัยวุฒิ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่เยาวชนให้มีความพร้อมรองรับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม Learning Skill, Literacy Skill ตลอดจน Life Skill เพื่อให้เยาวชนไทยมีทักษะพื้นฐานในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และนำไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง สามารถเรียนรู้ ค้นคว้า และต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมได้

“วันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้เห็นความก้าวหน้าของการดำเนินงานพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้ง รวมถึงทักษะดิจิทัลสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 แก่เยาวชนไทยโดยการผลักดันของ ดีป้า ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนไทยก่อนก้าวสู่การเป็นบุคลากรดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว



ขณะที่ ดร.รัฐศาสตร์ กล่าวว่า การดำเนินงานพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งให้แก่เยาวชนมีขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้โครงการ Coding Thailand แพลตฟอร์มออนไลน์ระดับประเทศ (CodingThailand.org) ที่ได้รับการพัฒนาโดย ดีป้า และ Code.org พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน อาทิ Microsoft, Google ฯลฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับทักษะกำลังคนดิจิทัลผ่านการสร้างเสริมศักยภาพเยาวชนไทยสู่การเป็นผู้มีทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านโครงการต่างๆ

พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังได้ส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่เยาวชนและบุคลากรครูอย่างต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาทักษะ Coding, STEM, IoT และ AI แก่โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และประสานความร่วมมือกับพันธมิตรภาคเอกชน อาทิ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย)    เอไอเอ ประเทศไทย บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ในการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศรวม 99 โรงเรียนในปัจจุบัน




“ระหว่างปี 2561-2564 ดีป้า สามารถสร้างการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์ม Coding Thailand กว่า 1.5 ล้านคน พัฒนาบุคลากรครูมากกว่า 4,800 คน เยาวชนกว่า 3.87 แสนคน ส่งเสริมให้โรงเรียนเข้าถึงและสามารถยกระดับการเรียนการสอนเกี่ยวกับโค้ดดิ้งกว่า 2,700 แห่งทั่วประเทศ โดยปีนี้ ดีป้า ตั้งเป้าส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลด้าน Coding, STEM, IoT และ AI และสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนรู้ทักษะดังกล่าว เพื่อต่อยอดการพัฒนาศักยภาพโรงเรียนในเครือข่ายอีกกว่า 80 โรงเรียนทั่วประเทศ และต่อยอดการพัฒนาทักษะครูผ่านโครงการ depa Teacher Boot Camp: Season 2 รวมถึงพัฒนาทักษะเยาวชนกับโครงการ Coding in Your Area: Season 2 ที่มุ่งเสริมทักษะโค้ดดิ้งแก่เยาวชน จำนวน 10,000 คนทั่วประเทศให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในโลกเมตาเวิร์ส” รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

นอกจากนี้ คณะยังได้ลงพื้นที่ชุมชนในจังหวัดสิงห์บุรี เพื่อเยี่ยมชมความก้าวหน้าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตรในโครงการเห็ดชุมชนอัจฉริยะ โดยวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพชีวิตสิงห์บุรี อำเภอท่าช้าง ที่มีการนำเทคโนโลยี IoT และ Smart Farm มาใช้ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิในโรงเพาะเห็ด รวมถึงโครงการโดรนอัจฉริยะ โดยศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองยาว ในอำเภอพรหมบุรี ที่นำโดรนเพื่อการเกษตรมาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือเกษตรกรในการทำนาข้าว ซึ่งทั้ง 2 โครงการได้รับการส่งเสริมผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท จาก ดีป้า