26 มี.ค. 2565 732 0

สกสว. จับมือภาคีจัดงานมหกรรม “TRIUP Fair 2022” ครั้งแรกของไทย ตอกย้ำคุณค่า พ.ร.บ. ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมฉบับใหม่ ปลดล็อกความเป็นเจ้าของ ให้ต่อยอด และใช้งานได้จริง

สกสว. จับมือภาคีจัดงานมหกรรม “TRIUP Fair 2022” ครั้งแรกของไทย ตอกย้ำคุณค่า พ.ร.บ. ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมฉบับใหม่ ปลดล็อกความเป็นเจ้าของ ให้ต่อยอด และใช้งานได้จริง

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุน พร้อมด้วยหน่วยงานร่วมจัด รวม  17 หน่วยงาน แถลงถึงความพร้อมในการจัดงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย TRIUP Fair 2022” ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรกของประเทศไทย กับกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ที่จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกความเป็นเจ้าของและผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดการต่อยอด และการใช้งานได้จริง เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดในทุกๆ ด้าน โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2565 เวลา 10.00 - 18.00 น. ณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์



ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า “ประเทศของเรากำลังเข้าสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม แต่ยังพบอุปสรรคและเป็นปัญหามานานนับ 10 ปี ที่ทำให้ผลงานวิจัยไม่ได้รับการต่อยอดและนำไปใช้ได้จริง ดังนั้นการมี พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 จะช่วยปลดล็อกความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากงบประมาณสนับสนุนของภาครัฐจนเป็นผลสำเร็จ โดยรัฐที่มีหน้าที่ในการให้ทุนสนับสนุน ผู้รับทุนหรือนักวิจัยมีสิทธิเป็นเจ้าของผลงาน กำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนความเป็นเจ้าของผลงาน ส่วนผู้ที่ต้องการนำงานวิจัยไปใช้ ต้องเสนอเงื่อนไขการนำไปใช้และค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของผลงาน เจ้าของผลงานต้องบริหารและสร้างประโยชน์จริงจากผลงาน และต้องรายงานให้ผู้ให้ทุนทราบ และภาครัฐอาจจะดึงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จำเป็นมาใช้ประโยชน์ได้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่ง พ.ร.บ.นี้จะทำให้งานวิจัยถูกนำไปใช้ได้ง่ายมากขึ้น นำไปสู่การเสริมสร้าง เพิ่มขีดความสามารถพัฒนาให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี ตลอดจนภาคการผลิต ทำให้เศรศฐกิจของประเทศเติบโตและประชากรมีรายได้สูงขึ้น” 


รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า “ไฮไลท์สำคัญในงานได้แก่ พิธีมอบรางวัล Prime Minister's TRIUP Awards for Research Utilization with High Impact หรือรางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูงประจำปี 2565 ที่คัดสรรมาจากจำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวด 119 โครงการ เพื่อยกย่องและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย จนสามารถสร้างผลกระทบสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 รางวัล จาก 2 สาขา โดยผู้ได้รับรางวัลจะได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินสดมูลค่า 5 แสนบาท และยังมีรางวัลดีเด่น สาขาละ 2 รางวัล รวมเงินรางวัลทั้งสิ้นมูลค่า 1,400,000 บาท 

อีกทั้งยังมีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สกสว.และหน่วยงานพันธมิตร 6 หน่วยงานสำคัญในประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบและกลไกการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงพื้นที่ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานในการวิจัยและการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ และยังมีพิธีลงนามความร่วมมือ เรื่อง “Smart city for digital healthcare, security, and safety” กับ NAVER CLOUD CO., LTD. REPUBLIC OF KOREA” โดยมีเป้าหมายเพื่อตอกย้ำว่างานวิจัยของไทยไม่ด้อยไปกว่าชาติอื่น และทุกหน่วยงานภาคีแสดงความพร้อมสนับสนุนและเห็นคุณค่าของงานวิจัยไทยอย่างยิ่ง


ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงเรื่องส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ภายในงานจึงจัดกิจกรรมที่หลากหลายและเหมาะสมกับความต้องการของผู้ร่วมงาน ประกอบด้วย 1) โซนแนะนำ TRIUP Act และกลไกส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัย 2) โซนตลาดทรัพย์สินทางปัญญา ที่พร้อมเจรจาเพื่อขออนุญาตใช้สิทธิ  3) โซนคลินิกให้คำปรึกษาทรัพย์สินทางปัญญาและกฎระเบียบ 4) โซนนโยบายส่งเสริม ววน. 5) โซนแผน ววน. และโปรแกรมการให้ทุน สำหรับผู้สนใจเรื่องแผนและงบประมาณหรือทุนสนับสนุน 6) โซนร้านค้านวัตกรรม สำหรับประชาชนทั่วไปได้เห็นตัวอย่างของนวัตกรรมจากการวิจัยที่ออกสู่ตลาดแล้ว 7) โซนแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม สะท้อนว่าเราจะก้าวตามทันประเทศอื่นด้านงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยแบ่งธีมจัดแสดงผลงานออกเป็น 5 ธีม ได้แก่ ผลงานเด่นทางการแพทย์ อย่าง N95 Mask, ชุดตรวจหาแอนติเจน, นวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจนบวก – ลบ และตรวจยีน “มะเร็งเต้านม” เป็นต้น ธีม AI เช่น แพลตฟอร์มรักษาความปลอดภัยของเมือง ธีมอาหารมูลค่าสูง เช่น การสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมด้านสารให้กลิ่นรสในประเทศไทย ธีมเศรษฐกิจฐานราก เช่น น้ำเพื่อการเกษตร...ด้วยระบบน้ำหยดสำหรับมันสำปะหลังและอ้อย และธีมสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบวินิจฉัยและเครื่องมือประเมินการทำงานของโรงงานผลิตความเย็นสำหรับระบบปรับอากาศในเมืองอัจฉริยะ 

และยังมี 8) โซนสินเชื่อเพื่อนวัตกรรม 9) โซนเทรนนิ่ง 10) โซนเจรจาธุรกิจ รวมไปถึง 11) โซนเวทีกลาง ที่มีการเสวนาหัวข้อต่างๆ ในหลากหลายมุมโดยวิทยากรมากความรู้ความสามารถกว่า 20 ท่าน ใน 7 เวที อาทิ เสวนา “Journey to Commercialization : การปลดล็อคการใช้ประโยชน์งานวิจัย สู่ตลาด” ตลอดจนเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงที่ประสบความสำเร็จ กรณีของการวิจัยสู่ละครโทรทัศน์ อย่าง ละครเจ้าพระยาสู่อิระวดี และการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่แสดงศักยภาพของนักวิจัยไทยซึ่งเป็นเรื่องใหม่และเป็นโชว์เคส ประสบการณ์งานวิจัยที่ทุกคนสนใจเป็นอย่างมาก

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย TRIUP Fair 2022” ตั้งแต่วันที่ 4-6 เมษายน 2565 เวลา 10.00-18.00 น. ณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์